2 สไตล์ ‘ตุ๋ย-หนู’ ชิงตั๋วเบอร์ 1 อนุรักษนิยม

2 สไตล์ ‘ตุ๋ย-หนู’ ชิงตั๋วเบอร์ 1 อนุรักษนิยม

ท่ามกลางโจทย์ทางการเมือง ทั้งรวมไทยสร้างชาติ จะกุมสภาพสู้ต่อ และภูมิใจไทย ที่อารมณ์ความรู้สึกลูกพรรคไม่เหมือนเก่า แถมต้องเจอคู่ปรับอย่างเพื่อไทยในสนามใหญ่ ล้วนเป็นงานยาก ทั้ง พีระพันธุ์ และอนุทิน เจอเงื่อนไขที่ต้องฝ่าฟันแตกต่างกัน

KEY

POINTS

  • เบอร์1ในปีกเสรีนิยม พรรคประชาชน และหัวหน้าเท้ง นำโด่ง
  • เพื่อไทย ที่ออกแนวซ้ายสายกลาง เรตติ้งยังโดนนำห่างอยู่พอสมควร
  • ฝ่ายอนุรักษนิยม ที่อ่อนแรงในช่วงหลายปี กำลังช่วงชิงการนำ ระหว่าง พีระพันธุ์ และอนุทิน อย่างไรอย่างนั้น

ความนิยมของค่ายส้ม ยังนำหน้าคู่แข่งพรรคการเมืองอื่นอย่างต่อเนื่อง แม้จะเผชิญนิติสงคราม หรือเดินการเมืองบนความประมาทก็ตาม จนเป็นเหตุให้ถูกยุบพรรคมาแล้ว 2 ครั้ง ตั้งแต่อนาคตใหม่ และก้าวไกล จนทุกวันนี้กลายมาเป็นพรรคประชาชน

แนวคิดซ้ายสุดโต่ง หรือเสรีนิยมสุดขั้ว ในตอนนี้ คงไม่มีใครมีศักยภาพเพียงพอจะต่อกรกับส้ม ดูได้จากผลสำรวจนิด้าโพล ล่าสุด พรรคประชาชน ช่วงไตรมาส 4 ปี 67 เรตติ้งยังยืนหนึ่ง อยู่ที่ 37% ทิ้งห่างเพื่อไทยถึง 10%

ก่อนหน้านี้ ทักษิณ ชินวัตร ก็เคยพูดถึงดีเอ็นเอของพรรคเพื่อไทยที่เกิดจากพรรคไทยรักไทย ว่าไม่ใช่พรรคอนุรักษนิยมใหม่ ตามที่หลายฝ่ายประเมิน จึงดูเหมือนเพื่อไทยพยายามวางตัวเป็นซ้ายสายกลาง หรือที่ถูกปรามาสว่าสู้ไปกราบไปอะไรทำนองนั้น

คู่แข่งในซีกซ้าย ส้มจึงขี่แดงอยู่หลายขุม ทั้งที่เพื่อไทยเป็นรัฐบาล มีกลไกอำนาจการบริหารราชการแผ่นดิน มีโอกาสสร้างผลงานมาปีกว่า ผ่านนายกรัฐมนตรี 2คน คือเศรษฐา ทวีสิน และแพทองธาร ชินวัตร แต่กลับยังไม่สามารถกู้เรตติ้งแซงพรรคประชาชนได้

ในทางกลับกันแนวคิดฝ่ายขวา หรือฝ่ายอนุรักษนิยม ก็มีความเข้มข้นหลายระดับ บทบาทที่เคยเข้มแข็งของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และองคาพยพ อ่อนแรงลงชัดเจนนับตั้งแต่เลือกตั้งปี 66

2 พรรคการเมืองที่เป็นมรดกจากรัฐบาล คสช. ทั้งพลังประชารัฐ และรวมไทยสร้างชาติ ผลงานในการเลือกตั้งล่าสุด ตัวเลข สส. ผิดจากเป้าหมายไปค่อนข้างมาก

ระหว่างทางทั้ง 2 พรรค เจอความท้าทาย และความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ชนิดที่ปรับตัวแทบไม่ทัน ดูได้จากสภาพการณ์ของพลังประชารัฐ และลุงป้อมตอนนี้ หรือภายในรวมไทยสร้างชาติเอง หลังจากลุงตู่วางมือ ศึกระหว่างหัวหน้ากับนายทุนใหญ่ ก็ถึงคราวขาดสะบั้น

ทว่า ความสนใจของ สส.เกือบทั้งหมดของรวมไทยสร้างชาติ หลังเกิดศึกก็เป็นจังหวะให้ต้องคิดทบทวนว่า ควรวางบทบาท หรือเดินหน้าต่ออย่างไร โดย สส.จำนวนไม่น้อย ดูจะยังเหนียวแน่นกับ เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาฯพรรค ซึ่งยังแน่นปึ๊กกับพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หรือหัวหน้าพี ไม่เปลี่ยน

สส.รวมไทยฯ จำนวนหนึ่งประเมินแล้ว ชื่อชั้นของพรรค โดยเฉพาะในภาคใต้ยังพอขายได้ ชาวบ้านในพื้นที่ไม่น้อยติดภาพจำไปแล้วว่าเป็นพรรคลุงตู่ ดังนั้น ถ้ามีผลงานให้ชาวบ้านจับต้องได้ ย่อมเป็นแต้มต่อในสนามเลือกตั้ง

บรรดาลูกพรรคเลยเอาด้วยกับหัวหน้าพี ที่พร้อมพังทุนผูกขาด เดินหน้าลดราคาพลังงานทุกประเภท เพราะเห็นแล้วว่าเรื่องนี้จะสร้างอิมแพ็กโดยตรงกับประชาชน

แม้จะโดนครหาเรื่องขายฝัน เพราะการจะออกกฎหมายที่กระทบทุนใหญ่ไม่ง่าย แต่พีระพันธุ์ ผู้โนสนโนแคร์ ลุยเต็มที่ จนคนเอะใจ มีแบ็กดีใช่หรือไม่ ถึงกล้าคิดตัดช่องทางทำกินของทุนใหญ่

การได้แรงหนุนอีกทางจากนายกฯ ที่ประกาศมอบพีระพันธุ์ แก้ปัญหาราคาพลังงาน ข้อสั่งการจากแพทองธาร จึงเหมือนได้สัญญาณตรงจากทักษิณ โดยปริยาย

อีกพรรคอย่างภูมิใจไทย โดยเฉพาะอนุทิน ชาญวีรกูล ค่ายนี้พยายามแสดงออกอยู่ไม่น้อยว่า ต้องการยึดหัวหาดฝ่ายอนุรักษนิยม การนัดหมาย สส. หรือ สว.ค่ายน้ำเงิน แต่งเสื้อเหลืองพรึ่บในสภา และอีกหลายกรณีที่เกี่ยวข้องกับงานกระทรวง ทำเอาผู้คนเข้าใจว่า อนุทิน อาจได้สัญญาณพิเศษบางอย่าง

การขึ้นมาเป็นเบอร์ 1 ในสายอนุรักษนิยม ย่อมมีความหมาย และเป็นบันไดเพื่อลุ้นเก้าอี้นายกฯ ในอนาคตได้เสมอ ภายใต้เงื่อนไขสกัดสีส้ม หรือเพื่อไทยหมดตัวเล่น หรือสถานการณ์เปลี่ยน

คาแรคเตอร์ของพีระพันธุ์ ที่แข็งนอก แข็งใน ดูไม่รับแขก กับอนุทิน ที่พลิ้วไหวลื่นไหลหาตัวจับยาก เป็นความต่าง 2 สไตล์ แบบคนละขั้ว

ท่ามกลางโจทย์ทางการเมือง ทั้งรวมไทยสร้างชาติ จะกุมสภาพสู้ต่อ และภูมิใจไทย ที่อารมณ์ความรู้สึกลูกพรรคไม่เหมือนเก่า แถมต้องเจอคู่ปรับอย่างเพื่อไทยในสนามใหญ่ ล้วนเป็นงานยาก ทั้ง พีระพันธุ์ และอนุทิน เจอเงื่อนไขที่ต้องฝ่าฟันแตกต่างกัน