ภารกิจลับ ‘นิรโทษกรรม’ เหลว ปิดฉากพันธมิตร ‘แดง-ส้ม’

ภารกิจลับ ‘นิรโทษกรรม’ เหลว ปิดฉากพันธมิตร ‘แดง-ส้ม’

คราวนี้ทั้ง “ค่ายแดง-ค่ายส้ม” น่าจะกลับมาแข่งขันกันทางการเมืองอย่างดุเด็ดเผ็ดมันอีกรอบ โดยเฉพาะการเลือกตั้งนายก อบจ.ที่กำลังจะเกิดขึ้นอีกหลายแห่ง ลากยาวไปถึงปี 2568 จนถึงการเลือกตั้งใหญ่ที่ตามไทม์ไลน์ปกติจะเกิดขึ้นในปี 2570

KEY

POINTS

  • ล้วงเบื้องหลังสภาฯโหวตคว่ำข้อสังเกต กมธ.นิรโทษกรรมฯ ค้านรวม ม.112
  • พันธมิตรชั่วคราว ‘ค่ายแดง-ส้ม’ ทำภารกิจลับล้มเหลว หลังคุยกันหลังม่านก่อนหน้านี้
  • แกนนำค่ายส้ม เปิดฉากรุกใส่ค่ายแดงทันควัน ‘ณัฐพงษ์-ธนาธร’ เปิดหน้าชนด้วยตัวเอง
  • จับตาสงครามการเมือง แย่งชิงฐานเสียงมวลชนอีกรอบ สู้ศึกเลือกตั้งนายก อบจ.-เลือกตั้งใหญ่ 70

เกิดแรงกระเพื่อมขึ้นใน “องคาพยพสีส้ม” ขึ้นทันที พลันที่มติสภาผู้แทนราษฎร “เสียงข้างมาก” ตีตกข้อสังเกตรายงานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญศึกษาแนวทางการตราร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม ที่มี “ชูศักดิ์ ศิรินิล” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

เมื่อชำแหละเสียงโหวตคว่ำ 270 เสียง ในการชงข้อสังเกตดังกล่าวไปยัง ครม. พบว่า “พรรคเพื่อไทย” ในฐานะแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และเป็น “โต้โผหลัก” ในนโยบายร่างกฎหมาย “นิรโทษกรรม” กลับ “เสียงแตก” ออกไปหลายแนวทาง โดยมีถึง 115 เสียงจากจำนวน สส.ทั้งหมด 142 คน มีเพียง 11 เสียงที่เห็นด้วย งดออกเสียง 4 คน และไม่ลงคะแนน 12 คน ถือเป็นการ “โหวตสวน” มติของพรรคเพื่อไทยก่อนหน้านี้ ส่วนเสียงโหวตคว่ำอื่น ๆ ล้วนมาจาก สส.พรรคร่วมรัฐบาลอีกหลายพรรค

จึงไม่แปลกที่จะเห็น สส.เพื่อไทย “ปีกแดง” หลายคนออกมาวิพากษ์วิจารณ์ นำโดย “หมอเชิดชัย ตันติศิรินทร์” อดีตแกนนำคนเสื้อแดงภาคอีสาน สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ถึงกับออกปากว่า “พวกขี้ปอด” หลังที่ประชุมสภาฯโหวตคว่ำข้อสังเกตดังกล่าว

สำหรับแนวคิดตรากฎหมาย “นิรโทษกรรม” ถูกเดินเครื่องตั้งแต่ ก.พ. 2567 ในยุครัฐบาล “เศรษฐา ทวีสิน” เป็นนายกฯ โดยพรรคร่วมรัฐบาลขณะนั้น ชูแนวคิด “ปรองดองสมานฉันท์” ขึ้นมา จึงเกิดการชงญัตติที่ประชุมสภาฯ จัดตั้ง กมธ.นิรโทษกรรม ให้เกิดขึ้น มี “ชูศักดิ์ ศิรินิล” มือกฎหมายพรรคเพื่อไทย เป็นประธาน ท่ามกลางการปลุกกระแสของ “พรรคส้ม” ที่ต้องการให้มี “นิรโทษกรรม” บุคคลผู้ต้องหา หรือจำเลยในคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เข้าไปด้วย

โดยในช่วงเวลาดังกล่าว ว่ากันว่า “ค่ายแดง-ค่ายส้ม” แอบคุยกันทั้งทางแจ้ง-ทางลับหลายครั้ง เพื่อหวังให้เกิดการนิรโทษกรรมเกิดขึ้น โดย 1 ใน 2 ค่ายนี้รีเควสต์ขอให้โฟกัสบุคคลที่ต้องหาตามมาตรา 112 เข้าไปด้วย ไม่ว่าจะมีเงื่อนไขหรือไม่ก็ตาม เพราะต้องไม่ลืมว่า ในบรรดาแกนนำม็อบราษฎร ที่เป็นกระบอกเสียงสำคัญส่วนใหญ่ ล้วนถูกศาลพิพากษาจำคุกในคดีมาตรา 112 ไปแล้วหลายคน บางคนต้องหลบหนีลี้ภัยไปต่างประเทศ ขณะที่ค่ายแดงเอง “นายใหญ่” ก็กำลังเผชิญคดีมาตรา 112 ในชั้นศาลเช่นกัน

แต่หน้าต่างมีหูประตูมีช่อง เมื่อ “พรรคร่วมรัฐบาล” บางพรรคจับสัญญาณได้ “มือมืดหลังม่าน” จึงเริ่มเดินแผนต้านทันที เริ่มจุดพลุ “นิรโทษกรรมเหมาเข่ง” รอบ 2 ขึ้นมา และต่อต้านการนิรโทษกรรม บุคคลที่ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 110 (ประทุษร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี และรัชทายาท) และมาตรา 112 หากยังดื้อดึงเรื่องนี้ “รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร” อาจจบไม่สวย จนสุดท้าย “เพื่อไทย” ต้องยอมถอย ทั้งที่มติพรรคก่อนหน้านี้ยืนยันจะโหวตรับข้อสังเกตดังกล่าวชง ครม.ไปก่อนก็ตาม

เมื่อ “พันธมิตรทางลับ” จับสัญญาณได้ว่า “ค่ายแดง” จะ “หักหลัง” โหวตคว่ำข้อสังเกตการตรากฎหมายนิรโทษกรรมดังกล่าว “ค่ายสีส้ม” จึงตัดสินใจปล่อยมือ และผลัก “ค่ายแดง” กลับไปเป็น “ศัตรู” เหมือนเก่า เริ่มจากการใช้ “คดีตากใบ” โจมตีรัฐบาลที่ปล่อยให้หมดอายุความ รวมถึง สส.ค่ายสีส้ม บางคนเริ่มออกมาวิพากษ์วิจารณ์การโหวตคว่ำข้อสังเกตการตรากฎหมายนิรโทษกรรมดังกล่าวแล้ว

ล่าสุด มีการขยับเกมไปเปิดโปงประเด็น “ค่าไฟแพง” อีกครั้ง กรณีการจัดซื้อพลังงานสะอาด โดยเปรียบเทียบตั้งแต่สมัย “รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ลากยาวมาถึงรัฐบาล “นายกฯอิ๊งค์” ว่า ส่อเอื้อ “นายทุน” บางกลุ่ม และทำให้ประชาชนต้องแบกรับ “ค่าไฟแพง” โดยทำกันเป็นขบวนการ 

ซึ่งพรรคประชาชน (ปชน.) “พรรคส้มจำแลง” ลำดับที่ 3 นำโดย “ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ” หัวหน้าพรรค ถึงกับแถลงเรื่องนี้ด้วยตัวเองเมื่อ 21 ต.ค.ที่ผ่านมา ก่อนหน้าสภาฯโหวตคว่ำข้อสังเกตกฎหมายนิรโทษกรรมถึง 3 วัน

ต่อมาเมื่อสภาฯโหวตคว่ำข้อสังเกตดังกล่าว เมื่อ 28 ต.ค.ที่ผ่านมา “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ประธานคณะก้าวหน้า ผู้นำทางจิตวิญญาณสูงสุดของ “ค่ายส้ม” เล่นใหญ่ทำจดหมายเปิดผนึกถึง “นายกฯอิ๊งค์” เรียกร้องขอทบทวนการออกสัมปทานรับซื้อพลังงานหมุนเวียน 3,600 เมกะวัตต์ เพราะอาจเป็นการเอื้อกลุ่มทุน อย่าปล่อยประชาชนแบกรับค่าไฟแพงอย่างไม่เป็นธรรม

น่าสังเกตว่า ก่อนหน้านี้ “ค่ายส้ม” ค่อนข้างเงียบมาพักใหญ่ ไม่ขุดประเด็นอะไรมาโจมตี “ค่ายแดง” มากนัก ยกเว้นข่าวปิงปองรายวันตอบโต้กันรายบุคคล แต่เมื่อ “ภารกิจลับ” ตรากฎหมายนิรโทษกรรมส่อล้มเหลว เพราะสภาฯคว่ำข้อสังเกตไปแล้ว แกนนำสีส้มทั้ง “ณัฐพงษ์” และ “ธนาธร” ถึงกับออกหน้าด้วยตัวเองทันที

สะท้อน “พันธมิตรชั่วคราว” ล้มเหลว และคราวนี้ทั้ง “ค่ายแดง-ค่ายส้ม” น่าจะกลับมาแข่งขันกันทางการเมืองอย่างดุเด็ดเผ็ดมันอีกรอบ โดยเฉพาะการเลือกตั้งนายก อบจ.ที่กำลังจะเกิดขึ้นอีกหลายแห่ง ลากยาวไปถึงปี 2568 จนถึงการเลือกตั้งใหญ่ที่ตามไทม์ไลน์ปกติจะเกิดขึ้นในปี 2570 วัดกำลัง-แย่งชิงฐานเสียง เพื่อหวังจัดตั้ง “รัฐบาลพรรคเดียว” ให้สำเร็จขึ้นอีกครั้ง