กต. ป้อง MOU 44 ไม่ใช่ปีศาจ แจง 5 ประเด็นร้อนฉ่า จับตา ครม.ไฟเขียว คกก.เทคนิคฯ

กต. ป้อง MOU 44 ไม่ใช่ปีศาจ แจง 5 ประเด็นร้อนฉ่า จับตา ครม.ไฟเขียว คกก.เทคนิคฯ

กต. ป้อง MOU 44 ไม่ใช่ปีศาจร้าย ไม่ขัดพระบรมราชโองการ งัดหลักฐาน "เกาะกูด" ของไทย ลั่นเส้นกัมพูชาเคลม ไร้ผลผูกพันทางกฎหมายระหว่างประเทศ รอ ครม. ตั้ง คกก.เทคนิค “ภูมิธรรม” นั่งประธาน

การจุดพลุยกเลิก เอ็มโอยู 2544 เครื่องมือสำคัญรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร เตรียมปัดฝุ่น ยกเครื่ององค์ประกอบคณะกรรมการด้านเทคนิคฝ่ายไทยใหม่ โดยมี "ภูมิธรรม เวชยชัย" รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม เป็นประธาน หวังเดินหน้าแบ่งผลประโยชน์พื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา กลายเป็นไฟลามทุ่งนำไปสู่การเสียดินแดนในอนาคตหรือไม่

ล่าสุด (4 พ.ย.67) ที่กระทรวงการต่างประเทศ เชิญสื่อมวลชนไทย และต่างประเทศ รับฟังการบรรยายสรุปสถานะล่าสุด เรื่องพื้นที่อ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน (Overlapping ClaimsArea: OCA) ระหว่างไทย-กัมพูชา โดย นายนิกรเดช พลางกูร อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ นางสุพรรณวษา โชติกญาณ ถัง อธิบดีกรมสนธิสัญญา และกฎหมาย เพื่อคลี่คลายข้อสงสัยของสาธารณชน 

อธิบดีกรมสนธิสัญญาฯ ได้อธิบายถึงเขตทางทะเลประเภทต่างๆ และกฎหมายระหว่างประเทศ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ.1982 รวมทั้งชี้แจงที่มาของ OCA ระหว่างไทย-กัมพูชา ซึ่งมีขนาดประมาณ 26,000 ตารางกิโลเมตร ที่เกิดจากการประกาศเขตไหล่ทวีปในอ่าวไทยของทั้งไทย และกัมพูชา

โดยทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะแก้ไขปัญหาร่วมกันผ่านการจัดทำบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลกัมพูชาว่าด้วยพื้นที่ไทย และกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2544 หรือที่เรียกกันว่า MOU 2544

กต. ป้อง MOU 44 ไม่ใช่ปีศาจ แจง 5 ประเด็นร้อนฉ่า จับตา ครม.ไฟเขียว คกก.เทคนิคฯ

ต่อมา อธิบดีกรมสนธิสัญญาฯ ชี้แจงว่า MOU 2544 เป็นความตกลงที่กำหนดกรอบ และกลไกการเจรจาระหว่างกัน โดยมิได้เป็นการยอมรับการอ้างสิทธิทางทะเลของอีกฝ่ายแต่อย่างใด ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะต้องเจรจากันต่อไป

ทั้งนี้ MOU 2544 ระบุให้ดำเนินการทั้งในเรื่องการแบ่งเขตทางทะเล และการพัฒนาพื้นที่ร่วมไปพร้อมกัน โดยให้ทั้งสองฝ่ายเจรจาหารือกันบนพื้นฐานของหลักกฎหมายระหว่างประเทศ และผลประโยชน์ร่วมกัน กลไกหลักของการเจรจาแก้ไขปัญหา OCA ภายใต้ MOU 2544 คือ คณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (Joint Technical Committee: JTC) ซึ่งประกอบด้วยส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง อาทิ ด้านความมั่นคง กฎหมาย
และพลังงาน โดยที่ผ่านมา มีการประชุม JTC 2 ครั้ง เมื่อปี 2544 และ 2545 นอกจากนี้ ยังมีกลไกย่อยอื่นๆ ได้แก่ คณะอนุกรรมการร่วมด้านเทคนิค (Sub-JTC) คณะทำงานร่วมไทย-กัมพูชาเกี่ยวกับการกำหนดเขตทางทะเล และคณะทำงานร่วมไทย-กัมพูชา เกี่ยวกับระบอบพัฒนาร่วม

แนวทางร่วมในการแก้ไขปัญหา OCA ที่ทั้งไทย และกัมพูชาเห็นสอดคล้องกันทั้งในระดับนโยบาย และระดับเทคนิค คือ (1) ประชาชนของทั้งสองประเทศจะต้องยอมรับข้อตกลงได้ (2) จะต้องนำเรื่องให้รัฐสภาของทั้งสองประเทศพิจารณาให้ความเห็นชอบ และ (3) ข้อตกลงจะต้องสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

กต. ป้อง MOU 44 ไม่ใช่ปีศาจ แจง 5 ประเด็นร้อนฉ่า จับตา ครม.ไฟเขียว คกก.เทคนิคฯ

อธิบดีกรมสนธิสัญญาฯ ได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน กระทรวงการต่างประเทศอยู่ระหว่างการเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาแต่งตั้งองค์ประกอบ JTC (ฝ่ายไทย) โดยเมื่อทั้งสองฝ่ายได้แต่งตั้งองค์ประกอบ JTC เรียบร้อยแล้ว ในส่วนของไทย จะมีการเสนอกรอบการเจรจาให้รัฐบาลเห็นชอบ หลังจากนั้น จะทาบทามการเจรจา
กับฝ่ายกัมพูชา รวมถึงแต่งตั้งกลไกย่อยต่างๆ ต่อไป

กระทรวงการต่างประเทศยืนยัน คำมั่นที่จะเจรจาเรื่อง OCA บนพื้นฐานของกฎหมายไทย พันธกรณีของไทย ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ และกรอบการเจรจาที่ได้รับความเห็นชอบ ดังที่ได้ปฏิบัติเช่นนี้กับประเทศอื่น ๆ มาโดยตลอด ด้วยความเป็นมืออาชีพ และยึดผลประโยชน์ของชาติเป็นที่ตั้ง

กต. ป้อง MOU 44 ไม่ใช่ปีศาจ แจง 5 ประเด็นร้อนฉ่า จับตา ครม.ไฟเขียว คกก.เทคนิคฯ

จากนั้น อธิบดีกรมสนธิสัญญาฯ  ได้ชี้แจงคำถามสื่อมวลชน 5 ข้อ คือ 

1.Mou 2544 นี้ จะทำให้ไทยเสียเกาะกูดหรือไม่ ว่าไม่ เพราะในตัวสนธิสัญญากรุงสยามฝรั่งเศส ค.ศ.1907 ระบุชัดเจนว่าเกาะกูดเป็นของไทย ถือเป็นหลักฐานสำคัญ ยืนยันกรรมสิทธิ์เหนือตัวเกาะ โดยไม่เคยเป็นประเด็นสงสัย มีความชัดเจนอยู่แล้ว ในอดีตถึงปัจจุบัน เราใช้อำนาจอธิปไตย เหนือเกาะ 100%   

2.Mou 2544 ขัดพระบรมราชโองการ การประกาศเขตไหล่ทวีป หรือไม่ว่า  การดำเนินการตาม Mou 2544 สอดคล้องกับข้อความที่อยู่ในพระบรมราชโองการ ตามหลักเขต และแผนที่  ซึ่งการประกาศนี้ก็ระบุไว้ ตามจุดพิกัดต่างๆ ซึ่งเป็นการแสดงแนวทางโดยทั่วไป ของเส้นที่กำหนดไหล่ทวีป ซึ่งเราใช้พื้นฐานของตัวอนุสัญญาเจนิวา ว่าด้วยไหล่ทวีป ค.ศ.1958 เป็นพื้นฐานการประกาศพระบรมราชโองการตรงนี้   แต่ทั้งนี้เรื่องสิทธิเหนืออธิปไตย และการแสวงหาผลประโยชน์ทรัพยากรใต้ท้องทะเล ขึ้นอยู่กับการเจรจา กับประเทศเพื่อนบ้าน  ซึ่งสิ่งที่แต่ละประเทศประกาศเคลม ก็ผูกพันเฉพาะภายในประเทศตัวเองเท่านั้น แต่เมื่อเกิดการทับซ้อนก็ต้องเป็นเรื่องของการเจรจา และ Mou 2544 คือ เจตนารมณ์ที่จะบอกว่า เป็นข้อตกลงแนวทางให้ไปพูดคุยกัน ซึ่งก็ตรงกับแนวทางที่กำหนดไว้ในกฎหมายไทย 

กต. ป้อง MOU 44 ไม่ใช่ปีศาจ แจง 5 ประเด็นร้อนฉ่า จับตา ครม.ไฟเขียว คกก.เทคนิคฯ

3.Mou 2544 เป็นการยอมรับเส้นของกัมพูชาหรือไม่ อธิบดีกรมสนธิสัญญาฯ ยืนยันว่า ถือเป็นหลักสากล ต่างฝ่ายต่างมีสิทธิที่จะเคลม แต่ผูกพันเฉพาะภายในประเทศเท่านั้น ไม่มีผลต่อกฎหมายระหว่างประเทศ "Mou ไม่ใช่ปีศาจร้าย ที่จะมาสร้างพันธะอะไรให้กับเรา เพราะต่างฝ่ายต่างมีเส้นของตัวเอง”  และในตัวของ Mou ก็เข้าใจในประเด็นนี้ และระบุในข้อที่ห้า ไว้ว่า "เงื่อนไขภายใต้เงื่อนไขการมีผลใช้บังคับของการแบ่งเขตสำหรับการอ้างสิทธิทางทะเลของภาคีผู้ทำสัญญาในพื้นที่ ที่ต้องมีการแบ่งเขต บันทึกความเข้าใจนี้ และการดำเนินการทั้งหลายตามบันทึกความเข้าใจนี้ จะไม่มีผลกระทบต่อการอ้างสิทธิทางทะเลของแต่ละภาคีผู้ทำสัญญา" ขอย้ำว่า เราไม่ได้ยอมรับเส้นของกัมพูชา 

4.Mou 2544 ทำให้ไทยเสียเปรียบ เหตุใดจึงไม่ยกเลิก เพราะรัฐบาลอภิสิทธิ์ ก็เสนอ ครม.ยกเลิกไปแล้ว ซึ่งรัฐบาลชุดนี้ จะดำเนินการต่อหรือไม่ ว่า ช่วงปี 2552 เรามีความสัมพันธ์ ท้าทายหลายประเด็นกับกัมพูชา ทั้งการขึ้นทะเบียนเขาพระวิหาร นำไปสู่ศาลโลก ความตึงเครียดชายแดน การเจรจาจึงเป็นไปด้วยความลุ่มๆ ดอนๆ ทั้งนี้การเจรจาเรื่องเขตแดน อยู่ที่ความไว้เนื้อเชื่อใจ ความสัมพันธ์ดีหรือไม่ ซึ่งเรื่องเขตแดน ที่ต้องอาศัยเทคนิค และเกี่ยวข้องกับความรักชาติ จึงเกิดปัญหาในยุคนั้น กระทรวงการต่างประเทศจึงเสนอ ครม. ให้ยกเลิก Mou 2544 เพราะมองว่าไม่มีความคืบหน้า ก็ไม่มีความจำเป็น ซึ่งขณะนั้น ครม. รับในหลักการ และให้ไปพิจารณาให้ดี และรอบคอบ ในแง่ของข้อกฎหมาย ซึ่งหลังจากนั้นกระทรวงการต่างประเทศได้หารือกับทีมที่ปรึกษาจากต่างประเทศ ดังนั้น ปี 2557   เห็นว่า Mou 2544 มีประโยชน์ข้อดีมากกว่าข้อเสีย และกัมพูชาก็ ยอมรับจึงได้เสนอกับ ครม. ให้ทบทวนมติ ครม. หลังจากนั้นทุกครั้งที่มีรัฐบาลเข้ามาใหม่ กระทรวงการต่างประเทศ ก็จะเสนอให้ใช้กรอบการเจรจา Mou 2544 เป็นหลักพื้นฐาน ถือเป็นกลไกที่เหมาะสมที่สุด และเป็นการรักษาผลประโยชน์ของประเทศ และทุกรัฐบาลก็ยอมรับ ว่านี่เป็นแนวทางที่น่าจะเหมาะสม ว่า Mou2544 จะเป็นแนวทางสร้างความโปร่งใส ซึ่งทุกครั้งที่มีการดำเนินงานก็จะรายงานให้ ครม. ทราบทุกครั้ง 

5.ส่วนการสร้างเขื่อนกันคลื่นของกัมพูชา ชี้แจงว่า เขื่อนดังกล่าวอยู่ในพื้นที่ทางทะเล เกี่ยวโยงกับพื้นที่ OCA ตามข้อเท็จจริง มีเอกชนไปสร้างท่าเทียบเรือ โดยการถมดินในทะเลประมาณ 100 เมตรออกมาจากฝั่ง ซึ่งเราได้ประท้วงทันทีจำนวนสามครั้ง ตั้งแต่ปี 2541, 2544 และปี 2564 ซึ่งผลของการประท้วงทำให้หยุดการก่อสร้างของเอกชน เพราะมีบางส่วนกินพื้นที่เส้นที่เราเคลมไว้ เราก็ต้องแสดงสิทธิเหนืออธิปไตย และเรื่องดังกล่าวอยู่ในการติดตามของกองทัพเรือ และสมช. อย่างใกล้ชิด  


จากนั้นนางสุพรรณวษา โชติกญาณ ถัง อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ให้สัมภาษณ์ ถึงกรณีการเสนอแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (เจทีซี) ว่า กระทรวงการต่างประเทศได้เสนอรายชื่อให้ ครม. พิจารณามาสักพักแล้ว คาดว่า ครม. จะอนุมัติองค์ประกอบของเจทีซี เร็วๆ นี้ ที่จะใช้เป็นองค์ประกอบในการเจรจากับประเทศกัมพูชา โดยมีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เพราะดูแลทั้งด้านความมั่นคง และด้านทรัพยากร 

ส่วนคณะกรรมการฯ ประกอบไปด้วย รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับคลัง และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) คณะกรรมการกฤษฎีกา และกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กรมเอเชียตะวันออก เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงพนมเปญ รวมประมาณ 20 คน หาก ครม. เห็นชอบ กรมสนธิสัญญา และกฎหมายก็จะเรียกประชุมฝ่ายไทยเพื่อดูกรอบการเจรจากับกัมพูชา โดยจะดำเนินการทาบทามฝ่ายกัมพูชาเพื่อจัดประชุมด้วย ว่าจะใช้รูปแบบใด เช่น ประชุมระดับอนุกรรมการ หรือระดับ คณะกรรมการ หรือ ประชุมคณะกรรมการ เจทีซี ชุดใหญ่ ซึ่งต้องคุยกับทางกัมพูชาต่อไป 

ตอนนี้ยังไม่ได้มีการเริ่มประชุม แต่ที่ผ่านมาเคยดำเนินการไปแล้วในอดีต จึงมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันระดับเจ้าหน้าที่ และผู้ปฏิบัติ ที่ผ่านมามีการประชุมเจทีซีอย่างเป็นทางการ 2 ครั้ง และไม่เป็นทางการ 7 ครั้ง และในปี 2564 มีการประชุมระดับอนุกรรมการไปแล้ว

สำหรับความสำคัญของ MOU 44 นั้น ใช้เป็นกรอบของการเจรจา และกลไกต่างๆ ที่มีอยู่ แต่ยังไม่มีการคุยในเรื่องรายละเอียดที่เป็นความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์ กต. ป้อง MOU 44 ไม่ใช่ปีศาจ แจง 5 ประเด็นร้อนฉ่า จับตา ครม.ไฟเขียว คกก.เทคนิคฯ