3 จว.เหนือ ‘ทักษิณ’แพ้ไม่ได้ ต่อยอด สส.เพื่อไทย 200 อัป

ถอดรหัส "ทักษิณ ชินวัตร" แพ้ไม่ได้ ศึกเลือกตั้งนายก อบจ. ที่เป็นจังหวัดหวังผลของ "พรรคเพื่อไทย" ในภาคเหนือและอีสาน ยุทธศาสตร์ปักหมุดโค้งสุดท้าย 3 จังหวัดภาคเหนือเป็นการสู้เต็มเพื่อรุกคืบต่อยอด "เพื่อไทย" ไม่ต่ำ 200 สส.
KEY
POINTS
- "เพื่อไทย" โดย "ทักษิณ ชินวัตร" ปักหมุดศึกนายก อบจ.โค้งสุดท้ายที่ 3 จังหวัดภาคเหนือ "เชียงใหม่-เชียงราย
3 จังหวัดภาคเหนือ เชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน เป็นการปักหมุดสู้ศึกเลือกตั้ง อบจ.โค้งสุดท้ายที่ “พ่อใหญ่” ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้นำจิตวิญญาณแห่งพรรคเพื่อไทย วางยุทธศาสตร์ไว้
ภายใต้การเดิมพันศึกท้องถิ่นต้อง “แพ้ไม่ได้” ทักษิณ ให้ความสำคัญ 3 จังหวัดนี้เป็นพิเศษ เพราะเป็นพื้นที่ฐานเสียงต่อเนื่องมาตั้งแต่ยุคพรรคไทยรักไทย
3 จังหวัดนี้ เคยเป็นสีแดงแบบทั้งจังหวัด แต่ระยะหลังถูกคู่แข่งพรรคสีส้มอย่าง“ก้าวไกล”ในขณะนั้น เจาะทะลวง รุกคืบ เสียหายที่สุดคือ จ.เชียงใหม่ ฐานที่มั่นของ “ตระกูลชินวัตร”
จ.เชียงราย เลือกตั้งเมื่อปี 2566 มี สส. 7 เขต “พรรคเพื่อไทย” ก็ถูก “พรรคก้าวไกล” เจาะหนักไปถึง 3 เขต คือ เขต 1 ชิตวัน ชินอนุวัฒน์ เขต 3 ฐากูร ยะแสง และเขต 6 จุฬาลักษณ์ ขันสุธรรม ส่วน 4 เขตที่เหลือของเพื่อไทย ประกอบด้วย ปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช วิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ เทอดชาติ ชัยพงษ์ พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน
ภาพรวม คะแนน สส.บัญชีรายชื่อ จ.เชียงราย เพื่อไทยยังครองอันดับ 1 ได้ 285,544 คะแนน พรรคก้าวไกลมาเป็นที่ 2 ได้ 276,139 คะแนน
สนาม อบจ.ครั้งนี้ จ.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ส่งบ้านใหญ่ "สลักจฤฎดิ์ ติยะไพรัช" ท้าชิงนายก อบจ. โดยมี "อทิตาธร วันไชยธนวง อดีตนายก อบจ.เชียงราย เป็นคู่แข่งคนสำคัญ ซึ่งผลเลือกตั้งน่า จะจบลงด้วย 2 ชื่อนี้ ไม่ฝ่ายใดก็ฝ่ายหนึ่ง
จ.เชียงใหม่ เพื่อไทย ให้ “พิชัย เลิศพงศ์อดิศร” แชมป์เก่าได้ใช้สัญลักษณ์พรรคไว้หาเสียง ย้อนไปเลือกตั้งปี 2566 พรรคเพื่อไทยพ่ายยับเยินให้กับพรรคก้าวไกล 7 เขต ได้ สส.มา 2 เขต ส่วน สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล มาเป็นที่ 1 ได้ 469,436 คะแนน พรรคเพื่อไทย อันดับ 2 ได้ 358,286 คะแนน
“นายกก๊อง” พิชัย ต้องสู้กับคู่แข่งจากพรรคประชาชน “พันธุ์อาจ ชัยรัตน์” อดีต ผอ.สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ(องค์การมหาชน) ซึ่งมีพลัง สส.ของพรรคประชาชน 7 เขตหนุนหลัง
ในทางลับ คีย์แมนพรรคเพื่อไทยประเมินกันว่า ถึงอย่างไร “พิชัย” จะรักษาฐานที่มั่นไว้ได้อีกสมัย เพราะบูรณุปกรณ์ มีเพียง “กุ้ง ทัศนีย์” ที่เปิดหน้าช่วยพรรคประชาชน แต่ “บูรณุปกรณ์”อีกซีกหนึ่งยังหนุนหลัง “เพื่อไทย”ในทางลับ
จ.ลำพูน ขึ้นชื่อผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งมากที่สุดของประเทศนั้น พรรคเพื่อไทย ส่งแชมป์เก่า อนุสรณ์ วงศ์วรรณ รักษาเก้าอี้ นายก อบจ. โดยต้องต่อสู้กับพลังกระแสจากพรรคประชาชน ที่ส่ง “วีระเดช ภู่พิสิฐ” ลงชิงเก้าอี้ จ.ลำพูน จึงเป็นการสู้ระหว่าง “บ้านใหญ่” กับ “พลังสีส้ม”
ผลเลือกตั้งใหญ่ปี 2566 แต้ม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทยพ่ายแพ้ให้กับ พรรคก้าวไกล โดยพรรคก้าวไกล อันดับ 1 ได้ 118,003 คะแนน พรรคเพื่อไทย อันดับ 2 ได้ 100,746 คะแนน
ส่วน สส.เขต 2 ที่นั่ง พรรคเพื่อไทย แพ้ยับเยิน ในเขต 1 พรรคก้าวไกล โดย วิทวิสิทธิ์ ปันสวนปลูก ได้รับเลือกตั้ง 60,127 คะแนน
ขณะที่ สงวน พงษ์มณี พรรคเพื่อไทย ได้เพียง 28,328 คะแนน ส่วนเขต 2 พรรคเพื่อไทย ยังรักษาที่มั่นไว้ได้ จาก รังสรรค์ มณีรัตน์ แต่ก็ชนะพรรคก้าวไกลเพียงหลักพันแต้ม
โค้งสุดท้ายศึก อบจ.“ทักษิณ”วางยุทธศาสตร์ตรึงกำลัง ปราศรัยซ้ำ จ.เชียงราย จ.เชียงใหม่ ถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกประเดิมไปเมื่อต้นปี 2568 แล้ววางกำลังเคลื่อนทัพมาตีซ้ำอีกรอบ ช่วงโค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง 1 ก.พ.2568
จ.เชียงราย เน้นเจาะ อ.เมือง อ.พาน จ.ลำพูน ตรีงกำลังฐานเสียงที่ อ.เมือง ที่เป็นฐานเสียงหลักของ “พรรคสีส้ม”
ขณะที่ จ.เชียงใหม่ เปิดปราศรัยที่ อ.ฝาง ก่อนปิดท้ายที่ อ.เมือง ด้วยการเดินเท้าหาเสียงตลาดวโรรสก่อนขึ้นเวทีปราศรัยใหญ่ สวนเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ที่ อ.เมือง
หาก“ทักษิณ”และ“เพื่อไทย”ทุบพลังสีส้มได้ ด้วยการรักษาฐานที่มั่นนายก อบจ.3 จังหวัดนี้ ก็จะต่อยอด ปลุกกระแสต่อเนื่องไปถึงการเลือกตั้งใหญ่ในปี 2570
ขณะที่ “พร้อมพงศ์ นพฤทธิ์” อดีตโฆษกพรรคเพื่อไทย มองการวางยุทธศาสตร์ของอดีตนายกฯ ทักษิณ ครั้งนี้ ต้องการรุกหนักในพื้นที่อีสาน หรือภาคเหนือ เพราะสองภาคนี้ มีผลต่อการจัดตั้งรัฐบาลพรรคเพื่อไทยในอนาคต ต้องยอมรับว่า เลือกตั้งใหญ่ที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยยังคงครองที่ 1 ในภาคอีสาน เพียงแต่ถูกแบ่งคะแนนให้กับพรรคการเมืองอื่น
“เราเห็นเลือกตั้งปี 2566 กลุ่มบ้านใหญ่ นายก อบจ.ทำงานใกล้ชิดประชาชนมากกว่ารัฐบาลกลาง เมื่อนายก อบจ.และสจ.เลือกโดยตรง จึงมีส่วนสำคัญในการผลักดันงบประมาณให้กับประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งพรรคเพื่อไทยังต้องเอา สส. มาทำงานร่วมกับนายก อบจ. เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดให้นายก อบจ.สามารถประสานกับรัฐบาลกลางได้” พร้อมพงศ์ ย้ำ
พท.ลุ้นคว้าชัยไม่ต่ำ 10 นายก อบจ.
เมื่อไล่ดูจำนวน สส.133 ที่นั่งในภาคอีสาน ในการเลือกตั้งปี 2566 พรรคเพื่อไทยได้มาทั้งหมด 73 ที่นั่งเป็นอันดับ 1
ส่วนพรรคอื่นๆ มี พรรคภูมิใจไทย 35 ที่นั่ง พลังประชารัฐ 7 ที่นั่ง ก้าวไกล 7 ที่นั่ง ไทยสร้างไทย 5 ที่นั่ง เพื่อไทรวมพลัง 2 ที่นั่ง ประชาธิปัตย์ 2 ที่นั่งและชาติไทยพัฒนา 1 ที่นั่ง
เท่ากับ “พรรคเพื่อไทย” ถูกพรรคภูมิใจไทยแชร์ฐานเสียงไปส่วนหนึ่ง จึงทำให้มีผลต่อการจัดตั้งรัฐบาลที่ไม่ได้ สส.ภาพรวมเกินครึ่งตามที่หาเสียงไว้
ไล่ดูรายชื่อผู้สมัครนายก อบจ.ที่พรรคเพื่อไทย มีมติส่งลงเลือกตั้ง 1 ก.พ.2568 ส่วนใหญ่เป็นภาคเหนือและอีสาน เพื่อต้องการให้รัฐบาลท้องถิ่นทำงานเชื่อมโยงกับรัฐบาลส่วนกลาง
1.เชียงใหม่ พิชัย เลิศพงศ์อดิศร 2.เชียงราย สลักจฤฏดิ์ ติยะไพรัช 3.น่าน นพรัตน์ ถาวงศ์ 4.ลำพูน อนุสรณ์ วงศ์วรรณ 5.ลำปาง ตวงรัตน์ โล่ห์สุนทร 6.แพร่ อนุวัธ วงศ์วรรณ
7.ศรีสะเกษ วิวัฒน์ชัย โหตระไวศยะ 8.นครราชสีมา ยลดา หวังศุภกิจโกศล 9.มุกดาหาร บุญฐิณ ประทุมลี 10.หนองคาย วุฒิไกร ช่างเหล็ก 11.บึงกาฬ ว่าที่ ร.ต. ภูมิพันธ์ บุญมาตุ่น 12.สกลนคร นฤมล สัพโส 13.นครพนม อนุชิต หงษาดี 14.อำนาจเจริญ ดะนัย มะหิพันธ์ 15.ปราจีนบุรี สจ.จอย ณภาภัช อัญชสาณิชมน
ในบรรดา 15 จังหวัดนี้ “เพื่อไทย”คาดว่า จะได้นายก อบจ.ไม่ต่ำกว่า 10 จังหวัด
สำหรับจังหวัดที่พรรคเพื่อไทยส่งผู้สมัคร และมีทั้งพันธมิตรอยู่ฉากหลัง คว้าชัยในการเลือกตั้งนายก อบจ.ก่อนหน้านี้ กวาดมาได้ 10 จังหวัด ซึ่งจะต่อยอดไปถึงการเลือกตั้งใหญ่ในอนาคตด้วย
1.กาญจนบุรี นพ.ประวัติ กิจธรรมกูลนิจ ทีมพลังกาญจน์ กองหนุนเป็น สส.กาญจนบุรี พรรคเพื่อไทย 2.จ.กาฬสินธุ์ เฉลิมขวัญ หล่อตระกูล 3.จ.ยโสธร วิเชียร สมวงศ์ 4.ร้อยเอ็ด เศกสิทธิ์ ไวนิยมพงศ์ 5.จ.ขอนแก่น วัฒนา ช่างเหลา พรรคเพื่อไทยไม่มีมติส่ง แต่ วัฒนา ได้สมัครเป็นสมาชิกพรรคในช่วงก่อนเลือกตั้ง โดยมี 2 ส.ให้การสนับสนุน
6.จ.อุดรธานี ศราวุธ เพชรพนมพร 7.จ.อุบลราชธานี กานต์ กัลป์ตินันท์ 8.พะเยา ธวัช สุทธวงศ์ 9.สุโขทัย มนู พุกประเสริฐ 10.จ.อุตรดิตถ์ ชัยศิริ ศุภรักษ์จินดา
ส่วน จ.ปทุมธานี มีการเลือกตั้ง 2 ครั้ง โดยครั้งแรก พรรคเพื่อไทยชนะ แต่ถูกเลือกตั้งซ่อม โดยครั้งที่สอง “เพื่อไทย” ไม่ได้หนุนหลัง “ชาญ พวงเพ็ชร์” ทำให้ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง กลับมาเอาชนะได้
ปฏิเสธไม่ได้ว่า แบรนด์ “ทักษิณ ชินวัตร” มีผลต่อ “เพื่อไทย” เป็นอย่างยิ่ง ยี่ห้อ“นายห้างตราใบห่อ” ทำให้ทักษิณต้องบุกหาเสียงด้วยตัวเองในภาคอีสาน และภาคเหนือที่เป็นขุมกำลังสำคัญของ “เพื่อไทย”
เพราะหากคว้าชัยนายก อบจ.ใน 2 ภาคนี้มาก ย่อมมีผลปูทางถึงแผนรุกคืบ ทวงคืน สส.ที่เคยสอบตกกลับคืนมา หลังพลาดท่าให้ พรรคก้าวไกลและพรรคภูมิใจไทยในแต่ละพื้นที่
ยุทธศาสตร์ “ทักษิณ แพ้ไม่ได้” ยังสอดรับกับการประกาศในเวทีหาเสียง อบจ.ที่ผ่านมา จากคำการันตีว่า "รับรองคราวหน้าไม่มีแพ้ ประเมินแบบผู้สันทัดกรณีเลือกตั้งคราวหน้า เพื่อไทยไม่มีต่ำกว่า 200 เสียง”
จังหวะเดินเกมของ “นายใหญ่” หวังกินรวบฐานเสียงท้องถิ่นให้มากที่สุด เพื่อชิงการนำ จัดตั้งรัฐบาลอีกสมัย แต่ก็ท้าทาย “พลังกระแส” ของปีกพรรคสีส้มฝั่งตรงข้ามไม่น้อย และยังท้าทายบ้านใหญ่ในหมู่พรรคร่วมรัฐบาลปัจจุบัน