ไร้คำตอบ 'เขากระโดง' กมธ.ที่ดิน จ่อลงพื้นที่ คุยชาวบ้าน
"กมธ.ที่ดิน" ไม่ได้คำตอบ สอบ “เขากระโดง” หลัง รฟท.-กรมที่ดิน โต้แย้ง ไร้แผนที่แสดงกรรมสิทธิ ลุยสอบต่อ จ่อลงพื้นที่คุยชาวบ้าน ก่อนนัดสอบใหญ่ ม.ค.68
ที่รัฐสภา นายพูนศักดิ์ จันทร์จำปี สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ฐานะประธานกรรมาธิการ (กมธ.) การที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม สภาฯ แถลงผลการประชุมกมธ. วาระพิจารณาข้อพิพาท ปัญหาที่ดินเขากระโดงในพื้นที่จ.บุรีรัมย์ ซึ่งเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าชี้แจง นานกว่า 2 ชั่วโมง ว่า หน่วยงานที่ชี้แจงไม่มีความชัดเจน ดังนั้นกมธ.จึงลงความเห็นว่าต้องตรวจสอบเพิ่มเติมในหลายประเด็น เช่น กรรมสิทธิของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เนื่องจากไม่มีข้อยุติเรื่องแผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินของ รฟท. ที่ไม่ชัดเจนว่าครอบคลุมสนามแข่งรถ หรือ สนามกีฬา หรือไม่ ส่วนการดำเนินการเพิกถอนสิทธิที่ดินของกรมที่ดิน กมธ.ขอหนังสือเพิ่มเติมในการแต่งตั้งกรรมการตามประมวลกฎหมายที่ดิน ส่วนการแก้ไขความเดือดร้อนของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ 5,000 ไร่ ซึ่งพบว่ามีเอกสารสิทธิและโฉนดที่ดิน ที่ภาครัฐออกให้ และมีข้อพิพาทว่าออกโดยชอบหรือไม่ รฟท. และกรมที่ดินไม่มีความชัดเจนในการแก้ปัญหา
“ปัญหาที่ดินเขากระโดงมีหลายประเด็นต้องตรวจสอบเพิ่มเติม ซึ่งกมธ.ได้ทำหนังสือขอเอกสารเพิ่มเติมจากหน่วยงาน โดยขอให้ส่งมาให้กมธ.ภายใน 15 วัน จากนั้นเมื่อรับเอกสารจะประชุมเพื่อตรวจสอบรายละเอียดก่อนจะลงพื้นที่ที่เขากระโดง จ.บุรีรัมย์อีกครั้ง และจากนั้น กมธ.จะนัดประชุมใหญ่อีกครั้ง ช่วง ม.ค.2568 ก่อนสรุปประเด็นว่าจะแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างไร เบื้องต้นภาครัฐต้องมีมาตรการต้องเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบ” นายพูนศักดิ์ กล่าว
ขณะที่ นายเลาฟั้ง บัณฑิตเทอดกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ฐานะเลขานุการ กมธ.ฯ การเพิกถอนสิทธิที่ดินตามผลคำพิพากษาไม่ว่าข้อเท็จจริงหรือการโต้แย้งจะเป็นอย่างไร เมื่อมีคำพิพากษาว่าเป็นกรรมสิทธิของ รฟท. ต้องปฏิบัติตาม อีกทั้งกรณีเขากระโดงไม่ใช่แนวเส้นทางรถไฟหรือสถานี แต่รฟท. เคยใช้ประโยชน์ จึงได้กรรมสิทธิเพราะเคยใช้ประโยชน์ ดังนั้นกรมที่ดินที่ต้องบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษา แต่เหตุผลที่ไม่เพิกถอนได้เพราะไม่มีแผนที่ของ รฟท. ที่ชัดเจน
“แม้มีการรังวัดที่ดินแต่ไม่ปรากฎแผนที่ที่ดินที่ชัดเจน ทำให้กมธ.ตั้งข้อสังเกตว่าต้องทำแผนที่ที่ชัดเจนเพื่อให้กรมที่ดินสามารถบังคับตามคำพิพากษาได้ และขอให้กรมที่ดินจัดส่งเอกสารแผนที่ให้กมธ.อีกครั้ง ส่วนที่มีการทำแผนที่ขึ้นมาเมื่อ ปี2539 นั้น กรมที่ดินระบุว่าเป็นแผนที่ที่บังคับใช้ไม่ได้ เพราะทำกันภายหลังหลังจากที่มีประเด็นข้อพิพาทกับประชาชน” นายเลาฟั้ง กล่าว
นายเลาฟั้ง กล่าวตอบคำถามถึงกรณีที่กรมที่ดินชี้แจงว่าไม่สามารถเพิกถอนสิทธิได้เพราะกระบวนการออกเอกสารสิทธิถูกต้องตามกระบวนการ ว่า เป็นการอธิบายตามหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงาน ส่วนการออกเอกสารสิทธิตามกฎหมายหรือไม่เป็นอีกกรณีหนึ่ง ส่วนกรณีทีกรณีกรมที่ดินชี้แจงว่า กรมที่ดินไม่ใช่คู่ความในข้อพิพาท ถือว่าไม่ถูกต้อง เพราะกรมที่ดินเป็นหน่วยงานรัฐ มีหน้าที่บริหารและกำกับที่ดิน แม้ตามประมวลฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จะระบุว่าให้มีผลผูกพันคู่กรณี แต่มีข้อยกเว้นเรื่องกรรมสิทธิที่ดิน เมื่อมีคำพิพากษาที่มีผู้ที่ได้รับประโยชน์สามาถอ้างอิงกับบุคคภายนอกได้ ดังนั้นพื้นที่กว่า 5,000 ไร่ จึงเป็นกรรมสิทธิของรฟท.ทั้งหมด.