‘เพื่อไทย’ พ่ายเกม ‘นิรโทษฯ’ เสียจุดยืนการเมือง - กระทบฐานเสียง
‘เพื่อไทย’ พ่ายเกม ‘นิรโทษฯ’ เสียจุดยืนการเมือง - กระทบฐานเสียง ‘นายใหญ่’ ยอมถอยรักษาเสถียรภาพ รัฐบาลแพทองธาร
KEY
POINTS
-
เกมลึกวัดใจ “นายใหญ่” ปมโหวตข้อสังเกตรายงานคณะกรรมาธิการศึกษาแนวทางนิรโทษกรรม พ่วงผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 110 และ มาตรา 112
-
ก่อนการโหวตบรรดา “ขุนพลเพื่อไทย” เสียงแตก ทางหนึ่งต้องการให้โหวตเห็นด้วย เพื่อทำให้กระบวนการ “นิรโทษกรรม” เดินหน้าต่อไป เพราะต้องการรักษาจุดยืนทางการเมือง
-
แต่เพื่อรักษาอำนาจ-รักษาเสถียรภาพของรัฐบาล จึงต้องโหวตคว่ำข้อสังเกตนิรโทษกรรม เนื่องจาก "พรรคร่วมรัฐบาล" จุดยืนแข็งกร้าว จนอาจจะกระทบต่อสถานะของรัฐบาล
เกมลึกวัดใจ “นายใหญ่” ปมโหวตข้อสังเกตรายงานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญศึกษาแนวทางการตราร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม โดยมี “ชูศักดิ์ ศิรินิล” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน
ต้องเข้าใจว่า รายงานการศึกษากฎหมายนิรโทษกรรม แยกเป็น 2 ส่วนคือ ในส่วนของตัวรายงานนั้น รัฐธรรมนูญระบุให้แค่รับทราบ สภาฯไม่ต้องลงมติ อีกส่วนหนึ่งคือ “ข้อสังเกตของกรรมาธิการ” ที่มีการเสนอนิรโทษกรรม ให้พ่วงผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 110 และ มาตรา 112 เข้าไปด้วย
เมื่อ “ข้อสังเกตของ กมธ.” จะต้องแนบไปกับรายงานตัวเต็มที่จะส่งให้ ครม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงให้ สส.ลงมติ ว่าเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วย
มติสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 24 ต.ค.270 เสียง ต่อ 152 เสียง ตีตก “ข้อสังเกตนิรโทษกรรม” โดยเสียงของ “ขั้วรัฐบาล” ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย 115 เสียงไม่เห็นด้วย 11 เสียงเห็นด้วย 4 เสียงงดออกเสียง 12 เสียงไม่ลงคะแนน พรรคภูมิใจไทย 65 เสียงไม่เห็นด้วย 4 เสียงไม่ลงคะแนน
พรรครวมไทยสร้างชาติ 27 เสียงไม่เห็นด้วย 9 เสียงไม่ลงคะแนน พรรคประชาธิปัตย์ 13 เสียงไม่เห็นด้วย 12 เสียงไม่ลงคะแนน พรรคชาติไทยพัฒนา 5 เสียงไม่เห็นด้วย 5 เสียงไม่ลงคะแนน พรรคประชาชาติ 6 เสียงไม่เห็นด้วย 1 เสียงงดออกเสียง 2 เสียงไม่ลงคะแนน
พรรคกล้าธรรม 3 เสียงไม่เห็นด้วย พรรคชาติพัฒนา 3 เสียงไม่เห็นด้วย พรรคเพื่อไทยรวมพลัง 2 เสียงไม่เห็นด้วย พรรคครูไทยเพื่อประชาชน 1 เสียงไม่เห็นด้วย พรรคประชาธิปไตยใหม่ 1 เสียงไม่ลงคะแนน
เสียงจาก “ขั้วฝ่ายค้าน” ประกอบด้วย พรรคประชาชน 138 เสียงเห็นด้วย 5 เสียงไม่ลงคะแนน พรรคพลังประชารัฐ 26 เสียงไม่เห็นด้วย 14 เสียงไม่ลงคะแนน พรรคไทยสร้างไทย 3 เสียงไม่เห็นด้วย 3 เสียงไม่ลงคะแนน พรรคเสรีรวมไทย 1 เสียงไม่ลงคะแนน พรรคเป็นธรรม 1 เสียงเห็นด้วย พรรคไทยก้าวหน้า 1 เสียงเห็นด้วย
ตัวแปรการตีตก “ข้อสังเกตนิรโทษกรรม” อยู่ที่เงื่อนไขการนริโทษกรรมความผิดคดี ม.110 และ ม.112 ซึ่ง “พรรคร่วมรัฐบาล” ยืนขาแข็ง ไม่เอาทุกเงื่อนไข ทำให้ “เพื่อไทย” ต้องเช็กกระแสจนนาทีสุดท้าย
กลืนเลือดเสียงจุดยืน
ก่อนการโหวต “ข้อสังเกตนิรโทษกรรม” บรรดา “ขุนพลเพื่อไทย” เสียงแตก ทางหนึ่งต้องการให้โหวตเห็นด้วย เพื่อทำให้กระบวนการ “นิรโทษกรรม” เดินหน้าต่อไป เพราะต้องการรักษาจุดยืนทางการเมือง ต้องการรักษาฐานเสียงเดิมเอาไว้ โดยเฉพาะ “กลุ่มคนเสื้อแดง”
ทว่าเมื่อเกมบีบให้ต้องคว่ำแนวทางนิรโทษกรรม เพื่อรักษาอำนาจทางการเมืองเอาไว้ “ทักษิณ-เพื่อไทย” จึงยอมถอยเข้าเซฟโซนมาเสียก่อน
“สส.เพื่อไทย” ส่วนใหญ่โหวต 115 เสียงลงมติ “ไม่เห็นด้วย” ขณะที่ 11 เสียง “เห็นด้วย” 4 เสียง “งดออกเสียง” และ 12 เสียง ไม่ลงคะแนน
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว สส.น่าน อธิบายถึงเหตุผลของ สส.เพื่อไทยส่วนใหญ่ ไม่เห็นด้วย “ข้อสังเกตของ กมธ.” เพราะคดี ม.112 ไม่ใช่คดีการเมือง จึงไม่อยู่ในข่ายการนิรโทษกรรมผู้ชุมนุมทางการเมือง
ในข้อสังเกตของ กมธ. มีถ้อยคำว่า “คณะรัฐมนตรีควรเร่งพิจารณารายงานเพื่อนำไปเป็นแนวทางการตรา พ.ร.บ. นิรโทษกรรมโดยเร็ว” เมื่อสภามีมติ “ไม่เห็นด้วย” เท่ากับว่า ไม่มีข้อผูกมัดต่อหน่วยงานต่างๆ เท่ากับว่า ไม่ต้องเอาเผือกร้อนไปใส่มือนายกฯ แพทองธาร
สส.เพื่อไทย ที่เห็นด้วยกับข้อสังเกตของ กมธ. 11 คน ล้วนแต่เป็น สส.บัญชีรายชื่อ สาย “นปช.-คนเสื้อแดง” ที่ต้องกลืนเลือดรักษาอุดมการณ์ทางการเมืองเอาไว้
แม้ “สส.สายเสื้อแดง” จะอภิปรายเหน็บค่ายสีน้ำเงินว่า มีการปั่นกระแสปกป้องสถาบันฯ จนเกินจริง แต่ก็เจอ “ขุนพลสีส้ม” ตอกกลับรู้เห็นเป็นใจกับ “เพื่อไทย” การละคร เก็บแต้มจากด้อมได้อีกดอก
“พรรคร่วมฯ” ถือดุลเหนือกว่า
ขณะเดียวกันเมื่อไล่เช็กเสียงจาก “พรรคร่วมรัฐบาล” ส่วนใหญ่โหวต “ไม่เห็นด้วย” โดยเฉพาะ “ภูมิใจไทย” 65 เสียง และ “รวมไทยสร้างชาติ” 27 เสียง แถวตรงเกือบทั้งหมด ส่งสัญญาณพร้อมรบหาก “เพื่อไทย” ทิ้งเชื้อจะนิรโทษกรรม ม.112
“เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ให้สัมภาษณ์ระหว่างการเดินทางไปราชการที่กัมพูชา ยืนยันว่า ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรม ในคดีมาตรา 112 และมติพรรคภูมิใจไทย ก็มีความชัดเจนไม่เห็นด้วยกับรายงานฉบับนี้
ท่าทีของ “ภูมิใจไทย-รวมไทยสร้างชาติ” เคลื่อนไหวคัดค้านรายงานศึกษานิรโทษกรรมฯ พ่วงคดี ม.112 อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะค่ายบุรีรัมย์ พยายามโชว์ความเป็น “เลือดสีน้ำเงินเข้ม”
ขจัดปมเสี่ยงล้มรัฐบาลอุ๊งอิ๊ง
ในใจลึกๆ “นายใหญ่-ขุนพลเพื่อไทย” อาจจะต้องการจับมือ “พรรคประชาชน” รับรองการรายงานนิรโทษกรรม เพื่อแสดงจุดยืนฝ่ายประชาธิปไตย
ครั้นหันมองเสถียรภาพรัฐบาลแพทองธาร “ภูมิใจไทย” มีดุลอำนาจต่อรองที่เหนือกว่า โดยเฉพาะ สว.สายสีน้ำเงิน จึงไม่กล้าเสี่ยงเล่นเกมเอาใจแดงอุดมการณ์ เช่นเดียวกับ “รวมไทยสร้างชาติ-พลังประชารัฐ-ประชาธิปไตย” โชว์จุดยืนแข็งไม่ยอมถอยแม้แต่ก้าวเดียว
แถมล่าสุด “ศาลรัฐธรรมนูญ” ได้หยิบยกกรณี “ธีรยุทธ สุวรรณเกสร” ยื่นยุบพรรคเพื่อไทย ปม “ทักษิณ ชินวัตร" เลิกการกระทำที่ล้มล้างการปกครองฯ โดยขอให้อัยการสูงสุดทำหนังสือชี้แจงมาภายใน 15 วันจากผลการพิจารณาดังกล่าว ก็พอจะคาดหมายได้ว่า ศาลรัฐธรรมนูญอาจจะวินิจฉัยว่า จะรับหรือไม่รับ ในวันพุธที่ 13 พ.ย.หรือพุธที่ 20 พ.ย.67
ขณะเดียวกันก่อนหน้านั้น กกต.ก็ชี้มูลตั้งแท่นสอบสวนคำร้องยุบ “พรรคเพื่อไทย” และ 6 พรรคร่วมรัฐบาลเดิม กรณี “ทักษิณ” ที่ไม่ใช่สมาชิกพรรค ครอบงำ ชี้นำ
เพียงศาลรัฐธรรมนูญตั้งแท่นพิจารณาคำร้องของธีรยุทธ สุวรรณเกษร แถม กกต.ออกลูกขยัน ก็หนาวกันทั้ง “บ้านจันทร์ส่องหล้า-เพื่อไทย”
ดังนั้นเพื่อรักษาอำนาจทางการเมืองเอาไว้ก่อน “ทักษิณ - เพื่อไทย” เลือกที่จะไม่เสี่ยงลุยไฟผ่านแนวทางนิรโทษกรรม ล้มกระดานนิรโทษกรรม ม.110 และ ม.112 ทั้งที่เป็นตัวตั้งตัวตี แต่ทุกเกมการเมือง “เพื่อไทย” มีราคาที่ต้องจ่าย
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์