ปิดฉาก ‘คดีตากใบ’ - ‘สีส้ม’ รุกปลายด้ามขวาน’

ปิดฉาก ‘คดีตากใบ’ - ‘สีส้ม’ รุกปลายด้ามขวาน’

"...เชื่อเหลือเกินว่าหลังจากนี้ “พรรคส้ม” คงไม่ปล่อยให้ “คดีตากใบ” จบลงไปอย่างเงียบ ๆ แต่น่าจะมีการออกแอ็คชั่นระลอกถัดไปตามมา เพื่อคงอุณหภูมิคนในพื้นที่เอาไว้ อุ่นเครื่องก่อนเข้าสู่โหมดการเลือกตั้งครั้งถัดไป..."

KEY

POINTS

  • ปิดฉากรูดม่านลงไปสำหรับ “คดีตากใบ” ที่ไม่สามารถเอา “จำเลย” มาดำเนินคดีได้
  • เหตุเกิดจาก “รัฐบาลทักษิณ” เยียวยายุค “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” หมดอายุความยุค “รัฐบาลแพทองธาร”
  • กลายเป็น “จุดด่างพร้อย” สำคัญในกระบวนการยุติธรรมไทย แม้แต่ “UN” ยังกังวล
  • แต่อีกมุมคือการเปิดฉาก “ชิงคะแนน” ของ “ปชน.” จากพื้นที่ “ปลายด้ามขวาน”
  • หลังการเลือกตั้ง 66 ได้คะแนนปาร์ตี้ลิสต์ 3 จังหวัดกว่า 2.3 แสนเสียง ได้ที่ 2 ทุกเขต
  • จับตาเลือกตั้งครั้งหน้าตั้งเป้า “รัฐบาลพรรคเดียว” จะได้ใจประชาชนปลายด้ามขวานเพิ่มหรือไม่

คดีตากใบ” กลายเป็นอีกหนึ่งจุดด่างพร้อยในหน้าประวัติศาสตร์ “รัฐไทย” หลังจากไม่สามารถนำตัว “จำเลย-ผู้ต้องหา” ที่เป็น “ระดับนำ” ของ “กองทัพ-เจ้าหน้าที่รัฐ” ในอดีตเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้ โดยเมื่อล่วงเข้าสู่ 26 ต.ค.ที่ผ่านมาคดีดังกล่าว “หมดอายุความ” ลงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

สำหรับ “คดีตากใบ” คือเหตุการณ์สลายการชุมนุมมวลชน และการขนย้ายกลุ่มผู้ชุมนุมขึ้นรถ เมื่อ 25 ต.ค. 2547 ซึ่งมีการ “ซ้อนทับ” คนเป็นชั้น ๆ บนรถเพื่อนำตัวไปค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี ส่งผลให้มีผู้ขาดอากาศหายใจ จนได้รับบาดเจ็บสาหัส และเสียชีวิต 85 คน ในจำนวนนี้มี 78 คนเสียชีวิตระหว่างการขนย้าย

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อสมัย “ทักษิณ ชินวัตร” เป็นนายกรัฐมนตรี “จ่ายเงินเยียวยา” แก่ประชาชน และญาติเหยื่อผู้เสียชีวิต และได้รับบาดเจ็บในรุ่นน้องคือ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” เป็นนายกฯ จน “คดีหมดอายุความ” ในรุ่นลูกคือ “แพทองธาร ชินวัตร” เป็นนายกฯ

แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีความพยายาม “รื้อฟื้น” คดีดังกล่าวออกมาหลายครั้ง หลายรัฐบาล แต่ความพยายามรื้อฟื้นครั้งล่าสุด เกิดขึ้นในช่วง “รัฐบาลแพทองธาร” นำโดย “รอมฎอน ปันจอร์” สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) ที่แถลงข่าว และไปร่วมสังเกตการณ์ที่ศาลหลายครั้ง แต่ก็ดูเหมือนจะไม่เป็นผล ขณะที่พรรคประชาชน แสดงความพยายามครั้งสุดท้ายในวันที่ 25 ต.ค.ซึ่งเป็นวันสุดท้ายก่อนคดีหมดอายุความ ตั้งญัตติด่วนด้วยวาจาถึงคดีนี้ และการฟื้นฟูความชอบธรรมของรัฐและการแก้ไขความไม่สงบ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อเสนอข้อเสนอแนะไปยังรัฐบาล แต่ก็เป็นได้แค่การพูดในสภาฯเท่านั้น ไม่เกิดผลอะไรเป็นรูปธรรม

เนื่องจากจำเลยคนสำคัญในคดีนี้อย่าง “พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี” อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 ที่เป็น สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (ขณะนั้น ปัจจุบันได้ลาออกจากสมาชิกพรรคเพื่อไทย ส่งผลให้พ้น สส.โดยอัตโนมัติ) อ้างว่า “ป่วย” จึงไม่เดินทางไปตามนัดที่อัยการนำตัวส่งฟ้องจำเลยรวม 7 คนแก่ศาลนราธิวาส ตั้งแต่ 23 ส.ค.ที่ผ่านมา ในข้อหาฆ่าผู้อื่น พยายามฆ่าผู้อื่น และร่วมกันกักขังหน่วงเหนี่ยว 

แม้ว่าศาลจะ “ออกหมายจับ” ตั้งแต่ 12 ก.ย. แต่ “พล.อ.พิศาล” ยังได้รับความคุ้มครองด้วยเอกสิทธิ์ สส.ตามรัฐธรรมนูญ ต่อมาในวันที่ 3 ต.ค. 2567 ศาลออกหมายจับ “พล.อ.พิศาล” อีกครั้ง แต่พบว่าเจ้าตัวได้ลาราชการไปประเทศอังกฤษ อ้างว่ารักษาอาการป่วย ขณะที่จำเลยคนอื่น ๆ อีก 6 คนก็หลบหนีหมายจับไม่มาขึ้นศาลเช่นเดียวกัน

แม้ว่าในช่วงโค้งสุดท้าย “รอมฎอน-พรรคประชาชน” จะพยายามชี้ให้เห็นว่าการปล่อยให้ “จำเลย” คดีนี้หลบหนีไป โดยที่รัฐบาลไม่ทำอะไรบางอย่าง จะส่งผลเสียหายอย่างร้ายแรง โดยเฉพาะกระบวนการยุติธรรมของไทยบนเวทีโลก แต่พรรคเพื่อไทยในช่วงแรก อ้างว่า เป็นเรื่องส่วนตัวของ “พล.อ.พิศาล” ไม่สามารถไปตามตัวมาให้ได้ แม้ต่อมาจะพยายาม “กลับลำ” เพราะถูกกระแสสังคมกดดันอย่างหนัก แต่ “พล.อ.พิศาล” ชิงลาออกจากสมาชิกพรรคไปแล้ว จึงทำอะไรไม่ได้อยู่ดี 

ส่วนฝ่ายรัฐบาล อ้างว่า ได้ให้หน่วยงานความมั่นคง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเรื่องนี้แล้ว แต่ก็ “คว้าน้ำเหลว” จนสุดท้าย “คดีตากใบ” ก็หมดอายุความลงในรัฐบาลชุดนี้ จนถูกองค์การสหประชาชาติ (UN) มีความกังวลกับคดีตากใบที่หมดอายุความ ขณะที่ “นายกฯอิ๊งค์” แสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ความพยายามรื้อฟื้นคดีนี้ของ “รอมฎอน-พรรคประชาชน” นัยหนึ่งคือเพื่อทวงคืนความยุติธรรมให้กับประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ เนื่องจาก “รอมฎอน” ก่อนที่จะเดินบนถนนการเมือง เขาเป็นคน จ.สตูล โดยกำเนิด แต่มาเรียนต่อที่ จ.ยะลา และ จ.ปัตตานี บทบาทที่ผ่านมาเขาเป็น “นักวิชาการ-นักเคลื่อนไหว-สื่อมวลชน” ที่ศึกษาปัญหา “ไฟใต้” มาโดยตลอด เคยเป็นอดีตบรรณาธิการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSW) เคยเป็นคณะทำงานวิชาการโครงการความร่วมมือ Projek Sama Sama 

โดยเขาเข้ามามีบทบาทภายใน “พรรคส้ม” เพื่อศึกษาปัญหาต่าง ๆ ของสถานการณ์ 3 จังหวัดชายแดนใต้ กระทั่งในปี 2566 เขาถูกส่งลงสมัครรับเลือกตั้ง สส.บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 20 ซึ่งถือว่าเป็นลำดับที่ “สูงมาก” สะท้อนถึงความเป็น “คีย์แมน” ภายในพรรคของเขาเป็นอย่างดี

หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้ “รอมฎอน-พรรคประชาชน” จำเป็นต้องออกมารื้อฟื้นคดีดังกล่าว นอกเหนือจากเรื่องทวงคืนความยุติธรรมให้แก่เหยื่อผู้เสียชีวิตแล้ว อีกประเด็นคือการสร้าง “ฐานเสียง” ของพรรคในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าในการเลือกตั้งปี 2566 พรรคก้าวไกล (ขณะนั้น) ไม่ได้รับ สส.จาก “ปลายด้ามขวาน” แม้แต่คนเดียว ทุกพื้นที่พ่ายให้กับ “พรรคประชาชาติ-พรรพลังประชารัฐ-พรรคภูมิใจไทย-พรรครวมไทยสร้างชาติ-พรรคประชาธิปัตย์” ทั้งหมด

แต่ประเด็นที่น่าสนใจ “พรรคก้าวไกล” กลับกวาดคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ รวม 3 จังหวัด 237,401 คะแนน โดยหากลงให้ลึกเป็นรายเขตพบว่า คะแนนปาร์ตี้ลิสต์ของ “ก้าวไกล” อยู่ลำดับที่ 2 ทุกเขต โดยใน จ.ปัตตานี “พรรคก้าวไกล” ได้คะแนนปาร์ตี้ลิสต์ รวม 5 เขต 85,273 คะแนน ขณะที่ จ.ยะลา ซึ่งเป็นฐานเสียงหลักของ “ประชาชาติ” ที่กวาดยกจังหวัด “ก้าวไกล” ได้คะแนนปาร์ตี้ลิสต์ รวม 3 เขต 66,386 คะแนน ส่วน จ.นราธิวาส “ก้าวไกล” ได้คะแนนปาร์ตี้ลิสต์ รวม 5 เขต 85,742 คะแนน

ดังนั้นเป็นไปได้ว่าการ “ออกแอ็คชั่น” ของ “พรรคประชาชน” ที่เป็น “พรรคส้มจำแลง” ลำดับที่ 3 ในครั้งนี้ จะได้ใจประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เพิ่มขึ้นในการเลือกตั้งครั้งหน้า ที่ “ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ” หัวหน้าพรรค และ “แกนนำหลังม่าน” ต้องการ “แลนด์สไลด์” ได้ สส.เกิน 275 คน เพื่อจัดตั้ง “รัฐบาลพรรคเดียว”

เชื่อเหลือเกินว่าหลังจากนี้ “พรรคส้ม” คงไม่ปล่อยให้ “คดีตากใบ” จบลงไปอย่างเงียบ ๆ แต่น่าจะมีการออกแอ็คชั่นระลอกถัดไปตามมา เพื่อคงอุณหภูมิคนในพื้นที่เอาไว้ อุ่นเครื่องก่อนเข้าสู่โหมดการเลือกตั้งครั้งถัดไปที่จะเกิดขึ้นอีก 2 ปีเศษข้างหน้านี้ หรืออาจจะเร็วกว่านั้นก็เป็นไปได้