'อนุกมธ.การเมือง' เผยผลฟังความเห็น ประชาชน ชงข้อเสนอ แก้รธน.-สสร.

'อนุกมธ.การเมือง' เผยผลฟังความเห็น ประชาชน ชงข้อเสนอ แก้รธน.-สสร.

"อนุกมธ.การเมือง" สว. เผยผลรับฟังความเห็นประชาชน 3 จังหวัด ชงข้อเสนอแก้รธน.60 เน้นแก้ก่อนปัญหาปากท้อง ควรเปิดพื้นที่่ประชาชนมีส่วนร่วม ยังเห็นต่างรูปแบบที่มา "สสร."

ที่รัฐสภา คณะอนุกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน ในกมธ.การพัฒนาการเมือง การมีส่วนร่วมของประชาชน สิทธิมนุษยชน สิทธิ เสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา นำโดย นางกัลยา ใหญ่ประสาน รองประธานอนุกมธ. นายเทวฤทธิ์ มณีฉาย อนุกมธ.และเลขานุการ น.ส.นันทนา นันทวโรภาส อนุกมธ.  ร่วมแถลงผลการจัดเวทีรับฟังความเห็นของประชาชน ต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เมื่อ 17 - 19 ม.ค. ที่ผ่านมา ใน 3  พื้นที่ คือ จ.เชียงใหม่ จ.ลำพูน และ จ.เชียงราย

โดยคณะอนุกมธ.ฯ ระบุผ่านเอกสารข่าวว่า อนุกมธ.ได้พบปะภาคประชาสังคม หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และนักวิชาการเพื่อรับฟังความเห็น แลกเปลี่ยนความคิด ต่อสภาพปัญหาของรัฐธรรมนูญ 2560 แนวทางการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ รวมถึงแนวทางการออกแบบสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.)  ซึ่งมีข้อสรุปจากการรับฟัง ดังนี้

1.แนวทางการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ทุกพื้นที่เห็นตรงกันว่ารัฐธรรมนูญ 2560 มีปัญหาและมีข้อเสนอ ว่ารัฐธรรมนูญต้องสัมพันธ์กับปัญหาปากท้อง และเป็นเรื่องแรกที่ต้องแก้ก่อน ที่ผ่านมารัฐธรรมนูญถูกกำหนดโดยผู้มีอำนาจ และส่วนใหญ่มาจากการรัฐประหาร ประชาชน ไม่มีส่วนร่วม ดังนั้นต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการร่างมากที่สุด

“พร้อมกับระบุว่าต้องมีบทบัญญัติเรื่องสิทธิชุมชน สิทธิเสรีภาพของประชาชน และความเท่าเทียมกัน รวมทั้งการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น  โดยมีข้อเสนอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องมาจากการเลือกตั้ง เพื่อให้จังหวัดปกครองตนเอง รวมถึงต้องมีหลักประกันในการห้ามฉีกรัฐธรรมนูญ แต่ให้แก้ไขได้ให้สอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนไป”

2. การได้มาของ สสร. ทุกพื้นที่เห็นตรงกันว่า สสร. ต้องมาจากประชาชน แต่ยังมีข้อถกเถียงเรื่องสัดส่วนและที่มา โดยมีข้อเสนอทั้งสัดส่วนอาชีพและผู้เชี่ยวชาญ และสัดส่วนจากการเลือกตั้งคู่ขนานกัน สำหรับคุณสมบัติของ สสร. ต้องมีความโปร่งใส ภาคประชาชนตรวจสอบถ่วงดุลได้

“สสร. ควรเปิดฮอกาสให้คนรุ่นใหม่ ตั้งแต่ 16-25 ปี ร่วมเป็น สสร.ได้  และต้องมีความหลากหลาย จากทั้งกลุ่มอาชีพ เพศสภาพ ชาติพันธุ์ และกลุ่มเปราะบาง ขณะเดียวกัน สสร. ควรมีความเป็นตัวแทนเชิงประเด็นมากกว่าเชิงพื้นที่ ขณะที่ระยะเวลาทำงาน ควรทำงานอย่างน้อย 1 ปี  และมีข้อเสนอให้ สสร. ไม่สามารถไปดำรงตำแหน่งใดได้อย่างน้อย 5 ปีหลังร่างเสร็จ เพื่อป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน”

ทั้งนี้ในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนนั้นทางอนุกมธ.ฯ จะรวบรวมและเสนอเป็นรายงานต่อที่ประชุมวุฒิสภาต่อไป.