'ปชน.' วางไลน์ รื้อรธน.คสช. ยาวสุด 1 ปี8เดือน (หากไม่สะดุด)
สำนักงานเลขาธิการสภาฯ เผยแพร่สาระร่างแก้รธน.ม.256-เพิ่มหมวดเขียนรธน.ใหม่ของ "ปชน." รีเซ็ตเงื่อนไขสำคัญ พร้อมออกแบบสสร.200คนจากการเลือกตั้ง ขีดกรอบมี รธน.ใหม่ภายใน 1 ปี8เดือน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าหลังจากที่นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชนและคณะ ได้นำร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 และเพิ่มเติมหมวด 15/1 การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ยื่นต่อนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เมื่อช่วงกลางเดือนธ.ค.2567 และ ประธานรัฐสภา เตรียมนัดประชุมวิป 3 ฝ่าย หารือถึงการนัดประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อเตรียมวาระพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ วันที่ 8 ม.ค. นั้น
ล่าสุดสำนักงานเลขาธิการสภาฯ ได้เผยแพร่เอกสารร่างแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 ของรัฐธรรมนูญ 2560 และเพิ่มเติมหมวด 15/1 การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่พรรคประชาชนเสนอแล้ว
"ปชน." อ้างเหตุรื้อรธน.2560 เพราะไม่ชอบธรรมทางปชต.
โดยมีสาระสำคัญ ระบุในเหตุผลว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีปัญหาเรื่องความชอบธรรมทางประชาธิปไตย เพราะเชื่อมโยงกับคณะรัฐประหาร ถูกรับรองโดยกระบวนการประชามติที่ไม่เสรีและเป็นธรรม รวมถึงมีบทบัญญัติหลายประการที่ไม่สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตย จึงสมควรแก้ไข โดยให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนดำเนินการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และแก้ไขมาตรา 256 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่เป็นอุปสรรคต่อการแก้ไข
แก้ม.256 ตัดเกณฑ์ใช้เสียง สว. เห็นชอบร่วม
สำหรับสาระที่แก้ไขที่สำคัญ ได้แก่ แก้ไขมาตรา 256 ว่าด้วยหลักเกณฑ์การออกเสียงรับหลักการวาระแรก และเสียงเห็นชอบในวาระสาม ที่กำหนดให้ใช้เสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภาที่มีอยู่ โดยตัดเงื่อนไขที่ต้องใช้เสียงเห็นร่วมด้วยของสว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ออกไปและแทนที่ด้วย เสียงเห็นชอบจาก สส. ไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 แทน
แก้ "หมวด1-หมวด2-คุณสมบัตินักการเมือง" ไม่ต้องผ่านประชามติ
นอกจากนั้นได้ตัดเงื่อนไขต้องการผ่านประชามติก่อนการรทูลเกล้าฯ ถวาย ในมาตรา 256 (8) กรณี แก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ เรื่องที่เกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ตามรัฐธรรรมนูญ เรื่องเกี่ยวกับหน้าที่หรืออำนาจศาลหรือองค์กรอิสระ เรื่องที่ที่ทำให้ศาลหรือองค์กรอิสระไม่อาจปฏิบัติหน้าที่หรืออำนาจได้
รวมถึงได้แก้ไขความในมาตรา 256(9) ที่กำหนดสิทธิให้ สส. สว. หรือสมาชิกทั้ง2สภารวมกันเข้าชื่อเพื่อยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ชี้ว่าร่างรัฐธรรมนูญนั้นขัดต่อมาตรา 255 หรือมีลักษณะตาม (8) เดิมใช้เกณฑ์เสียงไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 แต่ได้ปรับลดเหลือ 1 ใน 5
ออกแบบเลือกตั้ง สสร. 200 คน แบบสมัครเดี่ยว-ทีม
ขณะที่หมวด 15/1 ซึ่งเพิ่มใหม่ ว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น กำหนดให้มี สสร. 200 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนด้วยกติกาบัตร2ใบ แบ่งเป็นเลือกแบบเขต โดยสมัครในนามบุคคล จำนวน 100 คน ให้ใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง และเลือกแบบบัญชีรายชื่อ จำนวน 100 คน ใช้เขตประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง
ทั้งนี้ได้กำหนดให้การเลือกแบบบัญชีรายชื่อ ผู้สมัครเป็น สส. ต้องลงสมัครเป็นทีม ทีมละไม่น้อยกว่า 20 คนแต่ไม่เกิน 100 คน
ปลดล็อค “นักการเมือง” ถูกเพิกถอนสิทธิ สมัครสสร.ได้
ขณะที่คุณสมบัติของผู้ลงเลือกตั้งเป็นสสร. อาทิ อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี มีสัญชาติไทย ส่วนลักษณะต้องห้ามนั้น กำหนดไว้ 13 ข้อ โดยได้นำบทบัญญัติการห้ามลงสมัคร สส.มาบังคับใช้ ยกเว้น ข้อห้ามที่ระบุว่า อยู่ระหว่างต้องห้ามไม่ให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อยู่ระหว่างการระงับการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นการชั่วคราวหรือถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชน
ทั้งนี้ยังห้าม ข้าราชการการเมือง สส. สว. รัฐมนตรี สมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่นลงสมัคร
วางไทม์ไลน์ เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ยาวสุด 1 ปี 8 เดือน (หากไม่สะดุด)
เซ็ตปฏิทิน เลือก สสร. ภายใน 60 วัน
ทั้งนี้ได้กำหนดให้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดการเลือกตั้ง สสร.ให้เสร็จภายใน 60 วันนับแต่มีเหตุให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เมื่อเลือกตั้งแล้วเสร็จให้ กกต.รับรองผลภายใน15 วัน จากนั้นให้ส่งประธานรัฐสภาประกาศรายชื่อ สส.ในราชกิจจานุเบกษาภายใน5 วัน อย่างไรก็ดีในคราวแรกเมื่อรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมใช้บังคับ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคประชาชน ระบุว่าภายใน 30 วัน ให้ตราพระราชกฤษฏีกาเลือกตั้ง สสร. และดำเนินเลือกตั้งสรร.ให้เสร็จภายใน 60 วัน
ขีดเส้นทำรธน.ใหม่ 360 วัน-กฎหมายลูก180วัน
สำหรับการทำงานของ สสร. นั้น ยังกำหนดไว้ด้วยคือ ต้องจัดประชุมสสร. ภายใน 15 วันนับแต่ที่ กกต.ประกาศผลเลือกตั้ง สสร. และให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ผ่านคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมกำหนดระยะเวลาทำให้แล้วเสร็จภายใน 360 วันนับจากวันประชุมสสร.นัดแรก
หาก สสร. ทำไม่เสร็จตามกรอบเวลาให้สิ้นสุดสมาชิกภาพ ส่วนการจัดทำพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ต้องทำทันทีที่รัฐธรรมนูญใหม่ประกาศใช้ และทำให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน แต่หากทำไม่เสร็จตามกรอบเวลาให้เป็นอำนาจของรัฐสภาดำเนินการ
ตั้ง 45อรหันต์ทำรธน. ให้โควตาคนนอก 15คน
ทั้งนี้ในส่วนของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญนั้น พรรคประชาชนได้เสนอว่า ให้มีจำนวน 45 คน มาจาก การแต่งตั้งบุคคลที่เป็น สสร. 2 ใน 3 หรือ 30 คนและกรรมาธิการอื่นประมาณ 15 คน โดยสามารถตั้งจากสสร. หรือไม่เป็นก็ได้ โดยให้คำนึงถึงความเชี่ยวชาญในการทำหน้าที่และมีจำนวนกรรมาธิการตามจำเป็น
ให้อำนาจ “รัฐสภา” แสดงความเห็นก่อนทำประชามติ
ในขั้นตอนการเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น พรรคประชาชน กำหนดไว้ว่า ต้องให้เสนอต่อรัฐสภาเพื่อให้อภิปรายแสดงความคิดเห็นโดยไม่มีการลงมติ ภายใน 7 วัน เมื่อเสร็จสิ้นให้ กกต. นำไปออกเสียงประชามติภายในเวลา 90 - 120 วัน พร้อมกำหนดการตั้งคำถามประชามติด้วยว่าต้องชัดเจน เข้าใจง่าย ไม่ชี้นำ และเป็นกลางต่อทุกฝ่าย และให้สิทธิ เสรีภาพกับประชาชนในการแสดงความเห็น เมื่อทำประชามติเสร็จให้ กกต.ประกาศผลภายใน 15 วัน
ให้อำนาจ “รัฐสภา” คืนชีพแก้รธน. 1 ครั้งหากประชามติไม่ผ่าน
กรณีที่ผลประชามติเห็นชอบด้วยให้ประธานสสร.นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย แต่หากประชามติไม่เห็นชอบให้ถือว่าตกไป พร้อมกำหนดบทที่ใช้บังคับกรณีที่การจัดทำรัฐธรรมนูญนั้นตกไปด้วยว่า ให้สิทธิสมาชิกรัฐสภาเสนอญัตติเพื่อจัดทำรัฐธรรรมนูญฉบับใหม่ ได้ 1 ครั้งในสมัยของรัฐสภา โดยใช้เสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกที่มีอยู่ และต้องมี สส.เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ทั้งนี้ บุคคลที่เป็นสสร.มาแล้วจะเป็นสสร.อีกไม่ได้
ห้าม 5 ปี สรร. นั่งฝ่ายการเมือง-องค์กรอิสระ-ศาล
ตามร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคประชาชน ยังได้กำหนดเพิ่มเติมด้วยว่า ภายในระยะเวลา 5 ปี ที่สมาชิกภาพ สสร. สิ้นสุด ห้ามดำรงตำแหน่ง นายกฯ รัฐมนตรี สส. สว. สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ผู้พิพากษาศาลฎีกา ตุลาการศาลปกครองสูงสุด ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระ และอัยการสูงสุด
อย่างไรก็ดีต้องจับตาผลการประชุมวิป3ฝ่ายในวันที่ 8 ม.ค.นี้ว่า วาระแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 ของพรรคประชาชนจะได้รับการบรรจุและพิจารณาทันทีในช่วง 14-15 ม.ค.นี้หรือไม่ หรือจะเป็นภายหลังจากที่รัฐสภาพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เสนอแก้ไขเป็นรายมาตรา จำนวน 17 ฉบับก่อน รวมถึงพรรคเพื่อไทยจะเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ประกบหรือไม่.