หวั่นเอื้อทุนใหญ่ สส.ปชน.กังขา กก.สรรหาบอร์ด กกพ.มีผู้ถือหุ้นโรงไฟฟ้าด้วย

หวั่นเอื้อทุนใหญ่ สส.ปชน.กังขา กก.สรรหาบอร์ด กกพ.มีผู้ถือหุ้นโรงไฟฟ้าด้วย

สส.ปชน.ลุยต่อ ตั้งข้อสังเกตปมตั้งคณะกรรมการสรรหา 'บอร์ด กกพ.' หวั่นเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนรัฐบาลหรือไม่ อ้างบางคนเป็นผู้ถือหุ้นโรงไฟฟ้ายักษ์ใหญ่ 'ศิริกัญญา' ถึงกับถาม แบบนี้ก็ได้เหรอ

เมื่อวันที่ 15 พ.ย. 2567 นายศุภโชติ ไชยสัจ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า รัฐบาลแต่งตั้ง คณะกรรมการสรรหาบอร์ด กกพ. ที่เป็น “ผู้ถือหุ้น” หรือเป็น “อดีตผู้บริหารของกลุ่มทุนโรงไฟฟ้า” เพื่อให้มาเอื้อประโยชน์ในการรับซื้อไฟฟ้าหมุนเวียน 3,600 MW ใช่หรือไม่ หลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติในการประชุมไปเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2567 ให้แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อสรรหากรรมการกำกับกิจการพลังงานใหม่ จำนวน 4 คน แทนกรรมการเดิม ซึ่งพ้นตำแหน่งตามวาระ หรือที่เราเรียกกันว่า “บอร์ด กกพ.” ล่าสุดได้มีประกาศเพิ่มเติมจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ออกมาอีก 1 ฉบับ โดยเป็นการเปิดเผยรายละเอียดการมีส่วนได้เสียเชิงธุรกิจกับผู้ประกอบกิจการพลังงานของคณะกรรมการสรรหา ที่อาจกล่าวได้แบบง่าย ๆ ว่า “คณะกรรมการสรรหาและครอบครัวนั้น มีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัทในกลุ่มพลังงานหรือไม่ อย่างไรบ้าง”

นายศุภโชติ ระบุอีกว่า รายละเอียดที่เปิดเผยออกมาตามประกาศดังกล่าว อาจส่อถึงความไม่โปร่งใสในกระบวนการสรรหาบอร์ด กกพ. ชุดใหม่ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลภาคพลังงานของประเทศไทย เนื่องจากตามข้อมูลในประกาศได้ระบุไว้ว่า คณะกรรมการสรรหาเกือบทุกท่านมีส่วนได้ส่วนเสียกับบริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ในประเทศไทยทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่ง หรือเคยดำรงตำแหน่งผู้บริหารในบริษัททางด้านพลังงาน ตั้งแต่ตำแหน่งประธานกรรมการ คณะกรรมการ หรือแม้กระทั่งถือหุ้นของบริษัทพลังงานเป็นจำนวนมาก ซึ่งการที่คณะรัฐมนตรีมีมติแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อมกับกลุ่มนายทุนพลังงานเช่นนี้ ย่อมทำให้เกิดช่องว่างที่จะก่อให้เกิดความไม่โปร่งใสในการคัดสรร บอร์ด กกพ. อย่างแน่นอน

โดยประเด็นที่ทำให้เป็นห่วงและกังวลแทนพี่น้องประชาชนเป็นอย่างยิ่ง หากรัฐบาลยังดึงดันตามแผนเดิมต่อ มีด้วยกันทั้งหมด 3 ประเด็น ดังนี้

  1. คณะกรรมการสรรหาจะสามารถปฏิบัติตามบทบาทหน้าที่ได้อย่างเป็นกลาง โดยปราศจากแรงจูงใจทางผลประโยชน์จากกลุ่มทุนพลังงานหรือไม่?
  2. ประชาชนจะมั่นใจได้อย่างไรว่าคณะกรรมการสรรหาจะดำเนินการอย่างมีธรรมาภิบาล และไม่เอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนพลังงานที่ตนมีส่วนได้ส่วนเสีย?
  3. ประชาชนจะมั่นใจได้อย่างไรว่า คณะกรรมการชุดนี้ที่สรรหามาจะปฏิบัติหน้าที่โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก ในเมื่อมีความเชื่อมโยงทางผลประโยชน์กับกลุ่มทุนพลังงานอย่างชัดเจนเช่นนี้?

นายศุภโชติ ระบุด้วยว่า หากการคัดเลือกบอร์ด กกพ. ที่จะเป็นผู้กำกับดูแลภาคพลังงานของไทยนั้น เกิดขึ้นอย่างไม่ตรงไปตรงมา ย่อมทำให้เกิดผลเสียต่อพี่น้องประชาชนอย่างแน่นอน ตัวอย่างเช่น การรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนรอบ 3,600 MW ที่พบข้อพิรุธในประกาศรับซื้ออยู่หลายประเด็นด้วยกัน ได้แก่ การไม่มีการเปิดประมูลแข่งขัน และ กกพ. ก็ไม่ประกาศหลักเกณฑ์ในการคัดเลือก ทำให้ กกพ. สามารถใช้ดุลยพินิจส่วนตัวในการเลือกให้กลุ่มทุนรายใดก็ตามสามารถขายไฟฟ้าให้รัฐจำนวนมากได้ เหมือนกับที่ได้เคยเกิดขึ้นไปเมื่อ 2 ปีที่แล้วในการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนรอบ 5,200 MW

ดังนั้น หากคณะกรรมการสรรหา บอร์ด กกพ. กลายเป็นผู้ถือหุ้นหรือเป็นอดีตผู้บริหารของกลุ่มทุนโรงไฟฟ้าเสียเอง ก็คงจะมองได้ไม่ยากว่า นี่คือกระบวนการผลประโยชน์ทับซ้อนที่รัฐบาลกำลังทำให้กระบวนการสรรหาบอร์ด กกพ. กลายเป็นกลไกของกลุ่มทุนพลังงานที่ส่งคนเข้ามาแทรกแซงองค์กรของรัฐ และหาช่องทางต่างตอบแทนเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนพลังงาน

"ผมจึงอยากขอให้ประชาชนและสื่อมวลชนร่วมกันจี้ถามไปยังรัฐบาลว่า การปล่อยให้การแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาที่เป็นผู้ถือหุ้นหรือเป็นอดีตผู้บริหารของกลุ่มทุนโรงไฟฟ้า ถือเป็นความตั้งใจของรัฐบาลที่จะนำไปสู่การเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนพลังงานหรือไม่" นายศุภโชติ ระบุ

นายศุภโชติ ระบุด้วยว่า สุดท้ายนี้ขอเรียกร้องให้มีการออกมาอธิบายถึงสิ่งที่เกิดขึ้น รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนว่าการคัดสรรของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ บอร์ด กกพ. ในครั้งนี้จะดำเนินไปด้วยความโปร่งใส และยึดเอาประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเป็นสูงสุด

นอกจากนี้ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคประชาชน ได้แชร์ทวิตดังกล่าว พร้อมระบุว่า “แบบนี้ก็ได้หรอ คกก.สรรหาบอร์ดกกพ.คนที่จะมากำกับธุรกิจโรงไฟฟ้า เป็นผู้ถือหุ้นโรงไฟฟ้า เป็นอดีตบอร์ดโรงไฟฟ้า ผู้ที่ถือหุ้นโรงไฟฟ้า เป็นอดีตปลัดกระทรวงพลังงาน ส่วนอดีตผู้บริหารมาในนามของตัวแทน NGO!”

ข้อมูลจาก: Supachot Chaiyasat - ศุภโชติ ไชยสัจ@SirikanyaTansa1