ประวัติ ขุมทรัพย์ ธุรกิจ ‘กิตติรัตน์ ณ ระนอง’ ประธานบอร์ดแบงก์ชาติป้ายแดง
พลิกประวัติ ส่องขุมทรัพย์ - ธุรกิจ ‘โต้ง กิตติรัตน์ ณ ระนอง’ อดีตนักการเมืองใหญ่ ฝ่ากระแสเสียงวิจารณ์นั่ง ‘ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ’ คนล่าสุด
ในที่สุดหลังยื้อมาหลายสัปดาห์ คณะกรรมการคัดเลือกประธานกรรมการ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็เคาะชื่อ “เดอะ โต้ง” กิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตขุนคลังยุครัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มานั่งเก้าอี้ “ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ” แม้ว่าจะถูก “เสียงค้าน” จากอดีตคนใน ธปท. รวมถึงนักวิชาการ และภาคประชาชนภายนอกไม่น้อยก็ตาม
การลงมติเคาะตัว “กิตติรัตน์” นั่งประธานบอร์ดแบงก์ชาติดังกล่าว เกิดขึ้นหลังจากเจ้าตัวเพิ่ง “พ้นบ่วง” รอดพ้นโทษทัณฑ์ทางอาญา เนื่องจากอัยการสูงสุด (อสส.) ในยุค ไพรัช พรสมบูรณ์ศิริ เพิ่งลงมติชี้ขาด “ไม่อุทธรณ์” ตามคำร้องขอของที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในคดีเอื้อประโยชน์ให้บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด เป็นผู้ส่งมอบข้าวให้แก่องค์การสำรองอาหารแห่งประเทศอินโดนีเซีย (บูล็อค) แต่เพียงผู้เดียว หรือ "คดีข้าวบูล็อค" ซึ่งมี “กิตติรัตน์” เป็น “จำเลยหลัก” โดยก่อนหน้านี้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษา “ยกฟ้อง” ไปแล้ว
ประวัติส่วนตัว “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” ชื่อเล่นว่า “โต้ง” เกิดเมื่อวันที่ 3 ส.ค.2501 เป็นบุตรของ “เก่ง ณ ระนอง” และ “วิลัดดา” (สกุลเดิม หาญพานิช) สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้นจากโรงเรียนอัสสัมชัญ มัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ระดับปริญญาตรีจากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี 2523 และปริญญาโทจากสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อ่านข่าว: ‘กิตติรัตน์’ นั่งประธานบอร์ดแบงก์ชาติตามคาด!
ชีวิตครอบครัวสมรสกับ “เกสรา ณ ระนอง” (สกุลเดิม ธนะภูมิ) บุตรสาวของ พล.อ.พร และ เรณี ธนะภูมิ มีบุตร 3 คน คือ ต้น ต่อ และตรี ณ ระนอง โดยในส่วนของ “ต้น ณ ระนอง” ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาของรัฐมนตรีกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
“กิตติรัตน์” เริ่มต้นจากการเป็น “นักธุรกิจ” ก่อนจะประสบความสำเร็จเติบโตจนเคยขึ้นเป็นกรรมการผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) หลังจากนั้นได้นั่งเป็นบอร์ดในคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ระหว่างปี 2549-2551 ในยุครัฐบาลพรรคประชาชน
ต่อมาเขาเริ่มต้นเส้นทางการเมืองกับ “พรรคเพื่อไทย” โดยในปี 2554 ยุค “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” เขาได้รับการแต่งตั้งเป็นรองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจ ควบ รมว.พาณิชย์ ต่อมาปี 2555 ไปนั่ง รมว.คลัง ซึ่งสร้างวาทกรรมในตำนานที่ถูกกล่าวขานคือ “White Lie” หรือ “โกหกสีขาว” กรณีแถลงข้อมูลตัวเลขเป้าหมายทางเศรษฐกิจไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง
นอกจากเส้นทางการเมือง-ธุรกิจแล้ว เขามีความสนใจด้านกีฬาเช่นกัน โดยเคยเป็นผู้จัดการทีมฟุตบอลชาติไทย ชุด 14 ปีเมื่อ ค.ศ. 2002 ชุดเอเชียนเกมส์ ค.ศ.2006 และทีมชาติไทยชุดใหญ่ ค.ศ.2008 นอกจากนี้ในปี พ.ศ.2566 เขาเคยดำรงตำแหน่งเป็นประธานสโมสรฟุตบอลพราม แบงค็อก ในไทยลีก 3 ด้วย
หลังจากการรัฐประหารปี 2557 ชื่อของ “กิตติรัตน์” ก็เงียบหายไปในทางการเมือง จะเห็นได้จากข่าวเกี่ยวกับแวดวงกีฬา โดยเฉพาะฟุตบอลเท่านั้น ต่อมาในการเลือกตั้งปี 2562 เขาคัมแบ็กกลับมาอีกครั้ง และถูกส่งลงสมัครรับเลือกตั้ง สส.บัญชีรายชื่อ แต่ด้วยการคำนวณ สส.บัญชีรายชื่อ รูปแบบใหม่ ทำให้พรรคเพื่อไทย ไม่ได้ สส.บัญชีรายชื่อ ส่งผลให้เขาสอบตก หลังจากนั้นในปี 2563 เขาได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่ให้เป็นรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย
ต่อมาในการเลือกตั้งปี 2566 เมื่อพรรคเพื่อไทย รวบรวมเสียงข้างมากจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกฯ คนที่ 30 ได้แต่งตั้ง “กิตติรัตน์” ให้เป็นประธานที่ปรึกษาของนายกฯ กระทั่งพ้นจากตำแหน่งหลัง “เศรษฐา” ถูกศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดให้พ้นเก้าอี้ โดยปัจจุบันเขาไม่มีตำแหน่ง แห่งที่ในพรรคการเมืองใด และไม่ได้รับตำแหน่งใดๆ ในรัฐบาล
ในมุมทรัพย์สิน “กิตติรัตน์” แจ้งกับ ป.ป.ช.ครั้งล่าสุด เมื่อครั้งพ้นจากตำแหน่งรองนายกฯ และ รมว.คลัง เมื่อ 7 พ.ค.2557 แจ้งว่ามีทรัพย์สิน 28,485,601 บาท ได้แก่
- เงินสดจำนวน 2 แสนบาท
- เงินฝาก 2,853,614 บาท
- เงินลงทุน 13,474,544 บาท
- ที่ดิน 1 แปลง 2 ล้านบาท
- โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง 4 หลัง 8,787,443 บาท
- ยานพาหนะ 2 คัน 660,000 บาท
- สิทธิและสัมปทาน 510,000 บาท
แจ้งว่ามีรายได้โดยประมาณ จำนวน 798,943 บาท เป็นเงินจาก
- ตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี 498,943 บาท
- ผลตอบแทนจากการออม 300,000 บาท
รายจ่ายรวม 565,669 บาท
ส่วน “เกสรา ณ ระนอง” คู่สมรส มีทรัพย์สิน 30,502,474 บาท ได้แก่
- เงินสด 3,910,000 บาท
- เงินฝาก 5,364,183 บาท
- เงินลงทุน 7,648,291 บาท
- ที่ดิน 2 แปลง 4 ล้านบาท
- โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง 4 หลัง 6,722,000 บาท
- ยานพาหนะ 3 คัน 1,879,000 บาท
- ทรัพย์สินอื่น (ราคาตั้งแต่สองแสนบาทขึ้นไป) เป็นทองคำหนัก 50 บาท มูลค่า 979,000 บาท
มีรายได้ จำนวน 432,500 บาท เป็นรายได้จาก
- การให้เช่าห้อง 132,500 บาท
- ผลตอบแทนจากการออม 300,000 บาท
รายจ่ายรวม 300,000 บาท
มุมธุรกิจ เมื่อวันที่ 11 พ.ย.2567 พบชื่อ “กิตติรัตน์” ยังเป็นกรรมการบริษัทอย่างน้อย 2 แห่ง ได้แก่
บริษัท ดาโอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)
แปรสภาพมาเป็นบริษัทมหาชนเมื่อ 14 พ.ย.2562 ทุนปัจจุบัน 552,250,000 บาท ตั้งอยู่ที่ 87/2 อาคารซีอาร์ซีทาวเวอร์ ชั้นที่ 52 ออลซีซั่นส์เพลส ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร วัตถุประสงค์ ลงทุน ปรากฏชื่อ 1. นายจอง คยู คิม 2. นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง 3. นางเกศรา มัญชุศรี 4. นายดง โฮ โค 5. นายดู ฮา มิน 6. นายคยอง ชอน ลี เป็นกรรมการ
นำส่งงบการเงินล่าสุดเมื่อปี 2566 มีสินทรัพย์รวม 1,448,262,591 บาท รายได้รวม 90,947,746 บาท กำไรสุทธิ 17,538,333 บาท
บริษัท คาเธ่ย์ แอสเซท แมเนจเม้นท์ จำกัด
จดทะเบียนเมื่อ 20 ม.ค.2541 ทุนปัจจุบัน 25 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ 65 หมู่บ้านวิลล่า นครินทร์ ซอยสุขาภิบาล 2 ซอย 1 ถนนสุขาภิบาล 2 แขวงประเวศ เขตประเวศ กรุงเทพมหานคร วัตถุประสงค์ ให้คำแนะนำปรึกษาทางธุรกิจ ให้คำแนะนำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการ ปรากฏชื่อ 1. นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง 2. นายสุทธิศักดิ์ วจีปิยนันทานนท์ 3. นายกำพล ปุญโสณี 4. นางสาวพรเพ็ญ เกียรติเฉลิมพร 5. นางสาวมณทิรา ลีลาจารุพงศ์ เป็นกรรมการ
นำส่งงบการเงินล่าสุดเมื่อปี 2566 มีสินทรัพย์รวม 23,866,971 บาท มีรายได้รวม 740,783 บาท กำไรสุทธิ 509,161 บาท
ทั้งหมดคือ ข้อมูลโดยสังเขปเกี่ยวกับ “โต้ง กิตติรัตน์” ประธานบอร์ดแบงก์ชาติคนล่าสุด เขาจะฝ่ากระแสเสียงวิพากษ์วิจารณ์ เดินหน้าทำงาน นำพานโยบายแบงก์ชาติพลิกฟื้นระบบการเงิน และเศรษฐกิจไทยต่อไปอย่างไร ต้องติดตาม
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์