โมเดลใหม่ ‘ทักษิณ’ จับตาแผนดับไฟใต้ สมช.

โมเดลใหม่ ‘ทักษิณ’  จับตาแผนดับไฟใต้ สมช.

สถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ กำลังเดินทางสู่จุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ ก็ต้องรอลุ้นผล จะทำให้ไฟใต้มอดลง หรือคุกรุ่นอีกรอบ เมื่อ"ภูมิธรรม" สั่ง สมช. รื้อยุทธศาสตร์ เขียนแผนดับไฟใต้ใหม่

KEY

POINTS

  • 21 ปี ไฟใต้ไม่ดับ ภูมิธรรม สั่งรื้อยุทธศาสตร์ดับไฟใต้บางประเด็น หวังแก้จุดอ่อน ข้อบกพร่อง พร้อมขีดเส้นให้แล้วเสร็จก่อนสิ้นเดือนมกราคมนี้
  • ภายหลัง ทักษิณ พบ นายกฯมาเลเซีย เป็นสัญญาณหวังเดินหน้ากำหนดเกม สร้างโมเดลดับไฟใต้ใหม่ เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม

 

“ภูมิธรรม​ เวชยชัย​” รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม​ ทุบโต๊ะ สั่งยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อ.ยะหา จ.ยะลา ในวงประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน(กบฉ.) ที่นั่งเป็นประธาน

ท่ามกลางเสียงโต้แย้งฝ่ายทหาร แม้อำเภอยะหา จะร้างการก่อเหตุมาหลายครั้ง แต่มีพื้นที่ต่อกับอำเภอเสี่ยง คือ บันนังสตา จ.ยะลาซึ่งอยู่ติดกับรัฐเกอดะฮ์ มาเลเซีย

เกรงว่าผู้ก่อเหตุจะหลบหนีเข้ามาพื้นที่ แต่ข้อกังวลดังกล่าว ไม่สามารถยื้อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อ.ยะหา ได้ สุดท้ายในที่ประชุม กบฉ.ไฟเขียวให้ยกเลิก เตรียมนำเข้าที่ประชุม ครม.อนุมัติวันอังคาร 14 ม.ค.นี้

นอกจากนี้ “ภูมิธรรม”ให้การบ้าน “ฉัตรชัย บางชวด” เลขา สมช.กลับไปทบทวนยุทธศาสตร์ หลังครบ 21 ปีไฟใต้ยังไม่มอด พร้อมสอบถามในที่ประชุม “เราทำแบบนี้มานานแล้ว ทำไมถึงไม่ยอมเปลี่ยนบ้าง”

โดยผู้เกี่ยวข้องในที่ประชุม กบฉ.ชี้แจงว่า หากจะเปลี่ยน ก็ต้องเปลี่ยนแปลงนโยบายใหม่ทั้งหมด แต่หากจะเปลี่ยนเฉพาะบางเรื่อง ก็สามารถทำได้ ภายใต้นโยบายเดิมที่มีอยู่ในปัจจุบัน

จึงเป็นที่มา ภูมิธรรม สั่งการ เลขา สมช.วางโครงสร้างในยุทธศาสตร์ดับไฟใต้บางประเด็น หวังแก้จุดอ่อน ข้อบกพร่อง พร้อมขีดเส้นให้แล้วเสร็จก่อนสิ้นเดือนมกราคมนี้

ประกอบด้วย ปรับเปลี่ยนการพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้ วางกรอบที่ชัดเจน พูดคุยกับตัวจริง เพราะที่ผ่านมาแม้กระบวนการดังกล่าวดำเนินการอยู่ แต่การก่อเหตุยังคงเกิดขึ้น

การพัฒนา ต้องมีการส่งเสริมให้คนในพื้นที่มีงานทำมากขึ้น โดยเฉพาะคนที่ว่างงาน และนำไปสู่การเป็นแนวร่วมผู้ก่อเหตุ ต้องให้มีการสร้างงาน

โดยที่ผ่านมายังมีจุดอ่อนอยู่เรื่องบริหาร ฝ่ายความมั่นคงและการพัฒนา ทำงานไม่สอดคล้องและส่งเสริมกัน ต่างฝ่ายต่างทำงาน บางส่วนก็ตรงจุด และมีซ้ำซ้อน ทำให้ประชาชนเกิดความสับสน

กระทรวงศึกษาธิการ มีหน่วยงานหลายแห่งอยู่ในพื้นที่ แต่ไร้การเชื่อมโยง ซึ่งการศึกษาเป็นพื้นฐานของเยาวชน แต่ยังมีปัญหาทำให้เกิดการบ่มเพาะคนกลุ่มใช้ความรุนแรง

การปรับลดกำลัง ทหาร ตำรวจ อาสาสมัครในพื้นที่มีมากเกินไป โดยเฉพาะ กอ.รมน. ซึ่งเปิดอัตรากำลังจำนวนมาก และมีกำลังพลจำนวนไม่น้อยที่อยู่ในส่วนกลาง ไม่ได้ลงไปในพื้นที่จริง

การปรับลด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในพื้นที่ปัจจุบันมี 17 อำเภอ (ไม่นับอำเภอยะหา ที่เตรียมประกาศยกเลิก) ต้องกำหนดตัวชี้วัดใหม่ เพราะไม่เป็นไปตามเป้าที่กำหนดไว้ ว่าแต่ละปีต้องลดได้กี่อำเภอ ซึ่งตามยุทธศาสตร์ ปี 2570 ต้อง ไม่มีพ.ร.ก ฉุกเฉิน อยู่ในพื้นที่ แต่ไม่เป็นไปตามนั้น

แน่นอนว่าเมื่อ ภูมิธรรม สั่งรื้อยุทธศาสตร์ดับไฟใต้ ทุกสายตาโฟกัส "ทักษิณ วัตร” อดีตนายกฯไทย หลังพบกับ “อันวาร์ อิบราฮิม” นายกฯมาเลเซีย เป็นสัญญาณหวังเดินหน้ากำหนดเกม สร้างโมเดลดับไฟใต้ใหม่ เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม

เพราะก่อนหน้านั้น มีหลายกลุ่มเป็นทั้งอดีตทหารที่เคยทำงานจังหวัดชายแดนภาคใต้(จชต.) นักวิชาการ เข้าพบ ทักษิณ เสนอแนวทางแก้ไขปัญหา เช่น ตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจ การเจรจากับองค์กรสิทธิมนุษยชนในเครือข่ายของยูเอ็น และการรับรองการมีอยู่ขบวนการบีอาร์เอ็น

แต่คนในหน่วยงานความมั่นคงไม่เห็นด้วย เพราะสุ่มเสี่ยง และย้อนแย้งแนวทางของรัฐบาลที่อยากพัฒนายกระดับเศรษฐกิจ จชต. แต่จะให้รับรองการมีอยู่ของ “บีอาร์เอ็น”ที่ถูกมองเป็น “ผู้ก่อการร้าย”

พร้อมมองว่า การดับไฟใต้ที่เป็นรูปธรรมจะเกิดขึ้นได้ ต้องมีการจัดการปัญหาร่วมกัน ทั้งระดับโต๊ะเจรจาพูดคุย การแก้ปัญหาโครงสร้างการเมืองพื้นที่ การป้องกันการบ่มเพาะแนวคิดคนรุ่นใหม่

ตลอดจนถึงการยอมรับการมีอยู่ของคนมุสลิมที่เคยอยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้ดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี

ดังนั้นต้องจับตา “แผนดับไฟใต้”จะแล้วเสร็จภายในเดือนนี้ ซึ่งยังไม่ชัดต้องผ่านความเห็นชอบ ครม. หรือใช้เพียงกลไกระดับกรรมการ สมช. หรือ กบฉ.ที่มี“ภูมิธรรม ”นั่งเป็นประธาน และเมื่อผ่านขั้นตอนต่าง ๆ สามารถบังคับใช้ได้ทันที

นั่นหมายความว่า สถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ กำลังเดินทางสู่จุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ ก็ต้องรอลุ้นผล จะทำให้ไฟใต้มอดลง หรือคุกรุ่นอีกรอบ