ผู้เสียหายแชร์ AIMC Global ร้อง 'นันทนา' หลังดีเอสไอ ดองคดี3ปี

ผู้เสียหายแชร์ AIMC Global ร้อง 'นันทนา' หลังดีเอสไอ ดองคดี3ปี

กลุ่มผู้เสียหายแชร์ AIMC Global ร้อง "สว.นันทนา" ช่วยติดตาม หลังถูกดองคดีที่ดีเอสไอ นาน3 ปี คาดมูลค่าความเสียหายกว่า 41 ล้านบาท

ที่รัฐสภา กลุ่มผู้เสียหายแชร์ AIMC Global เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อ น.ส.นันทนา นันทวโรภาส สว.กลุ่มพันธ์ใหม่ ขอให้ติดตามทวงถามคดี กรณีกลุ่มผู้เสียหายได้เข้าร้องทุกข์ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ตั้งแต่ปี 2565 เพื่อให้ดำเนินคดี บริษัท AIMC Global หลังถูกหลอกชักชวนร่วมลงทุนสกุลเงินดิจิทัลต่างๆ แต่ไม่สามารถจ่ายผลตอบแทนได้ตามที่โฆษณาไว้ ทำให้สมาชิกได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก และปัจจุบันยังมีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง และขอเรียกร้องเงินเยียวยาเงินคืนแก่ผู้เสียหาย โดยขอให้ช่วยตรวจสอบ ติดตามการทำงานของ ดีเอสไอ ในเรื่องที่เกี่ยวกับการดำเนินคดีต่อบริษัทดังกล่าว ซึ่งสมาชิกวุฒิสภาสามารถใช้อำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 150 ร่วมตรวจสอบในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติได้

โดยน.ส.นันทนา กล่าวว่า คดีนี้สืบเนื่องจาก SCG CORPORATION หรือ AIMC GLOBAL หรือ MAXNA INFINITY ชักชวนให้ประชาชนร่วมลงทนในสกุลเงินดิจิตอลเหรียญคริปโต (USDT) ผ่านเอ็กเช้น โดยโฆษณาจูงใจด้วยผลตอบแทนสูงอ้างว่าจะนำไปลงทุนในธุรกิจที่มีกำไรดี แต่สุดท้ายไม่สามารถจ่ายผลตอบแทนได้ตามที่โฆษณาไว้ ทำให้สมาชิกได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก โดยเมื่อวันที่ 12 ม.ค.65 กลุ่มผู้เสียหายรวมตัวกันไปร้องเรียน ดีเอสไอ เป็นครั้งแรก ต่อมาในวันที่ 17 ม.ค. 65 ทางดีเอสไอ มีหนังสืบแจ้งกลับว่ารับเรื่องไว้แล้วอยู่ในระหว่างการพิจารณาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเบื้องต้น ในวันที่ 26 ม.ค.65 ทางดีเอสไอ มีหนังสือแจ้งกลับตัวแทนกลุ่มผู้เสียหายว่า อธิบดี ดีเอสไอ ได้พิจารณากรณีดังกล่าว และมอบหมายให้กองบริหารคดีพิเศษดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง

น.ส.นันทนา กล่วต่อว่า ในระหว่างนี้ทางแอดมินได้ประสานงานกับเจ้าหน้าที่ดีเอสไอตลอด เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่เจ้าหน้าที่ เช่น การรวบรวมหลักฐาน และสรุปความเสียหายให้แก่เจ้าหน้าที่ เพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดของดีเอสไอ คือ 100 ล้านบาท หรือ ผู้เสียหายเกิน 300 คน จนกระทั้งในวันที่ 18 มี.ค. 65 ทางดีเอสไอ มีหนังสือแจ้งกลับว่า กรณีดังกล่าวไม่เข้าข่ายความผิด แต่เพื่อเป็นยุติธรรรมทางดีเอสไอ จะส่งเรื่องร้องทุกข์ของประชาชนผู้เสียหายทั้งหมดไปที่ 3 หน่วยงาน คือ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง,สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และกรมสรรพากร

"โดยในระหว่างที่เรื่องถูกส่งไปยังกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ทางแอดมินยังคงติดต่อกับทางตำรวจสอบสวนกลางอยู่ และส่งส่งข้อมูลพร้อมทั้งติดต่อประสานงานกันกับกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งกองตำรวจสอบสวนกลางพิจารณาเห็นว่า การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดเข้าข่ายเกณฑ์ที่ทางดีเอสไอกำหนด และสามารถรับเรื่องไว้ได้" น.ส.นันทนา กล่าว

น.ส.นันทนา กล่าวว่า ต่อมาในวันที่ 17 พ.ค.65 กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง จึงมีหนังสือแจ้งส่งเรื่องกลับไปที่ดีเอสไอให้ทำคดีต่อไปได้ จนกระทั่งในวันที่ 31 ส.ค.65 ทางดีเอสไอจึงมีหนังสือให้ผู้เสียหายทยอยไปให้ถ้อยคำตั้งแต่วันที่ 13 ก.ย. 2565 โดยในวันนั้นมีผู้เสียหายจำนวนหนึ่งเดินทางไปดีเอสไอและให้ถ้อยคำกับเจ้าหน้าที่ จึงเป็นที่มาของเอกสารเส้นทางการเงิน ซึ่งเจ้าหน้าที่ดีเอสไอเป็นคนให้ผู้เสียหายมากรอกรายละเอียด และรีบส่งก่อนวันที่ 31 ต.ค.65 ทั้งนี้ จนถึงปัจจุบันมูลค่าความเสีย 41,688,437.48 บาท ผู้เสียหายเบื้องต้น 319 คน ซึ่งกลุ่มผู้เสียหายไม่ทราบว่าในปัจจุบัน ดีเอสไอ ยังคงดำเนินการสืบสวนสอบสวนคดีอยู่หรือไม่  เพราะไม่ทราบผลการดำเนินงาน และล่วงเลยระยะเวลามาจะครบ 3 ปี ในวันที่ 12 ม.ค.2568 นี้ 

ทั้งนี้หนึ่งในผู้เสียหาย เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ในกลุ่มไลน์แชร์นี้ มีคนอยู่ในห้องนั้นกว่า 6,000 คน คาดว่า มีมูลค่าความเสียหายเกือบ 10,000 ล้านบาท ซึ่งในวงแชร์นี้มีกลุ่มผู้มีชื่อเสียง และดาราอยู่ด้วย และในกลุ่มที่เสียหายกว่า 300 ราย ได้ร้องไปยังดีเอสไอมา 2 ปีกว่าแล้ว แต่คดีไม่มีความคืบหน้า ทุกครั้งที่ทวงถามเจ้าหน้าที่ก็จะบอกว่า ออกต่างจังหวัด และจะติดต่อกลับมา แต่ไม่ได้รับการติดต่อ ไม่ว่าจะโทรศัพท์กี่ครั้ง ก็ได้รับคำตอบเช่นนี้เหมือนเดิม จึงได้มาร้องเรียนต่อวุฒิสภา ทั้งนี้ พบว่า มีแม่ทีมบางคนขู่ไม่ให้ฟ้องร้องเรื่องนี้ เพราะเขารู้จักผู้ใหญ่ในดีเอสไอ และมีแม่ทีมบางคน ถึงขั้นขู่ว่า จะอุ้มฆ่าผู้เสียหายที่มาร้องเรียนด้วย  และปัจจุบันแชร์วงนี้ ยังมีการเปิดดำเนินกิจการอยู่