'สมชาย' ชง 3 ข้อเรียกร้องถึง 'รัฐบาล' ก่อนเจรจาแบ่งผลประโยชน์ 'กัมพูชา'

'สมชาย' ชง 3 ข้อเรียกร้องถึง 'รัฐบาล' ก่อนเจรจาแบ่งผลประโยชน์ 'กัมพูชา'

"อดีตสว.สมชาย" เรียกร้อง 'รัฐบาล' ตกลงเส้นเขตแดนทางทะเลให้ชัด ก่อนเจรจาแบ่งผลประโยชน์ พื้นที่ทะเลทับซ้อนกับ "กัมพูชา" หวังการันตีไม่เสียดินแดน

นายสมชาย แสวงการ อดีต สว. โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ค เพื่อเรียกร้องไปยังรัฐบาล ต่อการเดินหน้าเจรจาแบ่งผลประโยชน์ในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ระหว่าง ไทยและกัมพูชา เพื่อไม่ให้ประเทศไทย ต้องเสียดินแดนรอบเกาะกูดและอ่าวไทยว่า เพื่อให้เกิดความชัดเจนกรณีที่ไทยจะไม่เสียดินแดนทางทะเล อย่างแน่นอน ในการเจรจาที่รัฐบาลจะเดินหน้าต่อไปตามแนวทางของ MOU 2544 มีประเด็นให้พิจารณา คือ

1.ต้องเจรจาเรื่องเส้นเขตแดนทางทะเล ตามสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ค.ศ.1907 อนุสัญญาว่าด้วยทะเล อาณาเขตและเขตต่อเนื่อง  1958 และ อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 ให้ได้ข้อยุติเสียก่อน 

2.ควรแก้ไขปรับปรุง MOU2544 ให้ชัดเจน หรือ ยกเลิกMOU2544 ก่อน 
เพื่อเจรจาเส้นเขตแดนทางทะเล ให้ยุติจึงเริ่มการเจรจาแบ่งผลประโยชน์ตามเส้นเขตแดนที่ถูกต้อง โดยจะมีMOUใหม่ หรือที่ปรับปรุงแก้ไขก็ได้ 

3.รัฐบาลต้องนำเรื่องMOU 2544 เดิม  และกรอบการเจรจาของคณะกรรมการกรรมการร่วมด้านเทคนิค (JTC) ไทย-กัมพูชา  ที่ตั้งขึ้นใหม่เสนอเข้าที่ประชุมรัฐสภา เพื่อขอความเห็นชอบหรือไม่ หรือกำหนดกรอบก่อนการเจรจาเพื่อไม่ให้ผิดกฎหมายและขัดรัฐธรรมนูญ

นายสมชาย กล่าวระบุด้วยว่า ทุกรัฐบาลไทย ปฏิเสธไม่ยอมรับเส้นเขตแดนทางทะเลที่กัมพูชาลากขึ้นโดยไม่มีกฎหมายทะเลใดๆ หรือสนธิสัญญาหรืออนุสัญญาใดๆ รองรับ  ทั้งนี้ในรัฐบาลของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ชนะเลือกตั้งเมื่อปี 2544 และได้โปรดเกล้าฯ เป็นนายกฯฯ เมื่อ 9 ก.พ. 2544  ต่อมาอีกเพียง 4 เดือนกับ 9 วัน ได้ลงนาม MOU 44 ระหว่างรมว.ต่างประเทศของไทยกับกัมพูชา ยอมรับว่าทะเลไทยกับทะเลกัมพูชาทับซ้อนกันเป็นพื้นที่มากกว่า 26,000 ตารางกิโลเมตร  ทำให้ประชาชนชาวไทยวิตกกังวลว่าเรื่องนี้จะซ้ำรอยเสียดินแดนเช่นเดียวกับคดีเขาพระวิหาร

"แม้MOU2544 กระทรวงการต่างประเทศจะผูกเรื่องการเจรจาแบ่งปันผลประโยชน์แหล่งพลังงานต้องทำควบคู่กับการเจรจาเส้นเขตแดนทางทะเลที่ต้องตกลงกันได้อย่างถูกต้องและยอมรับกันได้ก็จริง แต่จากความไม่ไว้วางใจที่หลักฐานทางประวัติศาสตร์ชัดเจนว่า การตีเส้นเขตแดนกัมพูชา 2515 รุกมาในอ่าวไทย หลังไทยตีเส้นแบ่งตามแผนที่แปลงสัมปทานสำรวจและขุดเหมืองปิโตรเลียม2510ที่ประกาศ ม.ค. 2511คือสาเหตุที่ทุนพลังงานข้ามชาติ ต้องการเข้ามาฮุบแหล่งปิโตรเลียมของไทยผ่านอิทธิพลทางทหารและการเมืองในกัมพูชาขณะนั้น และการที่ปรากฏท่าทีชัดเจนจากนักการเมืองไทยบางกลุ่มที่มีความสัมพันธ์และประโยชน์ทับซ้อน คิดเอาผลประโยชน์ชาติไปแบ่งปันกัน" นายสมชาย ระบุ.