'รังสิมันต์' ขอสภาฯ หนุนแก้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยกเกาหลีใต้โมเดล
"ร้งสิมันต์" ยกเหตุเกาหลีใต้โมเดล เร่ง สภาฯ พิจารณาร่างกม. แก้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ให้ฝ่ายสภาฯมีอำนาจคานดุลทำงาน- ลดอำนาจกองทัพ
ที่รัฐสภา นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน กล่าวถึงสถานการณ์การเมืองในประเทศเกาหลีใต้ ว่า เป็นที่น่ากังวลของนักสังเกตการณ์ทุกคน ว่า สุดท้ายเราจะเห็นการรัฐประหาร ยึดอำนาจตัวเอง ของเกาหลีใต้หรือไม่ ถ้าเรื่องนี้เกิดขึ้นก็เป็นเรื่องใหญ่ เพราะทันทีที่เกิดขึ้นหากมีการรัฐประหารจะทำให้เกาหลีใต้ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่พัฒนาแล้ว และมีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ อาจจะทำให้สถานการณ์ของโลกเลวร้ายลงไปอีก ทั้งนี้ ในฐานะที่ตนเป็นนักการเมืองอยู่ในระบบของสภาประเทศไทย มีเจตจำนงสนับสนุนประชาธิปไตย กรณีนี้ของเกาหลีใต้ ตนก็สนับสนุนอยากให้มีประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง เพื่อจะได้เป็นหลักเป็นฐานให้กับประเทศอื่นต่อไป พร้อมย้ำว่า การพูดเรื่องนี้ไม่ใช่การแทรกแซงกิจการภายในของประเทศใด แต่เชื่อว่าหากกระบวนการประชาธิปไตยมีความเข้มแข็ง จะส่งผลต่อประเทศอื่นๆที่ต้องการสร้างประชาธิปไตยให้มีความเข้มแข็งเช่นเดียวกัน
นายรังสิมันต์ กล่าวต่อว่า สถานการณ์ในเกาหลีใต้ทำให้นึกถึงการยึดอำนาจ เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 ที่เริ่มต้นจากการใช้กฎอัยการศึก ทั้งนี้ตนหวังว่าประเทศไทยจะมีการจัดการ และดำเนินการในการสร้างความเข้มแข็งทางประชาธิปไตย ทั้งการแก้รัฐธรรมนูญที่ทำให้รัฐธรรมนูญมีความเข้มแข็ง และสะท้อนถึงเจตจำนงของประชาชน รวมถึงมีวิธีตอบโต้เมื่อมีความพยายามในการใช้อำนาจบางอย่างที่จะนำไปสู่การรัฐประหาร รวมถึงการปรับปรุงกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นกฎอัยการศึก ที่เป็นกฎหมายโบราณ ให้อำนาจฝ่ายทหารระดับสูง ซึ่งจำเป็นต้องมีการทบทวน ปรับปรุงกฎหมายฉบับนี้ รวมไปถึง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
"ผมได้ยื่นร่างแก้ไขกฎหมายบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่ค้างอยู่ในสภา ซึ่งตอนนี้ลำดับอยู่ต้นๆแล้ว โดยร่างกฎหมายนี้เราพยายามทำให้สภามีอำนาจในการพิจารณา เรื่องการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น เมื่อสถานการณ์ฉุกเฉินเกิดขึ้น จะมีขั้นตอนต่างๆ เช่น ให้อำนาจฝ่ายบริหาร ในการประกาศได้ 7 วัน แต่ถ้าจะมากกว่า 7 วันก็ต้องขอสภา พร้อมบอกแผน วิธีการต่อสภา โดยสภาต้องมีอำนาจในการพิจารณา ถ้าสภาไม่อนุมัติตกไป ซึ่งกระบวนการแบบนี้เป็นกระบวนการปกติ ที่เราจะเห็นได้ว่าอำนาจพิเศษไม่ได้อยู่กับฝ่ายบริหารโดยแท้ 100% แต่ต้องมีขั้นตอนทางกฎหมายที่ต้องขอความยินยอม หรือทำให้สภาสามารถตรวจสอบ หรือดำเนินการบางอย่างได้" นายรังสิมันต์ กล่าว
นายรังสิมันต์ กล่าวต่อว่า การรัฐประหารไม่ใช่สิ่งที่ควรจะยอมรับ และก่อวิกฤตปัญหาจำนวนมาก ซึ่งเราจะเห็นว่าสภาต้องเสนอร่างกฎหมายในการยกเลิกคำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ใช้เวลาและงบประมาณจำนวนมาก ดังนั้นควรยุติกรณีที่ฝ่ายกองทัพอยู่เหนืออำนาจประชาชนได้แล้ว และหลักการสำคัญของทั่วโลก ถ้าไปประเทศที่เจริญแล้ว คือกองทัพต้องอยู่ใต้พลเรือน ซึ่งก็หวังว่าเราจะใช้โอกาสนี้ทำให้ประเทศไทยมีระบบกฎหมายที่เข้มแข็ง และทำให้กองทัพอยู่ใต้พลเรือนอย่างแท้จริง