วัดใจปมถอนที่ดิน ‘เขากระโดง’ โจทย์หิน‘สุริยะ’ ฟื้นศรัทธา ‘เพื่อไทย’
"...ถือเป็นโจทย์หินในมือ “สุริยะ” หากจบแบบ “ค้านสายตา” สังคม อาจทำให้ “ฝ่ายค้าน” โดยเฉพาะ “พรรคประชาชน” (ปชน.) นำไปขยายแผล รวบรวมข้อมูลใช้ในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่อาจจะเกิดขึ้นในสมัยประชุมสภาฯ ครั้งหน้าก็เป็นไปได้ ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาล..."
KEY
POINTS
- ปมที่ดิน “เขากระโดง” ยังคงตามมาหลอกหลอน “รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร”
- หลังจากมติคณะกรรมการสอบสวนฯ “กรมที่ดิน” ส่งข้อมูลไปยัง “รฟท.”
- ยืนยันไม่สมควรเพิกถอนที่ดินกว่า 5 พันไร่ ซึ่งในจำนวนนี้อาจรวมถึงที่ดินของตระกูล “ชิดชอบ” 12 แปลง
- อ้างไม่มีหลักฐานเป็นที่ยุติว่าที่ดินนี้เป็นของ รฟท. ทั้งที่ผ่านคำพิพากษาของศาลมาหลายชั้น หลายปี
- บทพิสูจน์สำคัญ “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” แก้โจทย์หินอย่างไร ฟื้นศรัทธา “เพื่อไทย” ให้กลับมานิยมอีกครั้ง
ประเด็นเพิกถอนที่ดิน “เขากระโดง” จ.บุรีรัมย์ กลับมาเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากสาธารณชนอีกครั้ง พลันที่มีกระแสข่าวว่า เมื่อปลายเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการสอบสวนตามความในมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ลงวันที่ 12 พ.ค.2566 เพื่อดำเนินการกับหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินที่ออกทับที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) บริเวณแยกเขากระโดง อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ จำนวน 995 ฉบับ อันเป็นการดำเนินการตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลางในคดีหมายเลขดำที่ 2494/2564 นั้น
โดยเจ้าหน้าที่สำนักงานที่ดินบุรีรัมย์ และเจ้าหน้าที่ผู้รับมอบอำนาจจาก รฟท. ได้ร่วมกันลงพื้นที่เพื่อชี้แนวเขตและทำการรังวัดที่ดินของ รฟท. บริเวณเขากระโดง 5,083 ไร่ จนแล้วเสร็จ และส่งข้อมูลให้คณะกรรมการสอบสวนฯ ชุดดังกล่าวพิจารณา
สุดท้าย คณะกรรมการสอบสวนฯ ชุดนี้มีมติเป็นเอกฉันท์ เห็นสมควรไม่เพิกถอนหรือแก้ไขหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินรถไฟฯ บริเวณแยกเขากระโดง เนื่องจาก รฟท. ไม่มีหลักฐานเป็นที่ข้อยุติว่า ที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินของ รฟท. กระทั่ง “พรพจน์ เพ็ญพาส” อธิบดีกรมที่ดิน ได้ส่งหนังสือแจ้งไปยังผู้ว่าฯ รฟท. เรียบร้อยแล้ว
ทำให้ปัจจุบันเงื่อนปมปัญหาดังกล่าวยังคง “ไม่เคลียร์” ว่า ต้องเพิกถอนโฉนด “เขากระโดง” หรือไม่ เพราะในจำนวนที่ดิน 5,083 ไร่ดังกล่าวนั้น มีอย่างน้อย 12 แปลง เนื้อที่รวม 179 ไร่ 1 งาน 43.3 ตารางวา เป็นของคนตระกูล “ชิดชอบ” ตระกูลการเมืองบ้านใหญ่แห่ง จ.บุรีรัมย์ รวมอยู่ด้วย
สำหรับประเด็นนี้ เกิดขึ้นมายาวนานหลายสิบปี โดยสรุปเหตุเกิดตั้งแต่ปี 2513 มีข้อพิพาทระหว่าง “ชัย ชิดชอบ” อดีตนักการเมืองชื่อดังผู้ล่วงลับ บิดาของ “เนวิน ชิดชอบ” ครูใหญ่ “ค่ายน้ำเงิน” ถูกกล่าวหาว่าบุกรุกที่ดิน รฟท.ในพื้นที่ “เขากระโดง” ผลการเจรจา “ปู่ชัย” ยอมรับว่า ที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของ รฟท. และทำหนังสือขออาศัย รฟท. ยินยอม จากนั้นในวันที่ 26 ต.ค. 2515 ได้มีการนำที่ดินดังกล่าวไปออกโฉนดเลขที่ 3466 และขายให้ “ละออง ชิดชอบ” เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2535 ก่อนจะมีการนำไปขายต่อให้ บ.ศิลาชัย บุรีรัมย์
โดยในเวลาต่อมา “พรรคประชาชาติ” เมื่อครั้งเป็น “ฝ่ายค้าน” ตรวจสอบพบการครอบครองที่ดินเขากระโดงเพิ่มอีก 12 แปลงและนำมาตีแผ่ต่อสาธารณะด้วย
หลังจากนั้นมีคำพิพากษาของศาลหลายรอบในจังหวัดบุรีรัมย์ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 และศาลฎีกา ระหว่างปี 2557-2563 ชี้ขาดหลายครั้งว่า ที่ดินดังกล่าวเป็นของ รฟท.ไม่สามารถขอออกโฉนดได้ ให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างพร้อมย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดิน
รวมถึงส่งมอบที่ดินพิพาทคืนแก่ รฟท. และชำระค่าเสียหายให้แก่ รฟท. ในจำนวนนี้หมายรวมถึงที่ดิน 12 แปลงของตระกูล “ชิดชอบ” ด้วย
เมื่อศาลมีการชี้ขาดแล้วว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของ รฟท. ราษฎรที่ถือครองต้องส่งมอบคืนนั้น ต่อมาในปี 2566 เรื่องนี้ก็ถึงศาลปกครองเมื่อ รฟท. เป็นผู้ฟ้องคดี และกรมที่ดิน เป็นผู้ถูกฟ้องคดี โดยศาลปกครองสั่งให้กรมที่ดินแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนฯ ชุดข้างต้นขึ้นมา เพื่อพิจารณาเพิกถอนโฉนดที่ดิน และศาลปกครองสูงสุดก็มีคำพิพากษาเห็นพ้องเช่นเดียวกัน
นั่นจึงเป็นที่มาว่าบุคคลที่ที่มีการบุกรุกบริเวณ “เขากระโดง” ต้องถูกเพิกถอนโฉนดออกจากพื้นที่ ทว่าในมติของคณะกรรมการสอบสวนฯ ชุดนี้ ดัน “สวนทาง” คำพิพากษาของศาลหลายชั้น ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
ล่าสุด วีริศ อัมระปาล ผู้ว่าฯ รฟท.คนปัจจุบัน ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าเรื่องนี้ว่า อยู่ระหว่างการตรวจสอบหนังสือจากกรมที่ดิน และต้องมีการหารือภายในกระทรวงคมนาคมเสียก่อนว่า จะมีแนวทางใดเป็นสิ่งที่ถูกต้อง หรือเหมาะสมที่สุด พร้อมกับออกปากว่า เรื่องนี้ รฟท.เคยนำเข้าสู่ศาลยุติธรรมแล้ว สู้กันถึงชั้นศาลฎีกาแล้ว รฟท.ชนะแล้ว จึงยัง “งง ๆ” อยู่ สุดท้ายยืนยันว่าเรื่องนี้คาดว่าจะไม่นาน 1-2 สัปดาห์ต้องตัดสินใจ และเรามีเวลาดำเนินการภายใน 30 วัน
ดังนั้นความคืบหน้าหลังจากนี้ คงต้องจับตาไปที่ “กระทรวงคมนาคม” ซึ่งมี “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” นั่งเป็นเบอร์ 1 คุมอยู่ในตอนนี้ และมีบทบาทกำกับดูแล “รฟท.” ว่าจะมีทิศทางออกมาในรูปแบบใด จะสามารถปิดฉากมหากาพย์ “ที่ดินเขากระโดง” ที่ลากยาวมาหลายสิบปี และพัวพันกับตระกูลการเมืองระดับ “บ้านใหญ่” ลงได้หรือไม่
นอกจากนี้เรื่องดังกล่าวยังอยู่ระหว่างกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นในชั้นการไต่สวนของ ป.ป.ช. กรณีกล่าวหา “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมว.คมนาคม ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือไม่ กรณีไม่สั่งการให้ รฟท. ฟ้องขับไล่ผู้บุกรุกที่ดินเขากระโดง รวมถึงคดีตรวจสอบความผิดตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรงของเจ้าตัว กรณีมีบ้านพักบนที่ดินของ รฟท.บริเวณเขากระโดง อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ ซึ่งเป็นที่ดินของรัฐ เพื่อประโยชน์ธุรกิจตนเองและเครือญาติอีกด้วย
เรื่องนี้ถือเป็นโจทย์หินในมือ “สุริยะ” หากจบแบบ “ค้านสายตา” สังคม อาจทำให้ “ฝ่ายค้าน” โดยเฉพาะ “พรรคประชาชน” (ปชน.) นำไปขยายแผล รวบรวมข้อมูลใช้ในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่อาจจะเกิดขึ้นในสมัยประชุมสภาฯ ครั้งหน้าก็เป็นไปได้ ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาล ที่ปัจจุบันคะแนนนิยมยังทรงตัว สูสีกับ “ค่ายส้ม” ศัตรูทางการเมืองหมายเลข 1
นอกจากนี้ยังมี “แผลเก่า” อย่าง “นักโทษเทวดา” ชั้น 14 รพ.ตำรวจ ที่ยังคงคาราคาซัง ตามมาหลอกหลอนอยู่เช่นเดียวกัน