'กมธ.สว.' แน่น14เสียง พร้อมโหวต ยืนเกณฑ์ประชามติ2ชั้น

'กมธ.สว.' แน่น14เสียง พร้อมโหวต ยืนเกณฑ์ประชามติ2ชั้น

"สว.พิสิษฐ์" พร้อมโหวตตัดสินเกณฑ์ประชามติแก้รธน. พรุ่งนี้ ระบุ 14สว. มากันครบ ประเมินไม่มีปัญหา 2สภา เห็นต่าง ยืนร่างกม.180วัน

ที่รัฐสภา นายพิสิษฐ์ อภิวัฒนาพงศ์ สว. ฐานะกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่...) พ.ศ.... ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุมกมธ. ว่า ทราบว่าได้นัดลงมติเพื่อตัดสินในประเด็นความเห็นต่าง ระหว่างสส. และสว. ในเกณฑ์การผ่านประชามติเรื่องรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ในจุดยืนนของ สว. ในวินาทีนี้ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด และยังสนับสนุนเกณฑ์ผ่านประชามติ ด้วยเสียงข้างมาก 2 ชั้น คือ ต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ และเสียงเห็นชอบต้องได้เสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิ อย่างไรก็ดีทราบว่าในจุดยืนของ กมธ.ฝั่ง สส. ยังต้องการรให้ใช้เสียงข้างมากชั้นเดียว คือ เสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ ส่วนข้อเสนอที่เป็นทางเลือกที่สาม คือ เสียงข้างมากชั้นครึ่งที่เสนอโดยนายนิกร จำนง กมธ.และเลขานุการ กมธ. นั้น เป็นข้อเสนอในมุมเดียว

“หากนัดโหวตกัน เชื่อว่า กมธ. ฝั่ง สส. และ ฝั่งสว. เชื่อว่าจะยืนยันในจุดยืนของตนเอง ดังนั้น กมธ.สว.จะยืนยันในหลักการเกณฑ์ผ่านประชามติสองชั้นเช่นเดียวกัน จะไม่มีทางเลือกที่สาม ทั้งนี้ กมธ.ฝั่งสว. พร้อมเข้าประชุมอย่างพร้อมเพรียงครบทั้ง 14 คน” นายพิสิษฐ์ กล่าว

นายพิสิษฐ์ กล่าวต่อว่าตนทราบว่า เมื่อในชั้นกมธ.พิจารรณาเสร็จแล้ว ต้องให้แต่ละสภา ลงมติว่าจะเห็นชอบกับกมธ.ร่วมหรือไม่ เชื่อแน่นว่า สส. ต้องโหวตยืนยันตามจุดยืนเดิม  ส่วน สว. ตนเชื่อว่าจะยืนยันแบบเดิมเช่นเดียวกัน เมื่อสองสภาเห็นไม่ตรงกันต้องพักร่างกฎหมายไว้ 180 วัน

“ระหว่างที่พักร่างกฎหมายที่แก้ไข ไม่จำเป็นต้องพักการออกเสียงประชามติใดๆ หากรัฐบาลจะเดินหน้าออกเสียงประชามติแก้รัฐธรรมนูญในช่วงเดียวกับการเลือกตั้งท้องถิ่น ต้นปี2568 ยังสามารถทำได้ โดยใช้กฎหมายประชามติฉบับเดิมได้ และไม่มีข้อจำกัดใดๆ” นายพิสิษฐ์ กล่าว

เมื่อถามว่าตามรัฐธรรมนูญยังให้สิทธิสส. โหวตตัดสินในขั้นสุดท้าย นายพิสิษฐ์ กล่าวว่า ไม่เป็นไร เพราะหน้าที่สว. คือการยับยั้งกฎหมาย ไม่สามารถคัดค้านใดๆ ได้ หากสส.ยืนยันและต้องนำมาใช้ ต้องเป็นไปตามนั้น อย่างไรก็ดีในประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ต้องอาศัยเสียง สว. ตัดสิน 1 ใน 3 หรือ 67 เสียง ดังนั้นการจะรับหลักการหรือไม่นั้นต้องพิจารณาในขั้นตอนต่อไป ทั้งนี้ไม่แน่ใจว่าขั้นตอนดังกล่าวจะเกิดขึ้นเมื่อใด และขณะนี้ยังไม่มีการประสานมาจากฝั่งสภาฯ ที่จะนัดหารือเรื่องการวางกรอบการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ