'ธีรยุทธ-ชูศักดิ์' แจงอัยการ ปมชงศาล รธน.ยุบ พท. เหลือ 'ทักษิณ' ยังไม่มา

'ธีรยุทธ-ชูศักดิ์' แจงอัยการ ปมชงศาล รธน.ยุบ พท. เหลือ 'ทักษิณ' ยังไม่มา

'ธีรยุทธ-ชูศักดิ์' เข้าให้ถ้อยคำอัยการแล้ว ปมร้องชงศาล รธน.ยุบพรรคเพื่อไทย กล่าวหา 'อดีตนายกฯ' ครอบงำพรรค เหลือแค่ 'ทักษิณ' คนเดียวยังไม่มาแจง ขีดเส้นครบตามกรอบ 15 วัน ถึงแค่ 11 พ.ย.นี้

เมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2567 รายงานข่าวจากสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) แจ้งว่า กรณีศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคำร้องของนายธีรยุทธ สุวรรณเกษร นักกฎหมาย ให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ขอให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 กล่าวหาว่านายทักษิณ ชินวัตร (ผู้ถูกร้องที่ 1) และพรรคเพื่อไทย (ผู้ถูกร้องที่ 2) ร่วมกันกระทำการอันเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ หลังจากก่อนหน้านี้นายธีรยุทธ ได้ยื่นให้ อสส.พิจารณา แต่ไม่ได้ตอบกลับภายในเวลากำหนด โดยศาลรัฐธรรมนูญมีหนังสือแจ้ง อสส.เพื่อขอทราบว่าได้ดำเนินการตามคำร้องของผู้ร้องไปแล้วอย่างไร และรวบรวมพยานหลักฐานได้เพียงใด ให้จัดส่งต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ จะครบกำหนดตามวันที่ศาลรัฐธรรมนูญร้องขอประมาณในช่วงวันที่ 7-8 พ.ย.นั้น

ล่าสุด สำนักงาน อสส.มีการตั้งคณะทำงานพิจารณากรณีดังกล่าวขึ้นแล้ว และให้จัดส่งข้อเท็จจริงต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน โดยมีหนังสือด่วนที่สุดให้ผู้ร้อง (นายธีรยุทธ) ผู้ถูกร้องทั้ง 2 ราย (นายทักษิณ และพรรคเพื่อไทย) เข้าให้ถ้อยคำกรณีนี้

โดยมีรายงานว่า นายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย เป็นตัวแทนพรรคเพื่อไทยเข้าให้ถ้อยคำ ขณะที่นายธีรยุทธ ในฐานะผู้ร้อง ได้เข้าให้ถ้อยคำแล้วเช่นกัน

ส่วนนายทักษิณนั้น ยังไม่มีรายงานว่าได้เข้าไปให้ถ้อยคำด้วยตัวเอง หรือมอบหมายตัวแทนเข้าไปให้ถ้อยคำหรือไม่ ทั้งนี้ตามกรอบเวลา 15 วันดังกล่าว จะครบกำหนดในวันที่ 11 พ.ย. 2567

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า ก่อนหน้านี้เมื่อครั้งนายธีรยุทธ ยื่น 6 คำร้องถึง อสส. หลังจากนั้นมีการส่งเรื่องไปยังสำนักงานการสอบสวนสำนักงานอัยการสูงสุด โดยมีคณะทำงานที่มีรองอัยการสูงสุด เป็นประธานคณะทำงานพิจารณา ก่อนส่งไปยัง อสส.พิจารณามีคำสั่ง ซึ่งมีรายงานว่า คณะทำงานฯชุดดังกล่าว มีความเห็นว่าเรื่องนี้ไม่มีมูลให้ยุติเรื่อง โดยให้เหตุว่า 2 ข้อเเรกที่เป็นข้อพาดพิงสถาบันฯ การกระทำของผู้ถูกร้องไม่มีมูลพฤติการณ์ ส่งผลให้เกิดการเซาะกร่อน บ่อนทำลายพระเกียรติยศของสถาบันฯ ส่วนคำร้องข้อ 3-6 ซึ่งเป็นเรื่องการครอบงำพรรคการเมืองเป็นอำนาจวินิจฉัยของ กกต. ทางคณะทำงานจึงมีความเห็นเสนอควรยุติเรื่องไปยังอัยการสูงสุด

หลังจากนั้น อสส.ได้พิจารณาเเล้วเห็นควรสั่งสอบสวนเพิ่มเติมจากทางฝั่งผู้ร้องเเละผู้ถูกร้อง กระทั่งมีการตั้งคณะทำงานฯอีกชุดหนึ่ง เพื่อเชิญผู้ถูกร้อง และผู้ร้อง เข้าให้ถ้อยคำดังกล่าว