‘แพทองธาร’ สั่งการเมื่อคืน เร่งสำรวจความเสียหาย ‘น้ำท่วมใต้’ ก่อนชงเยียวยา

‘แพทองธาร’ สั่งการเมื่อคืน เร่งสำรวจความเสียหาย ‘น้ำท่วมใต้’ ก่อนชงเยียวยา

“จิรายุ” ร่ายยาว ศปช. เฝ้าระวังน้ำท่วมภาคใต้ อย่างต่อเนื่อง เตรียมพร้อมรับแผนเผชิญเหตุ รัฐมนตรี ลงพื้นที่พรึบ ประสานงานต่อเนื่องรวดเร็ว กรมบัญชีกลาง ขยายวงเงินทดรอง 6จว.ภัยพิบัติ เป็น 70ล้าน เผย “แพทองธาร” สั่งการเมื่อคืน เร่งสำรวจความเสียหาย กำหนดแนวทางเยียวยา ชง ครม.

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีและโฆษก ศปช. เปิดเผยว่า ตามที่นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะ ผอ.ศปช. ได้สั่งการให้คณะทำงาน ศปช.เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยาและสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติได้คาดการณ์ว่า ฝนภาคใต้ปีนี้จะมากกว่าปกติ ทำให้ได้มีการออกประกาศแจ้งเตือนตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 24 พ.ย.ที่ผ่านมา พร้อมให้หน่วยงานรับมือภัยพิบัติ เตรียมความพร้อมกำลังคนและเครื่องจักร เครื่องมือต่างๆ ตามแผนเผชิญเหตุ

ต่อมาในวันพุธที่ 27 พ.ย. น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้รับรายงานสถานการณ์จาก ศปช. และได้สั่งการให้ทุกหน่วยเข้าช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมทันที รวมทั้งให้มีการสำรวจความเสียหาย ฟื้นฟู และนำเสนอข้อมูลต่อ ครม.เพื่อดำเนินการช่วยเหลือ และตามแผนป้องกันระยะยาวได้ให้ศึกษาเรื่องการนำ "ผังน้ำ" ใช้ควบคู่กับ "ผังเมือง" เพื่อแก้ปัญหาได้อย่างถาวรและตรงจุด

ขณะที่ วันพฤหัสที่ 28 พ.ย. นายภูมิธรรม สั่งการให้ พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม บินด่วนลงใต้ประสานความร่วมมือทุกภาคส่วนบูรณาการร่วมกันระหว่างกระทรวงกลาโหม และกระทรวงมหาดไทย และระดมเรือท้องแบน อาหาร ให้เจ้าหน้าที่กระจายลงพื้นที่ช่วยผู้ประสบภัยอย่างต่อเนื่อง รวมถึงประสานสำนักนายกรัฐมนตรี เตรียมพร้อมกองทุนช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย

วันศุกรที่ 29 พ.ย. นายภูมิธรรม ย้ำข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ให้กระทรวงกลาโหมและกระทรวงมหาดไทยลงพื้นที่สำรวจความเสียหาย ช่วยเหลือต่อเนื่อง และประสาน ศอ.บต. ส่งอาหารเข้าพื้นที่ที่ถูกตัดขาด จัดเรือท้องแบน จากหน่วยทหารและเอกชนกว่า 50 ลำ อพยพผู้สูงอายุ เด็ก และขนอุปกรณ์ช่วยเหลือ รวมทั้งให้ ปภ. ส่งเรือเข้าไปช่วยประมาณ 100 ลำ 

ทั้งนี้ ได้ย้ำว่า แม้ไม่มีเรื่องดินโคลนเหมือนอุทกภัยในภาคเหนือ แต่การประสานงาน ดูแลต้องต่อเนื่องและรวดเร็ว

นายจิรายุ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุม ครม.สัญจร ที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันศุกร์ที่ 29 พ.ย.ที่ผ่านมา  นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ และพลเอกณัฐพล ในฐานะประธาน ศปช.ส่วนหน้า บินด่วนลงพื้นที่ จ.นราธิวาส และได้วิดีโอ คอมเฟอเร้นท์ ร่วมกับที่ประชุมคณะรัฐมนตรีซึ่งนายกรัฐมนตรีมีข้อสั่งการ ทั้งแผนระยะสั้นและแผนระยะกลาง และเมื่อน้ำลดจะเร่งดำเนินการฟื้นฟูเยียวยาต่อไป

ขณะเดียวกันได้มีข้อสั่งการให้ประสานกรมบัญชีกลาง เพิ่มงบทดรองจ่ายของผู้ว่าราชการจังหวัดจาก 20 ล้านเป็น 50 ล้าน และ ปภ. เร่งจัดสรร สรรพกำลัง อุปกรณ์ เครื่องไม้เครื่องมือ โดยเฉพาะ พาหนะทางน้ำ ตามที่ได้รับการร้องขอจากพื้นที่ทันที รวมทั้งทุกหน่วยงานอพยพผู้สูงอายุ กลุ่มเปราะบาง ไปยังจุดปลอดภัย พร้อมให้กระทรวงสาธารณสุข ระดมแพทย์และบุคลากรทั้งหมดในพื้นที่ขนย้ายผู้ป่วยออกจากพื้นที่วิกฤตและจัดตั้งศูนย์พักพิงให้ความช่วยเหลือและอยู่อาศัยได้จนเข้าสู่ภาวะปกติ 

"ตั้งแต่วันแรกที่ฝนตกลงมาอย่างหนัก ปภ.ได้ประสาน กสทช.และค่ายมือถือส่ง SMS ไปยังประชาชนในพื้นที่ 5 จังหวัดที่มีความเสี่ยงประสบภัยรุนแรง ได้แก่ สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และนครศรีธรรมราช ทำให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงเตรียมตัวได้ทัน มีการขนย้ายข้าวของไปไว้บนที่สูง ลดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินได้จำนวนมาก" 

นายจิรายุ กล่าวว่า นอกจากนี้รัฐบาลยังเร่งให้ความช่วยเหลือต่อเนื่อง โดยกรมชลประทานได้นำเครื่องสูบน้ำ 33 เครื่อง เครื่องผลักดันน้ำ 7 เครื่อง เร่งระบายน้ำ ควบคู่กับการนำเรือและรถยนต์ยกสูงของหน่วยงานราชการ  เข้าช่วยเหลือประชาชน โดยมีการจัดตั้งโรงครัวพระราชทานกระจายไปในพื้นที่น้ำท่วม ขณะที่กรมปศุสัตว์มีการอพยพสัตว์จำนวน 2,431 ตัว และนำหญ้าอาหารสัตว์พระราชทาน 10,760 กิโลกรัม แจกให้เกษตรกรช่วยเหลือสัตว์ที่ได้รับผลกระทบ

จากนั้น วันอาทิตย์ที่ 30 พ.ย.ที่ผ่านมา กรมบัญชีกลางได้อนุมัติขยายวงเงินทดรองราชการให้กับ 6 จังหวัดภาคใต้ที่ได้ประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (อุทกภัย) ได้แก่ สงขลา นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราชเพิ่มเติมแล้วจังหวัดละ 50 ล้านบาทเป็น 70 ล้านบาท เพื่อนำไปช่วยเหลือดูแลพี่น้องประชาชนได้อย่างรวดเร็ว ทันต่อสถานการณ์ และให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้ประสบภัย

"นายกรัฐมนตรีได้สั่งการเมื่อคืนที่ผ่านมา ให้ทุกหน่วยงานเร่งสำรวจโดยเฉพาะพื้นที่ที่น้ำลดว่า มีความเสียหายรูปแบบใดและให้กำหนดแนวทางเยียวยานำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป  โดยผ่านกลไก ศปช. ซึ่งมีการทำงานต่อเนื่องตั้งแต่อุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือ และสามารถเตรียมความพร้อมรับมือเหตุการณ์ในภาคใต้ได้อย่างทันท่วงที " นายจิรายุ กล่าว