พ.ร.บ.กลาโหมส่อ‘สุดซอย’ เพื่อไทย vs อำนาจเก่า

พ.ร.บ.กลาโหมส่อ‘สุดซอย’  เพื่อไทย vs อำนาจเก่า

พ.ร.บ.กลาโหมส่อ ‘สุดซอย’ เพื่อไทย vs อำนาจเก่า ศึกวัดพลัง‘ความมั่นคง-การเมือง’ อ่านเกมสภาฯ ‘พรรคร่วม-สว.’ขวากหนาม

KEY

POINTS

  • พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ที่เสนอโดย  “ประยุทธ์ ศิริพานิชย์” ถูกจับจ้องจะกลายเป็นการจุดชนวน“ระเบิดลูกใหม่”สร้างแรงสั่นสะเทือนไปยังพรรคเพื่อไทย
  • ไล่ลึกลงไปในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะเห็นสัญญาณการเปลี่ยนแปลงในเชิง “โครงสร้างอำนาจ”อย่างชัดเจน
  • เปิดช่องให้ ครม.ซึ่งมาจากฝ่ายการเมือง “ล้วงลูก” บัญชีแต่งตั้งโยกย้าย หมายรวมไปถึงการการ “สั่งทบทวนรายชื่อ” เรียกภาษาชาวบ้านคือ “รื้อโผ” นั่นเอง 
  • การส่งบทให้ “ประยุทธ์” ซึ่งเป็นรู้กันดีว่า เคยเสนอแปรญัตติร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม จากฉบับ นปช.เป็นฉบับสุดซอย ในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ เปิดหน้ารับบทเป็นหัวหมู่ทะลวงฟัน เสนอกฎหมายเผือกร้อน มีนัยสำคัญที่ต้องจับตา 
  • จับตาทีจาก “กองทัพ” และ “ผบ.เหล่าทัพ” ที่มีต่อพรรคเพื่อไทยในฐานะเจ้ากระทรวง ว่ากันว่า ร่างของ “ประยุทธ์” อาจหนักกว่าร่างที่ผ่านกลาโหม หรือเรียกว่าเป็น“ฉบับสุดซอย”นั่นเอง 

หลังจากที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เผยแพร่การรับฟังความเห็นตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 ในส่วนของ

ร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่...) พ.ศ.... ที่เสนอโดย  “ประยุทธ์ ศิริพานิชย์” สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย 

เบื้องต้นได้รับคำวินิจฉัยจากประธานสภาฯ ว่าไม่เป็นร่างการเงิน และได้เปิดรับฟังความเห็น ตั้งแต่วันที่ 2 ธ.ค.2567 ถึงวันที่ 1 ม.ค. 2568

ทว่า หลังเปิดโหวตเพียงสัปดาห์เดียว หลายฝ่ายต่างจับจ้องว่า ทำไปทำมากฎหมายฉบับนี้จะกลายเป็นการจุดชนวน“ระเบิดลูกใหม่”จนสร้างแรงสั่นสะเทือนไปยังพรรคเพื่อไทย ในฐานะแกนนำรัฐบาลซึ่งเป็นต้นเรื่อง    

ไล่ลึกลงไปในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะเห็นสัญญาณการเปลี่ยนแปลงในเชิง “โครงสร้างอำนาจ”อย่างชัดเจน

ไม่ว่าจะเป็น มาตรา 35 ที่ระบุว่า ห้ามใช้กำลังทหารเพื่อกระทำการที่มิชอบด้วยกฎหมายบางประการ เช่น ยึดอำนาจจากรัฐบาล ก่อกบฏ ขัดขวางการปฏิบัติราชการ เพื่อธุรกิจ หรือกิจการที่เป็นประโยชน์ส่วนตัวของผู้บังคับบัญชา เป็นต้น

ขณะที่การใช้กำลังทหารเพื่อการปราบปรามการจลาจลให้เป็นไปตามที่กระทรวงกลาโหมกำหนด โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี

อีกทั้ง เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่านายทหารชั้นสัญญาบัตรผู้ใด ได้กระทำการ หรือตระเตรียมการเพื่อกระทำการตามมาตรา 35 วรรคหนึ่ง (1)ให้นายกรัฐมนตรี โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจให้นายทหารผู้นั้นหยุดปฏิบัติหน้าที่ไว้เป็นการชั่วคราวในระหว่างรอการสอบสวน โดยไม่ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนการสั่งพักราชการตามที่กฎหมายกำหนดไว้

พ.ร.บ.กลาโหมส่อ‘สุดซอย’  เพื่อไทย vs อำนาจเก่า

นอกจากนี้ มาตรา 42 ในส่วนของ “สภากลาโหม”จากเดิมที่ให้ “รมว.กลาโหม”เป็นประธานสภากลาโหม เปลี่ยนเป็น “นายกรัฐมนตรี” เป็นประธานสภากลาโหม

นอกจากนี้ ยังมีกรณี การแต่งตั้งนายทหาร “ชั้นนายพล” ที่ต้องเสนอ ครม.เห็นชอบ และครม.สามารถสั่งทบทวนรายชื่อใหม่ได้ 

โดยฝั่ง“ผู้เสนอร่าง”ให้เหตุผลว่า ครม.เป็นองค์กรสูงสุดในฝ่ายบริหาร แต่กลับไม่มีหน้าที่ และอำนาจในการพิจารณาและให้ความเห็นชอบการแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพล 

อีกทั้งทำให้การแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพล มีการวางตัวบุคคลของทางกองทัพที่เป็นพวกพ้องของผู้บัญชาการเหล่าทัพ ให้สืบสายเป็นผู้บัญชาการเหล่าทัพต่อไป อันทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมกับนายทหารที่มีความรู้ความสามารถ แต่มิใช่พวกพ้องของผู้บัญชาการเหล่าทัพทำให้ไม่มีโอกาสได้ก้าวหน้าในชีวิตราชการทหาร

ทว่า ประเด็นนี้ยังมี “มุมเห็นต่าง” ตรงที่ จะยิ่งเป็นการเปิดช่องให้ ครม.ซึ่งมาจากฝ่ายการเมือง “ล้วงลูก” บัญชีแต่งตั้งโยกย้ายได้โดยสะดวกโยธินหรือไม่ เพราะอำนาจตาม พ.ร.บ.ไม่ใช่แค่ให้ ครม.เห็นชอบ

แต่ยังหมายรวมไปถึงการการ “สั่งทบทวนรายชื่อ” เรียกภาษาชาวบ้านคือ “รื้อโผ” นั่นเอง เช่นนี้จะกลับกลายเป็นว่า โผโยกย้ายนายพลในแต่ละเหล่าทัพ ก็จะถูกแจกจ่ายให้กับพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองที่เรืองอำนาจไปโดยปริยาย

พ.ร.บ.กลาโหมส่อ‘สุดซอย’  เพื่อไทย vs อำนาจเก่า

บทเรียนหลอน“2 นายกฯชินวัตร”

พรรคเพื่อไทยซึ่งเรียนรู้ถึงแผลเก่า เหตุการณ์รัฐประหาร 2 ครั้ง ส่งผลให้“2 นายกฯตระกูลชินวัตร”เดินทางออกนอกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นรัฐประหาร 2549 ยุค “ทักษิณ ชินวัตร” เป็นนายกฯ และรัฐประหาร 2557 ขณะ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” เป็นนายกฯ

เป็นเช่นนี้จึงไม่แปลก ที่ในยุคพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล มีนายกฯ“แพทองธาร ชินวัตร” แถว 3 ของตระกูลชินวัตร ดังนั้นความพยายามในการรวบอำนาจกองทัพแบบเบ็ดเสร็จ เพื่อตัดวงจรการยึดอำนาจเป็นรอบ 3 ก่อนจะก่อตัว ย่อมมีต้นเรื่องมาจาก “พลพรรคชินวัตร”

เทียบ 2 เวอร์ชั่น"พท.-กลาโหม"  

จะว่าไปแล้ว ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ ไม่ได้เป็นเวอร์ชั่นแรกที่ถูกเสนอโดยพลพรรคเพื่อไทย เพราะก่อนหน้า ในช่วงรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ที่มี “สุทิน คลังแสง” เป็นรมว.กลาโหม เคยมีการยกร่างแก้ไขร่างกฎหมาย 2 ฉบับ คือ ร่างพ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร และร่างพ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม 

โฟกัสไปที่ฉบับหลัง มีเนื้อหาสาระสำคัญ อาทิ การกำหนดเงื่อนไขการแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพล โดยให้กระทรวงกลาโหมกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะได้รับแต่งตั้งนายพลในแต่ละระดับไว้ 3 ประการ

1. ต้องไม่เคยมีพฤติกรรมเป็นผู้มีอิทธิพล หรือมีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับยาเสพติด การค้ามนุษย์ การทำลายทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าโดยตรงหรือทางอ้อม 

2. ต้องไม่เป็นคู่สัญญากับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงกลาโหม หรือประกอบธุรกิจ หรือกิจการ 

3. ไม่อยู่ในระหว่างถูกสอบสวนทางวินัย หรือระหว่างถูกดำเนินคดีอาญา เว้นแต่ความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท ความผิดฐานหมิ่นประมาท หรือความผิดลหุโทษ

นอกจากนี้ ยังให้อำนาจนายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี มีคำสั่งให้พักราชการทันที เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าข้าราชการทหารผู้ใดที่ใช้กำลัง ทหารเพื่อยึด หรือควบคุม อำนาจการบริหารราชการแผ่นดินจากรัฐบาล หรือเพื่อก่อการกบฏ และมีการแก้ไขเพิ่มเติมเรื่องสมาชิกสภากลาโหม ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธาน โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี มีอำนาจแต่งตั้งซึ่งเพิ่มขึ้นเป็น 5 คน จากเดิมกำหนดไว้เพียง 3 คน เป็นต้น 

โดยกฎหมายผ่านสภากลาโหมที่มี “สุทิน” เป็นประธานไปเมื่อวันที่ 16 ส.ค.2567 ที่ผ่านมา ก่อนโหวต “แพทองธาร” เป็นนายกฯคนที่ 31 เพียงไม่กี่ชั่วโมง 

พ.ร.บ.กลาโหมส่อ‘สุดซอย’  เพื่อไทย vs อำนาจเก่า

ส่งบท“ประยุทธ์”พ.ร.บ.ส่อ“สุดซอย?”

พลันที่เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นดังกล่าว แม้บรรดาขุนพลพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะ“บิ๊กอ้วน” ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯและรมว.กลาโหม จะชิงออกมาปฏิเสธ พร้อมยืนยันว่า ยังยึดร่างเดิมที่ผ่านสภากลาโหม ส่วนอีกร่างที่ ประยุทธ์ ศิริพานิชย์ เสนอไม่ใช่จุดยืนของพรรคเพื่อไทย แต่เป็นการเสนอในนามส่วนตัวของสส.

ทว่า การส่งบทให้ “ประยุทธ์” ซึ่งเป็นรู้กันดีว่า เคยเสนอแปรญัตติร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม จากฉบับ นปช.เป็นฉบับสุดซอย ในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ได้จุดชนวนการเมืองในสถานการณ์สุกงอม มารอบนี้เปิดหน้ารับบทเป็นหัวหมู่ทะลวงฟัน เสนอกฎหมายเผือกร้อนอีกครั้ง ย่อมมีนัยสำคัญที่ต้องจับตา 

โดยเฉพาะท่าทีจาก “กองทัพ” และ “ผบ.เหล่าทัพ” ที่มีต่อพรรคเพื่อไทยในฐานะเจ้ากระทรวง ที่กำลังถูกจับตามอง หลังจากมีการประเมินว่า เนื้อหาในร่างที่ สส.ประยุทธ์ เสนอ โดยเฉพาะประเด็นส่งโผทหาร ที่ผ่านบอร์ด 7 เสือกลาโหม เข้าครม. หรือการแก้ไขสัดส่วนทหารในสภากลาโหม ให้ “นายกฯ” เป็นประธานสภากลาโหม  

ที่ว่ากันว่าอาจหนักกว่าร่างที่ผ่านกลาโหม หรือเรียกว่าเป็น“ฉบับสุดซอย”นั่นเอง 

พ.ร.บ.กลาโหมส่อ‘สุดซอย’  เพื่อไทย vs อำนาจเก่า

เปิดแนวรบ “ชิงฐานสีส้ม”

ที่น่าสนใจ คือการเสนอร่างกฎหมายของพรรคเพื่อไทยกลับมีเสียงขานรับจากพรรคประชาชาชน ซึ่งชูธงเรื่องการปฏิรูปกองทัพมาตั้งแต่สมัยพรรคอนาคตใหม่ และพรรคก้าวไกล 

โดยเฉพาะ “พริษฐ์ วัชสินธุ์”  โฆษกพรรคประชาชน  ที่มองว่า เนื้อหาในร่างของเพื่อไทยโดยรวมแล้วเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับร่างของก้าวไกล แต่ 1 ประเด็นสำคัญที่ร่างของเพื่อไทยไม่ได้เสนอแก้ไขคือเรื่องของ “อำนาจสภากลาโหม”

เช่นนี้เป็นไปได้ว่า การเสนอกฎหมายของพรรคเพื่อไทยอาจมีนัยหวังผลไปที่การเปิดแนวรบ “ชิงฐานสีส้ม” ที่พยายามปลุกกระแสคนรุ่นใหม่ รวมทั้งกลุ่มคนที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงในกองทัพ

พรรคร่วม-สว.ส่อเดินเกมโดดเดี่ยว

ต่างจาก สัญญาณที่ดังมาจากฝ่าย “ขั้วอำนาจเดิม”ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับกองทัพเวลานี้ ย่อมล่วงรู้ถึงดุลอำนาจที่อาจสูญเสียไป

ไม่เว้นแม้แต่พรรคร่วมรัฐบาล เห็นชัดจากท่าทีของ “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกฯและรมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ที่ประกาศชัดไม่เห็นด้วยกับกฎหมายฉบับดังกล่าว พร้อมทั้งย้ำหนักแน่นว่า นักการเมืองอย่าสร้างเงื่อนไข

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ฉากการเมืองของ“ภูมิใจไทย” พยายามโชว์บทบาทซื้อใจอนุรักษนิยม ไม่ว่าจะเป็นการโชว์ความเป็นเลือดสีน้ำเงินเข้ม ไม่เห็นด้วยการการนิรโทษกรรมในมาตรา 112 

ไม่แปลก หากรอบนี้ภูมิใจไทยจะเล่นบทเดิม คือเลือกที่จะไม่ปะทะกับกองทัพ

ฉะนั้น นอกเหนือจากมิติความมั่นคงแล้ว ยังต้องจับตาในมิติการเมือง ซึ่งประเด็นนี้อาจเป็นเรื่องร้อน เสี่ยงซ้ำรอยกรณีการ “โยนหิน” ถามทาง เรื่องนิรโทษกรรมพ่วงมาตรา 112 ซึ่ง “พรรคร่วมรัฐบาล” ต่างประสานเสียงไม่เอาด้วย หรือไม่  

 แม้พรรคเพื่อไทยจะถือเสียงข้างมากในสภาฯ หากจับมือพรรคประชาชนดันกฎหมายฉบับนี้ โอกาสผ่านสภาล่างก็ไม่ยากเย็นนัก 

แต่ต้องไม่ลืมว่า ยังมีด่านสภาสูง คือสว.ที่เวลานี้ปกคลุมด้วยสีน้ำเงิน ซึ่งจะเป็นด่านสุดท้าย ยังไม่นับรวมสารพัดกลเกมที่รอเช็กบิลระหว่างทางต่อจากนี้

เหนือสิ่งอื่นใดคือ การเสนอแก้กฎหมายดังกล่าวถึงเวลาจริงก็อาจเป็นแค่การ“สกัด-ยับยั้ง” เท่านั้น แต่สิ่งที่จะ “การันตี” ว่าการรัฐประหารจะเกิดขึ้นหรือไม่ อยู่ที่กฎหมายสูงสุดคือ “รัฐธรรมนูญ” 

เพราะต่อให้มีกฎหมายกี่ฉบับแต่การรัฐประหารที่เกิดขึ้นในอดีตทุกครั้งบทสรุปสุดท้ายจะจบลงด้วยการฉีกรัฐธรรมนูญอยู่ดี!