'ทีดีอาร์ไอ' ห่วงเศรษฐกิจทรุด หลัง 'รัฐบาล' ไร้วินัย-เห็นเงินเป็นของฟรี
"ปธ.ทีดีอาร์ไอ" ฝาก "กมธ.เศรษฐกิจ" วุฒิสภา จับตาการทำงานของรัฐบาล หลังพบ ไร้วินัยการเงินการคลัง-เห็นเงินเป็นของฟรี เสี่ยงทำเศรษฐกิจทรุด
ที่โรงแรมแบงค็อก แมริออท ควีนส์ปาร์ค กรุงเทพฯ คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การเศรษฐกิจ การเงิน และการคลัง วุฒิสภา จัดสัมมนาเรื่อง จับชีพจรเศรษฐกิจโลก พลิกตำราฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจไทย 2568 World Economic Pulse to Turnaround Thailand Economic Crise 2025 โดยมีนักวิชาการด้านเศรษฐกิจและผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินการคลังเข้าร่วม
โดย นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ (ทีอีอาร์ไอ) กล่าวตอนหนึ่งว่าทีดีอาร์ไอเป็นห่วงเรื่องเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งนี้จากการวิจัยพบว่า รัฐบาลเก่งเรื่องทำหน้าที่ขั้นต่ำ คือ เศรษฐกิจมหภาค สุขภาพ และ ลดความยากจน จะเห็นว่าเศรษฐกิจไทยที่ไม่วิกฤตเพราะมีเสาหลักมหภาคที่ดีพอ แต่มีหลายเรื่องไม่เก่งและมีปัญหาที่ทำให้เศรษฐกิจไม่เติบโต เช่น ฝีกทักษะแรงงานให้เก่ง เรื่องนวัตกรรม และการทำกฎระเบียบของรัฐให้ดี เป็นต้น แต่ปัญหาเฉพาะหน้าที่กำลังจะเกิดขึ้น โดยตนอยากฝาก กมธ.การเศรษฐกิจ วุฒิสภา ช่วยติดตามและพิจารณา คือ ประเด็นที่เคยเป็นจุดแข็ง ได้แก่ การบริหารเศรษฐกิจมหภาค ทั้งการเงินและการคลัง จะไม่เป็นจุดแข็งอีกต่อไป เพราะรัฐบาลขาดความมีวินัย คือ วินัยการเงิน วินัยการคลังและวินัยการลงทุน ที่ผ่านมาเศรษฐกิจไม่เป็นวิกฤตแม้จะโตช้า เพราะยังมีวินัย
“ปัจจุบันภาระหนี้สาธารณะของไทยต่องบประมาณสูงขึ้น แม้ปีนี้จะอยู่ในระดับ 10% แต่หนี้ก้อนนี้จะโตถึง 15% อีกไม่กี่ปี ทั้งนี้ประเทศไทยมีเครดิตเรตติ้งดีพอสมควร คือ บีบีบวก แต่หนี้สาธารณะสูงกว่าประเทศที่มีเครดิตเรตติ้งต่ำกว่าหนึ่งระดับเรียบร้อยแล้ว ทำให้เกิดความเสี่ยงการคลังที่อาจถูกลดเกรดเครดิตเรตติ้งได้ หากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ต้นทุนการเงินสูง เอกชนไปออกพันธบัตร จะเป็นตัวฉุดเศรษฐกิจ” นายสมเกียรติ กล่าว
นายสมเกียรติ กล่าว รัฐคิดว่าเงินเป็นของฟรี แต่โลกเต็มไปด้วยความเสี่ยง ที่ต้องใช้งบฉุกเฉิน เช่น ภัยธรรมชาติ ที่คาดว่าจะรุนแรงมากขึ้นจากภาวะโลกร้อน โรคระบาด ความขัดแย้ง ทีดีอาร์ไอต้องการเห็นรัฐเป็นผู้แบกรับความเสี่ยงสุดท้าย แต่หากรัฐไม่ระวังจะเป็นผู้สร้างความเสี่ยงไปก่อนประชาชน
ประธานทีดีอาร์ไอ กล่าวด้วยว่าขณะที่นโยบายการเงินที่ผ่านมาเป็นไปอย่างอิสระและต้องเป็นไปอย่างอิสระ หากรัฐบาลเข้าไปแทรกแซงธนาคารกลางรัฐบาลอาจจะจบไม่สวย หรืออยู่ไม่ได้ เหมือนกับเหตุการณ์ในต่างประเทศที่นำการเมืองครอบธนาคารกลาง เช่น ตุรกี แคนนาดา อังกฤษ ที่ตนอยากให้เป็นอุทาหรณ์ที่ไทยควรเรียนรู้จากต่างประเทศ ทั้งนี้นโยบายการเงิน ถูกนโยบายการคลัง หรือรัฐบาลเข้าครอบงำ ซึ่งคนไทยอาจจะตายหมู่ได้