7 อดีตผู้สมัคร สว.แห้ว! ศาล รธน.ไม่รับคำร้องปมกล่าวหา กกต.จัดเลือกไม่สุจริต

7 อดีตผู้สมัคร สว.แห้ว! ศาล รธน.ไม่รับคำร้องปมกล่าวหา กกต.จัดเลือกไม่สุจริต

7 อดีตผู้สมัคร สว.แห้ว! ศาลรัฐธรรมนูญมติเอกฉันท์ ไม่รับคำร้องกล่าวหา กกต. ปมจัดการเลือกตั้ง สว.ปี 67 โดยไม่สุจริตเที่ยงธรรม เหตุยื่นคำร้องไม่ตรงตามหลักเกณฑ์-เงื่อนไข

เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 2567 ศาลรัฐธรรมนูญประชุมปรึกษาคดีที่สำคัญและเป็นที่สนใจ คดีผู้สมัคร สว.เมื่อปี 2567 ร้องคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รวม 7 สำนวน กรณีกล่าวหาว่า กกต.จัดการเลือก สว.โดยไม่สุจริต และเที่ยงธรรม และไม่เป็นไปโดยลับ โดยศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้รวมคำร้องทั้งหมดเป็นสำนวนเดียว ได้แก่ นายสมบูรณ์ ทองบูราณ เรื่องพิจารณาที่ ต. 61/2563 นายวัฒนา ชมเชย เรื่องพิจารณาที่ ต. 62/2563 ว่าที่ร้อยตรี วิชชุกร คำจันทร์ เรื่องพิจารณาที่ ต. 65/2563 นายจิรัฏฐ์ แจ่มสว่าง เรื่องพิจารณาที่ ต. 67/2567 นายปรีชา เดชาเลิศ เรื่องพิจารณาที่ ต. 68/2563 นางฤติมา กันใจมา เรื่องพิจารณาที่ ต. 69/2567 และ พลตรีหญิง บุณญารัศม์ พัฒนะมหินทร์ เรื่องพิจารณาที่ ต. 70/2563

ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาโดยการอภิปรายแล้วเห็นว่า คดีทั้งเจ็ดคำร้องเป็นเรื่องเกี่ยวกับ การดำเนินการจัดการเลือกสมาชิกวุฒิสภาของคณะกรรมการการเลือกตั้ง และขอให้ตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกสมาชิวุฒิสภา เป็นกรณีตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 47 (2) ที่บัญญัติว่า "การใช้สิทธิยื่นคำร้องตามมาตรา 46 ... ต้องมิใช่เป็นกรณีอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้ ... (2) รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายประกอบได้กำหนดกระบวนการร้องหรือผู้มีสิทธิขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัยไว้เป็นการเฉพาะ และวรรคสาม บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณา ดังนั้น ผู้ร้องไม่อาจยื่นคำร้องดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213

สำหรับกรณีผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 48 โดยยื่นคำร้องผ่านผู้ตรวจการแผ่นดินตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 231 (1) ซึ่งมิใช่การยื่นคำร้องตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 กรณีไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 46 ประกอบมาตรา 48

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์มีคำสั่งไม่รับคำร้องทั้งเจ็ดไว้พิจารณาวินิจฉัย