พท. ถอยปมกลาโหมรักษา‘แนวรุก’ จับตาวาระร้อนรื้อ‘พ.ร.ป.ปปช.-ก.ม.ลูก’

พท. ถอยปมกลาโหมรักษา‘แนวรุก’  จับตาวาระร้อนรื้อ‘พ.ร.ป.ปปช.-ก.ม.ลูก’

ถอยปมกลาโหมรักษา‘แนวรุก’ พท.จ่อถอนร่างกฏหมาย ถอดชนวนการเมือง-กองทัพ จับตาเปิดสภาฯ 12 ธ.ค. วาระรื้อ‘พ.ร.ป.ปปช.-ก.ม.ลูก’

KEY

POINTS

  • เมื่อพ.ร.บ.ริบอำนาจกลาโหม ส่อแววเป็นชนวน“ระเบิดลูกใหม่” เพื่อไทยย่อมต้องประเมินความคุ้มได้-คุ้มเสีย หากขืนเปิดหน้าชนกองทัพ ไม่เพียงแต่แรงต้านที่จะกระทบไปถึงวาระอื่นๆ แต่อาจลามเสถียรภาพรัฐบาล ที่ต้องล้มเป็น"โดมิโน่"ทั้งกระดาน
  • อย่าลืมว่า ไม่เพียงกฎหมายกลาโหมฉบับเดียวที่ถูกเสนอเข้าสภาฯ แต่พรรคเพื่อไทย ยังมีวาระสำคัญที่ต้องสะสางโดยเฉพาะบรรดากฎหมายลูก ที่จะมีผลในเชิงโครงสร้างใหญ่มากกว่า อาทิ ร่าง “พ.ร.ป.ป.ป.ช.” 
  • พ.ร.ป.พรรคการเมือง” กุญแจดอกสำคัญ” ที่อาจเปิดทางให้ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี นายใหญ่เพื่อไทย ได้เป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยแบบสมบูรณ์ ในทางนิตินัย
  • นับตั้งแต่วันที่ 12 ธ.ค.นี้เป็นต้นไปการเมืองยังมีอีกหลายฉากหลายตอนให้ต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง

เสียงคัดค้านดังกึกก้อง หลังสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เผยแพร่การรับฟังความเห็นตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 ในส่วนของ ร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่...) พ.ศ.... ที่เสนอโดย“ประยุทธ์ ศิริพานิชย์”สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ซึ่งตามกำหนดเดิม จะเปิดรับฟังความเห็นตั้งแต่วันที่ 2 ธ.ค.2567 ถึงวันที่ 1 ม.ค.2568

ทว่า ผ่านไปเพียง 1 สัปดาห์ ดูเหมือนว่า นาทีนี้กระแสจะตีกลับไปยังพรรคเพื่อไทย ท่ามกลางการจับตาเนื้อหาที่สุ่มเสี่ยงจะ “สุดซอย” โดยเฉพาะเนื้อหาที่ระบุว่า จะต้องส่งโผทหารที่ผ่านบอร์ด 7 เสือกลาโหมเข้า ครม. หรือการแก้ไขสัดส่วนทหารในสภากลาโหมให้ “นายกฯ”เป็นประธานสภากลาโหม

ประเด็นอ่อนไหวนี้ อาจกลายเป็นชนวน“ระเบิดลูกใหม่” จนสร้างแรงสั่นสะเทือนไปยังพรรคเพื่อไทย เห็นชัดจากท่าทีพรรคร่วมรัฐบาล ทั้ง ภูมิใจไทย รวมไทยสร้างชาติ

หรือแม้แต่ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ฝ่ายแค้นที่รอจังหวะเอาคืนพรรคเพื่อไทย ต่างประกาศกร้าว “ไม่เห็นด้วย” กับร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว

พท. ถอยปมกลาโหมรักษา‘แนวรุก’  จับตาวาระร้อนรื้อ‘พ.ร.ป.ปปช.-ก.ม.ลูก’

แน่นอนว่า พรรคเพื่อไทยย่อมล่วงรู้ถึง"อำนาจแฝง" ที่ส่งสัญาณเปิดเกมโดดเดี่ยว "ค่ายสีแดง" ในสภาฯ ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นในกรณีการ“โยนหิน”ถามทาง เรื่องนิรโทษกรรมพ่วงมาตรา 112 ซึ่ง “พรรคร่วมรัฐบาล” ต่างประสานเสียงไม่เอาด้วย จนกระทั่งโหวตคว่ำ 6 ข้อสังเกต ในรายงานกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญศึกษาแนวทางการตราร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่มี "ชูศักดิ์ ศิรินิล" รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ทิ้งทวนปิดสมัยประชุมสภาฯ ในสมัยที่แล้ว 

ฉะนั้นต่อให้ “พรรคเพื่อไทย” จะจับมือรวมกันเฉพาะกิจกับ “พรรคประชาชน” ซึ่งเสนอกฎหมายในทำนองเดียวกัน แต่ก็ยังมีด่านสว. ซึ่งเป็นที่รู้กันว่า เวลานี้ถูกสีไหนปกคลุมเป็นด่านสกัดขัดขวางอยู่ดี 

จึงเห็นชัดจากสัญาณใส่เกียร์ถอยของพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะ “ประยุทธ์ ศิริพานิชย์” ในฐานะผู้เสนอร่างพ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ได้เตรียมเสนอต่อสภาฯ เพื่อถอนร่างกฎหมายดังกล่าวออกจากวาระ เมื่อเปิดประชุมสภาในวันที่ 12 ธ.ค.นี้

เชื่อได้ว่า พรรคเพื่อไทยย่อมต้องประเมินความคุ้มได้-คุ้มเสียแล้ว หากยังขืนเปิดหน้าชนกองทัพดันวาระร้อน ไปถึงสุดซอย ไม่เพียงแต่แรงต้านที่จะกระทบไปถึงวาระอื่นๆ ที่ค้างคาอยู่ในสภา แต่อาจลามไปถึงเสถียรภาพรัฐบาล ที่อาจล้มเป็นโดมิโน่ทั้งกระดาน

อย่าลืมว่า ไม่เพียงกฎหมายกลาโหมฉบับเดียวที่ถูกเสนอเข้าสภาฯ แต่พรรคเพื่อไทย ยังมีวาระสำคัญที่ต้องสะสางโดยเฉพาะบรรดากฎหมายลูก ที่จะมีผลในเชิงโครงสร้างใหญ่มากกว่า

พท. ถอยปมกลาโหมรักษา‘แนวรุก’  จับตาวาระร้อนรื้อ‘พ.ร.ป.ปปช.-ก.ม.ลูก’

ไม่ว่าจะเป็นร่างแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต หรือ “พ.ร.ป.ป.ป.ช.” 

ล่าสุดมีสัญญาณชัดมาจาก “วิสุทธิ์ ไชยณรุณ” สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล)ระบุว่า จะมีการนำเข้าหารือในวงประชุมวิป 3 ฝ่าย ซึ่ง “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” เป็นประธาน  เพื่อขอความเห็นก่อนบรรจุเข้าวาระ หลังเปิดสภาในวันที่ 12 ธ.ค. โดยจะมีทั้งร่างแก้ไขในส่วนของของคณะรัฐมนตรี (ครม.) และฝ่ายค้าน

เนื้อหาสาระในกฎหมายฉบับดังกล่าว ตามที่ “ชูศักดิ์ ศิรินิล” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เคยเปิดเผยไปตั้งแต่เมื่อเดือนก.ย.ที่ผ่านมา 

จะมีทั้ง  กรณีแรก คือ ความผิดบางประเภทที่ ป.ป.ช.สั่งไม่มีมูล หรืออัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้อง ก็ให้สิทธิผู้เสียหายฟ้องคดีได้ ถัดมา คือประเด็น “ริบดาบ ป.ป.ช.” ที่สามารถฟ้องเองได้ กรณีที่ “ป.ป.ช.”และ  “อัยการสูงสุด” มีความเห็นที่ต่างกัน เป็นต้น 

นอกจากนี้ ยังมีร่าง “พ.ร.ป.พรรคการเมือง” ซึ่งชูศักดิ์ เคยเปิดเผยไว้ในคราวเดียวกันว่า ประเด็นสำคัญที่จะเสนอแก้ไข อาทิ เรื่องความเป็นสมาชิกพรรคการเมือง เดิมใช้คุณสมบัติผู้สมัคร สส.ทำให้หลายคนไม่สามารถเป็นสมาชิกพรรคได้ จึงควรจะเปิดกว้างให้กับทุกคน

ประเด็นนี้แม้ “ชูศักดิ์” จะบอกว่า ไม่ได้เอื้อประโยชน์ใคร แต่อีกมุมหนึ่งมีการจับสัญญาณว่า กฎหมายฉบับนี้จะเป็น “กุญแจดอกสำคัญ” ที่อาจเปิดทางให้ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี นายใหญ่เพื่อไทย ได้เป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยแบบสมบูรณ์ ในทางนิตินัยหรือไม่ 

หากเป็นไปตามนี้ ต่อไปบรรดา“นักร้อง”ก็จะไม่สามารถร้องเรียนในประเด็น“ครอบงำพรรค”ได้อีกต่อไป

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นการ “ยุบพรรค” ที่จะต้องเน้นเฉพาะประเด็นล้มล้างการปกครอง ส่วนการ “ครอบงำพรรค” จะต้องปรับให้รัดกุมมากขึ้น

พท. ถอยปมกลาโหมรักษา‘แนวรุก’  จับตาวาระร้อนรื้อ‘พ.ร.ป.ปปช.-ก.ม.ลูก’

ยังไม่นับรวม ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งพรรคเพื่อไทยเคยเสนอเข้าสู่สภาฯไปเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ควบคู่ไปกับร่าง พ.ร.ป.ป.ป.ช.

เวลานั้นบรรดา“คีย์แมนพรรคเพื่อไทย” พยายามอธิบายว่า เป็นการเปิดทางให้ผู้เสียหายจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ สามารถใช้สิทธิในกระบวนการยุติธรรม โดยการฟ้องคดีเพื่อพิสูจน์ความยุติธรรมได้

เมื่ออ่านชื่อกฎหมายดูแล้ว ย่อมถูกจับตาถึง “วาระแอบแฝง” ที่อาจสอดไส้ไปถึงบรรดาคดีความของ“นักเลือกตั้ง” หรือ“บิ๊กเนมการเมือง”ที่ค้างคาอยู่ในกระบวนการหรือไม่ อย่างไร

ทว่า เมื่อกฎหมายถูกบรรจุวาระพิจารณาของรัฐสภา ในเวลาต่อมากลับมีสัญญาณ “ใส่เกียร์ถอย” มาจากพรรคต้นเรื่อง ถอนร่างดังกล่าวออกจากสภาฯ ก่อนวันประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาวาระดังกล่าวเพียง 1 วัน ด้วยเหตุผล ถูกแตะเบรกจาก“องค์กรอิสระ”ที่ไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาที่มีความสุ่มเสี่ยงจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ

เบื้องลึกการถอนร่างกฎหมายเวลานั้น ว่ากันว่า มีสัญญาณมาจากหลายทิศหลายทาง ไม่ว่าจะเป็นสัญญาณจากผู้มีอำนาจฝั่ง “ขั้วอำนาจเก่า” ท่ามกลางสัญญาณการเดินทางกลับไทยของ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ที่อาจไปกระทบต่อดีลสำคัญ เนื่องจากยิ่งลักษณ์จะถูกมองว่ามีส่วนได้ส่วนเสียกับกฎหมายดังกล่าว

สถานการณ์ที่ไร้กระแสตอบรับ ย่อมต้องจับตาจังหวะก้าวย่างของพรรคเพื่อไทย ที่ส่งสัญญาณถอย“ปมร้อน” เพื่อรักษา“แนวรุก” และ“แนวร่วม” โดยเฉพาะบรรดากฎหมายที่เตรียมเสนอเข้าสู่สภาฯทั้งกฎหมายที่เคยเสนอก่อนหน้านี้แต่ถอนออกไป หรือกฎหมายที่จะเสนอใหม่อาทิ ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม  ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกฎหมายสำคัญที่พรรคเพื่อไทยเตรียมเสนอหลังเปิดสภา

ฉะนั้นนับตั้งแต่วันที่ 12 ธ.ค.นี้เป็นต้นไปการเมืองยังมีอีกหลายฉากหลายตอนให้ต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง