มติศาล รธน.เอกฉันท์ตีตก 2 คำร้องล้มเลือก สว.

มติศาล รธน.เอกฉันท์ตีตก 2 คำร้องล้มเลือก สว.

ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเอกฉันท์ไม่รับ 2 คำร้องล้ม 'เลือก สว.' ชี้การยื่นไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์-วิธีการตามกฎหมาย 

เมื่อวันที่ 2 ต.ค. 2567 ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเป็นเอกฉันท์ไม่รับคำร้องเกี่ยวกับการเลือก สว.ปี 2567 เป็นโมฆะไว้พิจารณาวินิจฉัย จำนวน 2 คำร้อง ได้แก่ คำร้องแรก กรณีนายนพดล สุดประเสริฐ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ว่า พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา 2561 มาตรา 15 วรรคสาม ที่บัญญัติว่า ผู้สมัครมีสิทธิสมัครในกลุ่มตามมาตรา 11 (20) ได้ แม้จะมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ อาชีพ ลักษณะหรือประโยชน์ร่วมกัน หรือทำงานหรือเคยทำงานด้านอื่นในกลุ่มอื่น ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 107 วรรคหนึ่งและวรรคสอง หรือไม่

โดยศาลฯอภิปรายแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้อง นายนพดลขอให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย รัฐธรรมนูญบัญญัติให้สิทธิในการยื่นคำร้อง ไว้เป็นการเฉพาะแล้วตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 และมาตรา 231 (1) กรณีไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 48 ประกอบมาตรา 47 (2) ซึ่งมาตรา 46 วรรคสาม บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณา ดังนั้น ผู้ร้องไม่อาจยื่นคำร้องดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213

คำร้องที่สอง กรณี พล.ต.ท. กฤตไชย ทวนทอง  และนายแดน ปรีชา  (ผู้ร้องรวม 2 คน) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่า การที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)และเลขาธิการกกต. และพวกรวม8คนร่วมกันดำเนินการประกาศรับรองผลการเลือกสมาชิกวุฒิสภา ออกประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง ผลการเลือกสมาชิกวุฒิสภา ลงวันที่ 10ก.ค.67 ทั้งที่ มีเหตุอันควรสงสัยและมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าการเลือกสมาชิกวุฒิสภา 2567ระดับอำเภอ เมื่อวันที่ 9มิ.ย.67 ระดับจังหวัด เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.67 และระดับประเทศ เมื่อวันที่ 26มิ.ย.67 มิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม การกระทำของกกต. และเลขาธิการกกตที่มิได้สั่งระงับ ยับยั้ง แก้ไข เปลี่ยนแปลง ยกเลิก การเลือก และสั่งให้ดำเนินการเลือกใหม่ หรือนับคะแนนใหม่ เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย เป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลาย ทำให้เสื่อมทราม อ่อนแอลง หรือทำลายล้างสถาบันนิติบัญญัติอันเป็นหนึ่งในอำนาจอธิปไตย เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตาม รัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง

โดยศาลฯอภิปรายแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้อง ไม่มีข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐานที่ชัดเจนเพียงพอที่แสดงให้เห็นว่าผู้ถูกร้องทั้งแปดกระทำการใด ๆ อันเป็นการใช้ สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง กรณีไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ ไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย