‘ชวน-ทักษิณ’ คู่อริตลอดกาล แค้น 2 ทศวรรษ ‘2 อดีตนายกฯ’

‘ชวน-ทักษิณ’ คู่อริตลอดกาล  แค้น 2 ทศวรรษ ‘2 อดีตนายกฯ’

ในบริบทการเมืองไทย มักมีคำกล่าวที่ว่า “ไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร” แต่คงใช้ไม่ได้กับ “ชวน-ทักษิณ” 2 อดีตนายกฯ ที่ดำเนินการเมืองบนเส้นขนานกันมาตลอด 

KEY

POINTS

  • ในบริบทการเมืองไทย มักมีคำกล่าวที่ว่า “ไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร” แต่คงใช้ไม่ได้กับ “ชวน-ทักษิณ” 2 อดีตนายกฯ ที่ดำเนินการเมืองบนเส้นขนานกันมาตลอด 
  • “มีอยู่คนหนึ่ง หาว่าเราสร้างความวุ่นวาย ตั้งแต่แพ้การเลือกตั้งเมื่อปี 2544 ก็แค้นจนถึงทุกวันนี้ เขตเลือกตั้งมี 450 คน เลือกเขาแค่ 47 คน แก่แล้วยังลงเลือกตั้งอยู่” ทักษิณ กล่าวบนเวทีปราศรัยชิงนายกอบจ.จ.เชียงราย เมื่อวันที่6ธ.ค.
  • “เป็นนักการเมืองรุ่นเก่าที่ไม่โกงไม่ซื้อเสียง” ชวน หลีกภัย 9ม.ค.
  • แม้เวลานี้ปชป.จะปิดตำนาน 2 ทศวรรษ ศัตรูการเมืองกับเพื่อไทยแต่ไม่ได้หมายรวมถึง “ชวน” สะท้อนจากการอภิปรายในสภาช่วงที่ผ่านมายังขยี้แผลปมเลือกปฏิบัติต่อคนใต้ รวมถึงต้นเหตุไฟใต้ลุกโชน 
  • แรงแค้นระหว่าง “2 อดีตนายกฯ” ยังคงดำเนินการเมืองบนเส้นขนาน ที่ไม่อาจบรรจบกันได้

ในบริบทการเมืองไทย มักมีคำกล่าวที่ว่า “ไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร” แต่วลีดังกล่าว อาจใช้ไม่ได้กับ “2 อดีตนายกฯ” ที่ถือเป็น “ศัตรูคู่อาฆาต” และดำเนินการเมืองบนเส้นขนานกันมาตลอด 

คนแรก “ชวน หลีกภัย” นายกรัฐมนตรี คนที่ 20 ของประเทศไทย และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ หัวขบวน“อนุรักษนิยม” ในอดีต อีกฝั่งคือ “ทักษิณ ชินวัตร” นายกรัฐมนตรีคนที่ 23 อดีตหัวหน้าพรรคไทยรักไทย หัวขบวนฝ่าย “เสรีนิยม”ในอดีต

ตอกย้ำชัด ล่าสุด เปิดฉากซัดกันไปมาอย่างดุเดือด ฝั่ง “ทักษิณ” พูดผ่านเวทีปราศรัยหาเสียงเลือกตั้งนายก อบจ.เชียงราย ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ช่วงหนึ่งระบุว่า“มีอยู่คนหนึ่ง หาว่าเราสร้างความวุ่นวาย ตั้งแต่แพ้การเลือกตั้งเมื่อปี 2544 ก็แค้นจนถึงทุกวันนี้ เขตเลือกตั้งมี 450 คน เลือกเขาแค่ 47 คน แก่แล้วยังลงเลือกตั้งอยู่”

บุคคลที่ “ทักษิณ” พูดถึงแทบไม่ต้องตีความถึงที่มา ของการตอบโต้อย่างดุเดือดจาก“ผู้อาวุโส”ค่ายสีฟ้า “เป็นนักการเมืองรุ่นเก่าที่ไม่โกงไม่ซื้อเสียง”

‘ชวน-ทักษิณ’ คู่อริตลอดกาล  แค้น 2 ทศวรรษ ‘2 อดีตนายกฯ’

ย้อนตำนาน “อริ 2 นายกฯ”  เกิดขึ้นนับตั้งแต่ปี 2541 หลัง “ทักษิณ” ลาออกจากพรรคพลังธรรม และก่อตั้งพรรคไทยรักไทย

ก่อนที่ 3 ปีต่อมา หลังจาก “รัฐบาลชวน 2” ประกาศยุบสภา และมีการเลือกตั้งในวันที่ 6 ม.ค 2544 

ผลปรากฎว่า พรรคไทยรักไทย กวาดสส.เข้าสภาฯ เป็นอันดับหนึ่ง 248 คน ส่งผลให้“ทักษิณ” เป็นนายกฯ สมัยแรก

ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ ภายใต้การนำของ “ชวน” ได้สส.128 คน ทำหน้าที่พรรคฝ่ายค้านในรัฐบาลไทยรักไทย

ช่วงนี้เองที่ก่อกำเนิดนโยบาย “8 เมษายน 2544” แก้ปัญหา 3 จังหวัดภาคใต้ ซึ่งมีการบังคับใช้มาตรการ “อุ้มฆ่า-อุ้มหาย”  

กระทั่งช่วงปลาย “รัฐบาลทักษิณ 1” เกิดเหตุการณ์ครั้งสำคัญจนถูกจารึกในประวัติศาสตร์ นั่นคือ โศกนาฏกรรมปี 2547 จากการสลายชุมนุมของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส จนมีผู้เสียชีวิต 85 คน

เป็นเหตุให้ “ประชาธิปัตย์” ในฐานะพรรคฝ่ายค้าน ที่มีฐานเสียงสำคัญในพื้นที่ภาคใต้ ชิงจังหวะขยี้หนักในประเด็นนโยบายดับไฟใต้ของรัฐบาลไทยรักไทย ที่ผิดพลาดล้มเหลว จนเป็นต้นตอปัญหาไฟใต้ลุกโชน

‘ชวน-ทักษิณ’ คู่อริตลอดกาล  แค้น 2 ทศวรรษ ‘2 อดีตนายกฯ’

 

ต่อมาในการเลือกตั้งปี 2548 หลังครบวาระรัฐบาล “ทักษิณ” นำพรรคไทยรักไทย ลงสู่สนามเลือกตั้งอีกรอบ ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ ผลัดเปลี่ยนผู้นำจาก “ชวน” เป็น “บัญญัติ บรรทัดฐาน” หัวหน้าพรรคคนใหม่

ผลปรากฎว่า พรรคไทยรักไทยได้สส.อันดับหนึ่ง ทุบสถิติ 377 ที่นั่ง เป็นแกนนำรัฐบาล  “ทักษิณ”ได้เป็นนายกฯสมัยที่ 2 ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ได้สส.96 คน เป็นพรรคฝ่ายค้านรอบ 2  

ในยุค“รัฐบาลทักษิณ 2” นี้เอง ที่ความดุเดือดของฉากรบ ระหว่าง 2 พรรคเป็นเท่าทวีคูณ

เวลานั้น “ฝ่ายค้าน-ฝ่ายแค้น” ทั้งในและนอกสภาฯ เปิดฉากซัดรัฐบาลทักษิณ ทั้งประเด็นละเมิดสิทธิมนุษยชน การเป็นเผด็จการรัฐสภา มีผลประโยชน์ทับซ้อน และควบคุมสื่อ 

ขณะที่ตัว “ทักษิณ” ถูกถล่มอย่างหนัก ในประเด็นการเลี่ยงภาษี ขายทรัพย์สินของบริษัทไทยให้นักลงทุนต่างชาติ กรณีขายหุ้นชินคอร์ป กระทั่งการเมืองสุกงอม นำมาสู่การรัฐประหารปี2549 ในที่สุด

ตามมาด้วยสารพัดบ่วงนิติสงครามที่ไล่ลา ทั้งคดียุบพรรคไทยรักไทย คดีความของอดีตนายกฯ ส่งผลให้ทักษิณต้องออกนอกประเทศในที่สุด

หลังการเมืองถูกแช่แข็งเกือบ 2 ปี ต่อมามีการเลือกตั้ง 28 ม.ค.2551 ผลปรากฎว่า “พรรคพลังประชาชน” ซึ่งเป็นดอกผลของไทยรักไทย ภายใต้การนำของ “สมัคร สุนทรเวช” กวาดสส.310 ที่นั่ง ขณะที่ประชาธิปัตย์ภายใต้การนำของ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ได้สส.163 ที่นั่ง เป็นฝ่ายค้านติดต่อกันรอบที่ 3

หลังจากที่ “สมัคร” ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค เปลี่ยนผ่านมาสู่“สมชาย วงศ์สวัสดิ์” รองหัวหน้าพรรค ซึ่งถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯ ก่อนมีการยุบพรรคพลังประชาชน จากกรณีการจัดรายการของอดีตนายกฯสมัคร ทำให้การเมือง“พลิกขั้ว” ประชาธิปัตย์ชิงเกมจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ “อภิสิทธิ์” ได้เป็นนายกฯ 2 ปีเศษ 

ปี 2554 พรรคเพื่อไทย ภาคต่อจากพรรคพลังประชาชน ภายใต้การนำของ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร”  ชนะเลือกตั้งได้ สส.265 ที่นั่ง ประชาธิปัตย์ได้สส.159 ที่นั่ง เพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ขณะที่ประชาธิปัตย์ เป็นฝ่ายค้าน รอบที่ 4 

ไม่ต่างจากการเปิดฉากรบทั้งในและนอกสภาฯ ที่ดุเดือดระหว่าง 2 พรรค จากสารพัดปมร้อนไม่ว่าจะเป็นการเสนอกฎหมายแก้รัฐธรรมนูญ กฎหมายนิรโทษกรรม รวมไปถึงกรณีคดีทุจริตโครงการจำนำข้าว

 เป็นที่มาของการลาออกของ สส.ประชาธิปัตย์ “ยกพรรค” จำนวนนี้มี“ชวน” ในฐานะสส.บัญชีรายชื่อรวมอยู่ด้วย นำไปสู่ชุมนุมใหญ่ของกลุ่มกปปส. มี“สุเทพ เทือกสุบรรณ”เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ เป็นแกนนำ จนกระทั่งการเมืองสุกงอม นำไปสู่เหตุการณ์รัฐประหาร 2557 ในที่สุด

ปี 2562 หลังการเมืองถูกแช่แข็งยาวนานถึง 5 ปี ได้มีการเลือกตั้ง 24 มี.ค.2562 เพื่อไทยได้สส.136 คน

ขณะที่ประชาธิปัตย์จำนวน สส.วูบเหลือแค่ 53 คน ขณะที่พลังประชารัฐได้ สส.116 คน ขยับขึ้นเบอร์หนึ่งฝ่ายอนุรักษนิยม ก่อนที่เสียงส่วนใหญ่ของสภาฯ จะมีมติเลือก “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เป็นนายกรัฐมนตรี

กระทั่งการเลือกตั้งครั้งล่าสุด ปี 2566 เพื่อไทยถูกล้มแชมป์เบอร์หนึ่งฝ่ายซ้าย หลังได้สส.เข้าสภาฯเพียง 141 ที่นั่ง ตามหลังพรรคก้าวไกลที่ได้ 151 ที่นั่ง 

ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ เข้าสู่ยุคอัสดงกวาด สส.เข้าสภาฯ เพียง 25 ที่นั่ง ไม่ต่างจากบารมีของ “ชวน” ในฐานะผู้มากบารมีค่ายสีฟ้าที่ถูกลดทอนจาก“ขั้วอำนาจ”ในพรรคอย่างเห็นได้ชัด 

ย้อนกลับไปในช่วงแรกเริ่มตั้งรัฐบาลพรรคเพื่อไทย มีข่าวแพร่สะพัดถึงสูตรพลิกขั้วการเมือง ดึงประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาล ด้วยการเปิดดีลระหว่าง “ทักษิณ” นายใหญ่เพื่อไทย และ “นายกชาย”เดชอิศม์ ขาวทอง รองหัวหน้าประชาธิปัตย์

ท่ามกลางการจับตา“กลุ่มก๊วนสีฟ้า”ที่เกิดความปั่นป่วนอย่างหนัก เมื่อฝั่งหนึ่งส่งสัญญาณชัด เตรียมร่วมรัฐบาลเพื่อไทย

ขณะที่อีกฝั่งซึ่งมี “ชวน” เป็นคีย์แมน ออกโรงขวางสุดลิ่ม เห็นได้ชัดถึงกระบวนการเลือกหัวหน้าพรรค ที่เจอเกมล้มประชุมถึง 3 รอบ ส่งผลให้ประชาธิปัตย์ตกขบวนรัฐบาลในรอบแรก

จนมีข่าวเล็ดลอดออกมาเป็นระยะว่า “นายใหญ่” ค่ายสีแดงยื่นคำขาด หากประชาธิปัตย์จะร่วมรัฐบาล ฝั่งหนึ่งต้องรวบอำนาจให้ได้เพื่อมิให้อีกฝั่งเป็นเสี้ยนหนามทิ่มตำเพื่อไทย

‘ชวน-ทักษิณ’ คู่อริตลอดกาล  แค้น 2 ทศวรรษ ‘2 อดีตนายกฯ’

กระทั่งเกิดอุบัติเหตุการเมือง นำมาสู่การเปลี่ยนผ่านนายกฯเพื่อไทยจาก “เศรษฐา ทวีสิน” มาเป็น “แพทองธาร ชินวัตร” 

เวลานั้นค่ายสีฟ้าถูกรวบอำนาจเบ็ดเสร็จโดยหัวหน้า “เฉลิมชัย ศรีอ่อน” อีกทั้งเป็นจังหวะเดียวกับที่ “นายใหญ่”เพื่อไทย เปิดฉากรบ “ลุงบ้านป่าฯ” แตกหัก ผลัก “19 สส.พลังประชารัฐ” ไปอยู่ในขั้วฝ่ายค้าน

กลายเป็นไฟต์บังคับให้“นายใหญ่”ต้องดึงประชาธิปัตย์เข้ามาทดแทนเสียงที่หายไป อีกทั้งยังเป็นการโดดเดี่ยวพรรคส้ม ในฐานะแกนนำฝ่ายค้านอีกทางหนึ่งด้วย 

จริงอยู่ แม้เวลานี้ประชาธิปัตย์ จะปิดตำนาน 2 ทศวรรษ ศัตรูการเมืองกับเพื่อไทยลงแล้ว แต่ไม่ได้หมายรวมถึง “ชวน หลีกภัย” ที่เวลานี้ยังทำหน้าที่สส.ในสภาฯ 

วีรกรรมการอภิปรายของ อดีตนายกฯชวน ในช่วงที่ผ่านมายังคงขยี้แผลไปที่วาทกรรมของอดีต นายกฯทักษิณประเด็นเลือกปฏิบัติต่อคนใต้ รวมถึงต้นเหตุไฟใต้ลุกโชนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

เป็นการตอกย้ำถึงแรงแค้นระหว่าง “2 อดีตนายกฯ” ที่ยังคงดำเนินการเมืองบนเส้นขนาน ที่ไม่อาจบรรจบกันได้