'กมธ.ประชามติ'ยอมรับมีจุดเสี่ยงแก้รธน.ถึงทางตัน หาก สว.ไม่เห็นชอบ

'กมธ.ประชามติ'ยอมรับมีจุดเสี่ยงแก้รธน.ถึงทางตัน หาก สว.ไม่เห็นชอบ

"กมธ.ประชามติ" สรุปรายงานส่งสองสภาฯ วันนี้ พร้อมยอมรับความเห็นต่างเกณฑ์ผ่านประชามติ กระทบแก้รธน. มองหาก สว. ยังค้าน แก้รธน.ถึงทางตัน

ที่รัฐสภา มีการประชุมของคณะกรรมาธิการ ร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ โดยภายหลังการประชุม  นายนิกร จำนง เลขานุการกรรมาธิการร่วม แถลงว่า   พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ แสงเพชร สว. ในฐานะประธานกรรมาธิการฯ ลงนามในรายงานเพื่อเสนอไปยังสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาในวันนี้  (4 ธ.ค.) หลังจากที่ประชุมได้สรุปและเห็นชอบรายงาน ที่ให้ใช้เสียงข้างมากสองชั้นในการทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญ คือ ต้องมีผู้มาใช้สิทธิ์ออกเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนผู้มีสิทธิ์ออกเสียง และมีคะแนนเสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ์ออกเสียง 

"ทราบว่าทางวุฒิสภาจะนำเข้าสู่ที่ประชุม สว. ในวันที่ 17 ธ.ค. ขณะที่สส.จะนำเข้าสู่การประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 18 ธ.ค.  หลังจากนี้ขึ้นอยู่กับความเห็นของทั้งสองสภา ซึ่งเชื่อว่า สส. และสว.จะยืนยันจุดยืนของตัวเอง ส่งผลให้ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติจะถูกแขวนไว้ 180 วัน หลังจากนั้น หากสส. ยังยืนยันในหลักการของตัวเองจึงจะประกาศบังคับใช้ได้" นายนิกร กล่าว

 

เมื่อถามว่า การที่ต้องพักร่างกฎหมายฉบับนี้ไว้ 6 เดือน จะทำให้การแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับไม่ทันในสมัยนี้ใช่หรือไม่ นายนิกร กล่าวว่า หากทำทั้งฉบับจะไม่ทันในสภา ชุดนี้แน่ เพราะนอกจากจะต้องรอ 180 วันแล้ว ยังต้องรอคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกอนุบัญญัติที่เกี่ยวข้องอีก 1 เดือนจึงจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ได้ ขณะที่สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี จะต้องเชิญ กกต. และสำนักงบประมาณมาชี้แจงว่าจะต้องใช้งบประมาณในการทำประชามติเท่าไหร่ เพื่อส่งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ลงมติ จากนั้น จึงจะเข้าสู่ขั้นตอนการทำประชามติ รวมแล้วใช้เวลาเกือบปี 

“ดังนั้น คาดว่าจะทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญได้ ช่วงปลายเดือนธันวาคม 2568 ถึงต้นมกราคม 2569 จึงค่อยดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256 ดูแล้วไม่น่าจะมีรัฐธรรมนูญใหม่ทันในรัฐบาลชุดนี้” นายนิกร กล่าว

ด้านนายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร สว. ฐานะโฆษกกรรมาธิการร่วมกล่าวว่าในการตัดสินสุดท้าย รัฐธรรมนูญกำหนดให้ใช้มติของสส. นั้น สว.ไม่ได้เหนื่อยฟรีใ ต่างคนต่างเคารพความเห็นซึ่งกันและกัน หากแก้ไม่ทันก็ต้องมาพิจารณาแก้รายมาตรา สว. ไม่ได้ยึดหลักเสียงข้างหน้าสองชั้นทั้งหมด จะดูเฉพาะเรื่องที่ไม่ผูกพันกับคนทั้งประเทศ หากจะแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา ต้องดูว่าจะแก้ในเรื่องใด และประชาชนมีส่วนร่วมมากแค่ไหน กรณีการแก้ไขมาตรา 256 สว.ยังไม่มีความเห็น แต่เราไม่มีธงพร้อมรับฟังความคิดเห็น

ขณะที่นายกฤช เอื้อวงศ์ กรรมาธิการ กล่าวว่า เงื่อนไขอยู่ที่จะทำประชามติกี่ครั้ง ซึ่งหากทำประชามติสามครั้ง จะใช้เวลา 2 ปี ซึ่งจะพ้นระยะเวลาของสภาฯ ชุดนี้ แต่อย่างน้อยที่สุดช่วงเวลานี้ก็จะมี สสร. เพื่อมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่หากทำประชามติสองครั้งระยะเวลาก็จะสั้นลงมาอย่างน้อย 180 วัน ซึ่งอาจจะทันอายุของสภาชุดนี้ แต่ทั้งนี้เราก็ยังไม่ได้คำตอบสุดท้ายว่าจะทำประชามติทั้งหมดกี่ครั้ง ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการเสนอแก้มาตรา 256 ด้วย เพราะต้องได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาด้วย แต่หากไม่ได้รับความเห็นชอบก็จะไปสู่ทางตัน.