'กมธ.ทหาร' เอาด้วยสอบที่เขากระโดง ปมสร้างค่ายทหารผิดที่ ส่อโยงตระกูลดัง
"วิโรจน์" ลุยสอบเขากระโดง ยกปม "ค่ายทหาร มทบ.26" สร้างผิดที่ ที่ขออนุญาต ส่อโยงตระกูลดัง-ผู้มีอิทธิพลในพื้นที่
ที่รัฐสภา นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)การทหาร สภาผู้แทนราษฎร แถลงว่า ในวันที่ 28 พ.ย. กมธ.มีวาระตรวจสอบตามที่มีผู้ร้องเรียน เกี่ยวกับการอนุญาตให้สร้างค่ายทหาร มณฑลทหารบกที่ 26 (มทบ.26) หรือค่ายสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกผิดที่ จากเดิมที่กองทัพบกขออนุญาตไว้เมื่อปี 2521 ซึ่งเป็นพื้นที่อยู่ติดกับเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ โดยได้เชิญผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) อธิบดีกรมที่ดิน อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ผู้บัญชาการ มทบ.26
นายวิโรจน์ กล่าวว่า ในประเด็นที่เป็นปัญหานั้น พบว่า มทบ.26 ขออนุญาตสร้างค่ายทหารในพื้นที่ 400 ไร่ แต่ในการก่อสร้างกลับพบว่าได้สร้างค่ายไม่ตรงกับพื้นที่ที่ขอไว้ และได้นำที่ดินไปสร้างสนามกอล์ฟ
นอกจากนั้นแล้ว ในพื้นที่ 400 ไร่นั้น พบว่ามีพื้นที่ที่เป็นที่ดินพิพาทของนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ จำนวน 24 ไร่ ซึ่งพบคำพิพากษาของศาลฎีกาว่า พื้นที่ดังกล่าวนั้นเป็นของ รฟท.
"ประเด็นที่ต้องตรวจสอบ คือ มทบ.26 นั้น มีรายละเอียดขอพื้นที่สร้างค่ายทหารอย่างไร มีข้อเท็จจริงหรือไม่ กรณีที่สร้างนอกพื้นที่ที่ขออนุญาต ซึ่งกระทบกับประชาชนในพื้นที่ สำหรับพื้นที่ที่ขออนุญาต แต่ทหารเว้นพื้นที่ไม่ก่อสร้าง ซึ่งมีข้อสงสัยว่า เกรงกลัวอิทธิพลของใครที่มีนามสกุลใหญ่ สกุลดัง ในพื้นที่บุรีรัมย์หรือไม่" นายวิโรจน์ กล่าว
นายต่อพงษ์ จีนใจน้ำ อดีตผู้สมัคร สส.บุรีรัมย์ พรรคก้าวไกล ในฐานะที่ปรึกษา กมธ. กล่าวด้วยว่า พบข้อสงสัย ต่อกรณีที่กองพันทหารราบที่ 4 กรมทหารราบที่ 23 หรือ ร.23 พัน.4 มทบ.26 ในขณะนั้น ได้ขออนุญาตจังหวัดบุรีรัมย์ ในการสร้างค่ายทหารกองพันทหารราบเบา เมื่อวันที่ 30 เม.ย.2521 ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ได้อนุญาตให้มีการสร้าง เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2521 จนเป็น ร.23 พัน.4 ในปัจจุบัน
แต่เมื่อพิจารณาที่ตั้งของค่ายในปัจจุบัน และเปรียบเทียบกับหนังสืออนุญาตการก่อสร้างแล้ว กลับพบข้อสงสัย ที่ค่ายทหารดังกล่าวอาจสร้างผิดที่ เพราะเดิมที่ ที่ได้รับอนุญาตให้มีการก่อสร้างนั้น เป็นพื้นที่ทางเหนือติดกับเขากระโดง ซึ่งมีผู้ซื้อที่ดินต่อจากบ้านใหญ่บุรีรัมย์ไป และมีการฟ้องร้องกับ รฟท. จนสุดท้ายศาลฎีกาได้พิพากษาให้เป็นที่ดินของ รฟท.และค่ายทหาร ดังกล่าวก็ได้ไปสร้างในอีกพื้นที่หนึ่ง ซึ่งไม่ได้มีการขออนุญาต และอยู่ห่างจากที่ที่ได้รับอนุญาตไป 2 กิโลเมตร รวมถึงยังเป็นที่ที่มีราษฎรอาศัยอยู่ จนเกิดการฟ้องร้องขับไล่กันต่อมา
"เชื่อว่า ที่ที่กองทัพก่อสร้างค่ายทหารฯ ดังกล่าวผิดที่ตั้งแต่แรก และไม่ทราบว่า กองทัพได้มีการขออนุญาตก่อสร้างบนที่ดินดังกล่าวตั้งแต่เมื่อใด รวมถึงเหตุใดกองทัพจึงไม่สร้างค่ายทหารดังกล่าวบนที่ดินที่มีการขออนุญาตตั้งแต่แรกในจังหวัดบุรีรัมย์ มักมีเรื่องแปลก ๆ เกิดขึ้นอยู่เสมอ โดยเฉพาะการเปลี่ยนหลักหมุดที่ดินในจังหวัดถึง 3 ครั้ง" นายต่อพงษ์ กล่าว