จุดเชื้อไฟ ‘ระบอบทักษิณใหม่’ - ‘วรงค์’เขย่า ‘รัฐบาลพ่อเลี้ยง’

นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต สส.พิษณุโลก 3 สมัย ประธานพรรคไทยภักดี ประเมินสถานการณ์จุดเสี่ยงของรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร พร้อมนิยามระบอบทักษิณใหม่ ที่รัฐบาลกำลังจุดเชื้อไฟ
KEY
POINTS
- นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต สส.พิษณุโลก 3 สมัย แพ้
“ผมประกาศชัดเจนว่า การเลือกตั้ง ไม่ได้อยู่ในใจ มันเป็นเรื่องของอนาคต” นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี ในวัย 63 ปี อดีต สส.พิษณุโลก 3 สมัย ตั้งแต่ปี 2548 ปี 2550 ปี 2554 แพ้ สส.เขตเพียงครั้งเดียวให้กับพรรคอนาคตใหม่ เมื่อปี 2563 ลงสมัคร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยภักดี ปี 2566 แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง
เขาให้สัมภาษณ์พิเศษผ่าน “กรุงเทพธุรกิจ” ภายในที่ทำการพรรคไทยภักดี จ.นนทบุรี ถอดบทเรียนตลอดการเป็นนักการเมืองกว่า 20 ปี หลังลาออกราชการแพทย์ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ตำแหน่งสุดท้ายคือ ผู้ช่วย ผอ.โรงพยาบาลพุทธชินราช จ.พิษณุโลก
นพ.วรงค์ เป็นคน จ.สุโขทัยโดยกำเนิด สร้างผลงานที่จดจำคือตรวจสอบโครงการรับจำนำข้าวสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สามารถทำให้อดีตนายกฯ อดีตรัฐมนตรี ข้าราชการระดับสูง และพ่อค้า ต้องโทษจำคุกได้
"เราได้ตรวจสอบโครงการรับจำนำข้าว โครงการขนาด 9.4 แสนล้านบาท ซื้อข้าว 8.7 แสนล้านบาท ผมจำตัวเลขได้หมด สร้างความเสียหาย 5.36 แสนล้านบาท และสามารถเอานายกฯ และเอารัฐมนตรี เอานักการเมือง ข้าราชการระดับสูง องค์ประกอบของพ่อค้า ติดคุก ผมว่ามันต้องใช้ความมุ่งมั่นความทุ่มเท ไม่หวั่นไหวต่อผลประโยชน์ นี่คือสิ่งที่ผมภูมิใจสูงสุด"
พลิกบทบาทมือปราบตรวจสอบรัฐบาลในสภาฯ มาเป็นมือตรวจสอบภาคประชาชนนอกสภาฯ นพ.วรงค์ เคลื่อนไหวกับกลุ่มการเมืองที่ยืนอยู่ปีกตรงข้ามรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ต่อต้าน “ทักษิณ ชินวัตร” ผนึกกำลังกับกลุ่ม คปท.(เครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย) คณะหลอมรวมประชาชน อดีตกลุ่มพันธมิตรฯ และนักวิชาการขั้วตรงข้ามทักษิณ
“เรากำลังต่อสู้ในสิ่งที่ไม่ถููกต้อง การกระทำตั้งแต่วันที่คุณทักษิณกลับมาเหยียบแผ่นดินไทย มันเป็นตั้งแต่สมัยรัฐบาลเก่าภายใต้การดูแลของพรรคเพื่อไทย คุณไปเป็นนักโทษชั้น 14 ใช้อิทธิพล กลายเป็นนักโทษเทวดา กระบวนการยุติธรรมที่ถูกทำลายไปหมด”
นพ.วรงค์ ชี้จุดเปราะบาง จากหนักไปหาเบาที่สุดของรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร ซึ่งอาจถึงจุดจบก่อนครบวาระได้
“หนักสุด 1.เรื่องชั้น 14 รัฐบาลจะเข้าปีที่ 2 แล้ว ยังไม่เคลียร์ คุณต้องเอากฎหมายกลับมาเป็นกฎหมายให้ได้ เรื่องนี้ประชาชนไม่ยอม 2.เอ็มโอยู 44 3.กาสิโน พนันออนไลน์ อันตรายมาก มีกระแสต้านหลายภาคส่วนมาก 4.พฤติกรรมของคุณทักษิณทำตัวเหนือรัฐบาล แม้แต่ทำตัวเหนือพรรคเพื่อไทย และ 5.คุณทักษิณ ปราศรัยในเวทีต่างๆ ชอบอ้างสถาบันเบื้องสูง”
จุดเชื้อไฟนิยาม"ระบอบทักษิณใหม่"
“เราไม่สามารถแยกว่าเป็นเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ที่นำไปสู่การแตกหักของรัฐบาล แต่พฤติกรรมเหล่านี้ สิ่งเหล่านี้ บทสรุปก็คือ เพราะอยู่ภายใต้การครอบงำของระบอบทักษิณใหม่ (New Thaksin Regime)” นพ.วรงค์ ตอกย้ำอิทธิฤทธิ์ใหม่ของ “ทักษิณ”
ปี 2548 นักวิชาการสายรัฐศาสตร์ นิยามคำว่า “ระบอบทักษิณ” ในห้วงที่ “ทักษิณ” เป็นนายกฯ สร้างความนิยมทางการเมืองผ่านนโยบายประชานิยม ครองเสียงข้างมากเด็ดขาดในรัฐสภา กระทั่งล้มลงจากจุดกระแสของกลุ่มมวลชนนอกสภาฯ และเพลี่ยงพล้ำให้กับรัฐประหาร
ทว่า นพ.วรงค์ หัวหอกพรรคไทยภักดี พรรคที่ขึ้นชื่อเรื่องความจงรักภักดีต่อสถาบัน นิยาม "ระบอบทักษิณใหม่" ใน พ.ศ.นี้
“ผมใช้คำว่าระบอบทักษิณใหม่ ก็แล้วกัน เป็น New Thaksin Regime ระบอบทักษิณใหม่ แต่การใช้อำนาจ พฤติกรรมต่างๆ เหมือนเดิมใช่ไหม วันนี้กับอดีต ไม่ได้มีอะไรแตกต่างกัน แต่มีประเด็นเดียวที่แตกต่าง เราจึงใช้คำว่าา ระบอบทักษิณใหม่"
“ครั้งนี้ ภาษาชาวบ้าน โหนเจ้า ระบอบทักษิณเก่าจาบจ้วงเจ้า ต่างกันนิดเดียว แม้แต่คุณทักษิณก็โดนมาตรา 112 แต่ ณ วันนี้พยายามอ้างสถาบัน เหมือนว่าตัวเองแสดงความจงรักภักดี แต่คนแบบนี้ไว้ใจไม่ได้ วันที่กระชับอำนาจได้ อันตราย นี่คือระบอบทักษิณใหม่”
ถามว่า ฝั่งคุณทักษิณ หรือขั้วตรงข้ามกล่าวหากลุ่มต่อต้านมักปลุกผีทักษิณ นพ.วรงค์ ระบุว่า คนที่ไม่สำนึก ก็พยายามโจมตีว่าปลุกผี ไม่ทันไรก็ลงมาอีกแล้ว วนกลับมาที่เดิม มันเป็นพฤติกรรมที่คุณกระทำ คุณก็ทำซ้ำๆ เหมือนเดิม ประวัติศาสตร์ให้คุณได้เรียนรู้ อะไรที่ดีงามก็สืบสานได้ แต่อะไรที่ไม่ถูกต้องนำไปสู่ปัญหาที่คุณล่มสลาย ควรจะเรียนรู้ แต่วันนี้คุณไม่แคร์ การกระทำทุกอย่างของภาคประชาชนที่เกิดขึ้น เกิดจากพฤติกรรมของคุณ คุณเป็นสาเหตุ ทำให้ประชาชนออกมา"
รหัสการเมืองของ นพ.วรงค์ จุดน็อกขั้วทักษิณ ก็คือ รัฐบาลเป็นสาเหตุหลัก ที่ทำให้ประชาชนต้องออกมา ถ้ารัฐบาลทำถูกต้อง ไม่มีใครออกมา
ยก ป.วิอาญา “ทักษิณ”ยังไม่ติดคุก
โฟกัสเป้าใหญ่ การพักรักษาตัวที่ชั้น 14 รพ.ตำรวจ ของ “ทักษิณ” ทำให้ นพ.วรงค์มองว่า ฝ่ายรัฐบาลกำลังใช้มาตรา 55 ของกฎหมายราชทัณฑ์เท่ากับว่า “ทักษิณ” ติดคุกแล้วกลับบ้านได้ แต่มาตรา 246 ของ ป.วิอาญา พ.ศ.2477 บอกว่าต้องขออนุญาตศาลก่อน แล้วมาตรานี้ วรรคท้ายระยุว่า แม้คุณไปรักษาที่โรงพยาบาล ไม่ถือว่าจำคุก ซึ่งกฎหมายขัดแย้งกัน
“มาตรา 6 ของ พ.ร.บ.ราชทัณฑ์เขียนไว้ชัดเจนว่า อำนาจกรมราชทัณฑ์ทำสิ่งเหล่านี้ได้ แต่ห้ามขัดแย้งกับ ป.วิอาญา เท่ากับ ป.วิอาญา ใหญ่กว่า วันนี้คุณต้องให้ ทักษิณกลับมาติดคุก คุณแทรกแซง แม้แต่อำนาจของตุลาการ เราจะต้องช่วยกันจัดการสิ่งเหล่านี้”
ส่วนคำขู่ของมวลชนที่ประกาศจะชุมนุมยาวนั้น นพ.วรงค์ระบุว่า “การจบของรัฐบาล จะไม่เหมือนเทคนิคเดิม ๆ ภายใต้เทคโนโลยีที่มันเปลี่ยนไป ผมใช้คำว่า สิ่งที่เราทำก็เหมือนแฟลชม็อบ เป็นสั้นๆ ไม่ได้สร้างความเดือดร้อน ไม่เหนื่อยมาก 2 ชั่วโมงจบ ทำแต่ละครั้งประชาชนได้ตื่นตัว ได้แสดงออก ได้มีความสุข ไม่เหนื่อย อย่างน้อยได้เป็นการเตือนรัฐบาล”
“คุณมองว่าไม่ทันไรจะเอาม็อบลงถนนแล้ว มาเรียกร้องให้ประชาชนออกมาอีกแล้ว การเรียกม็อบมาจากรัฐบาล เป็นฝีมือรัฐบาล ไม่ใช่แกนนำ ทุกคนเขารักความถูกต้องเท่านั้นเอง เราไม่ได้ออกมาล้มรัฐบาล เราออกมาล้มนโยบาย” นพ.วรงค์ ถามกลับคนที่ด้อยค่าม็อบนอกสภา
ประธานพรรคไทยภักดี ย้ำว่า “กระแสต้าน เป็นหลักวิทยาศาสตร์ ฟิสิกส์ แอกชัน กับรีแอกชัน คุณแอกชันมาแรง ก็รีแอกชันกลับไปแรง กฎสังคมก็เป็นเหมือนกัน คุณมีการกระทำ มีกรรมที่แรง ปฏิกิริยาจะแรงขึ้น”
ส่วนความจำเป็นที่ต้องจับมือกับ จตุพร พรหมพันธุ์ อดีตประธาน นปช. นั้น นพ.วรงค์ บอกว่า "วันนี้จุดยืนเราตกผลึกกัน ถ้าจุดยืนเราตรงกัน เราก็ร่วมมือกัน"
ถามย้ำว่า กลุ่มมวลชนนอกสภาฯ พยายามจะนวดรัฐบาลไปเรื่อยๆ ก่อนหรือไม่ เพื่อรอเงื่อนไขที่สุกงอม นพ.วรงค์ ระบุว่า "คำถามนี้เหมือนว่าเราจะล้มรัฐบาลให้ได้ ไม่ใช่ เราต้องการยุติ หยุดนโยบายเลวๆ ของรัฐบาล ตรงนี้ต้องเคลียร์นะ คิดว่าเราจะมารวมกันเพื่อล้มรัฐบาลอย่างเดียว แต่ถ้าตราบใด ที่รัฐบาลยังแข็งขืน ดึงดัน มันจะไปสู่การล้มด้วยตัวเอง"
ปชน.ฝ่ายค้านมืออ่อน
เมื่อถามถึงบทบาทแกนนำพรรคฝ่ายค้านอย่าง พรรคประชาชน นพ.วรงค์ ตอบทันทีว่า “ผมไม่คิดว่า ประเทศวันนี้มีฝ่ายค้าน ความรู้สึกผมไม่รู้สึกว่าประเทศนี้มีฝ่ายค้าน การต่อสู้สมัยก่อน พรรคประชาธิปัตย์มีพลังในการคัดค้าน ให้โอกาสใครมีข้อมูลมาช่วยกัน เวทีสภาฯจึงได้รับความสนใจ วันนี้สังเกตการต่อสู้รัฐบาล กลายเป็นเวทีนอกสภาฯ ได้รับความสนใจมากกว่าเวทีในสภาฯ เพราะฝ่ายค้านในสภาฯ ไม่ได้ทำหน้าที่”
“แม้แต่วันนี้กาสิโน พรรคการเมืองที่ออกมาคัดค้านจริงๆ จังๆ ไม่มี วันนี้การที่รัฐบาลเหิมเกริม เพราะคุณมีดีลอะไรบางอย่างหรือเปล่า ผมรู้สึกว่าไม่มีฝ่ายค้าน”
เชื่อว่าอนาคตมีดีลในการตั้งรัฐบาลร่วมกันใช่หรือไม่ นพ.วรงค์ บอกว่า เป็นไปได้ เรื่องใหญ่ที่เป็นผลประโยชน์ของพวกคุณ อย่างเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ โดยหลักการ มันไม่ควรจะไปด้วยกัน แต่เขาทำบนผลประโยชน์ของนักการเมือง ที่ทุนใหญ่ต้องการ แล้วพวกนี้สนใจแต่เรื่องที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ และนำไปสู่การล้มล้างสถาบันของประเทศ
“คุณแพทองธารไม่แหลมคม มันก็ยิ่งผสมโรง พ่ออย่างหนึ่ง ลูกอย่างหนึ่ง มันก็ยิ่งไปทางเดียวกัน ถ้าลูกสาวเป็นคนที่ฉลาด คนฉลาดจะมีพฤติกรรมอีกแบบหนึ่งในการแสดงออก ผมว่าอาจจะทำให้เรื่องของคุณทักษิณเพลาๆ ลง แต่ลูกสาวก็ไม่เก่ง ผมไม่รู้สึกว่าเขาเป็นนายกฯ คิดว่าคนไทยโง่เหรอ คุณชอบคิดของคุณแบบนี้” นพ.วรงค์ ตอบคำถามทักษิณบอกว่าลูกจ้างพ่อ ลูกสั่งพ่อ
เผยเหตุทิ้ง ทรท.เข้า ปชป.
ช่วงหนึ่ง นพ.วรงค์เคยเป็นสมาชิกพรรคไทยรักไทย ในระยะสั้นๆ ก่อนเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2548 ระหว่างรับราชการที่โรงพยาบาลพุทธชินราช ก็มีพรรคไทยรักไทยมาทาบทามเมื่อปี 2546 เพราะพื้นที่เขต 1 เป็นของ สส.พรรคประชาธิปัตย์
"หลังจากที่ผมตอบรับ ผมก็มุ่งมั่นเดินหน้าลงพื้นที่ ฝึกการทำงานการเมือง ผมเป็นสมาชิกพรรค ผมไม่เคยมีกิจกรรมกับพรรค แต่มีครั้งหนึ่งคุณเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ไปพื้นที่ จ.พิษณุโลก เขาบอกให้ผมไปเดินตาม โอเค มันใหม่ๆ ก็แค่นี้ ผมเป็นแค่สมาชิกพรรคแล้วมีคนโปรยเสน่ห์ว่า จะให้เป็นว่าที่ผู้สมัคร สส. แต่สุดท้ายแล้วเขารับ สส.เก่าของพรรคประชาธิปัตย์ เข้าไป ผมไม่ได้ซึมซับอุดมการณ์พรรคไทยรักไทยเลย ในฐานะสมาชิกพรรค คนหน้าใหม่ เขาไม่ให้ราคาหรอก แต่เราทำหน้าที่ ในการลงพื้นที่พบประชาชน หลังจากที่เขาไม่เอาผม ผมก็ไปสมัครพรรคประชาธิปัตย์"
"คุณเยาวภา ให้คนเอารถมารับผมที่สนามบินให้ผมไปพบ คือเสียดายผมนะ ก่อนที่ผมจะไปอยู่พรรคประชาธิปัตย์ แม้ผมไม่เคยเจอนะ เคยเจอ 1 ครั้งแต่ไม่เคยเจอที่ แล้วเจออีกครั้งตอนปีใหม่ เพราะเขาดูแลภาคเหนือ เราเป็นเด็กใหม่ ควรไปพบผู้ใหญ่บ้าง ไปที่ จ.เชียงใหม่ เอากระเช้าไปให้ ในฐานะเป็นว่าที่ผู้สมัคร สส.เฉยๆ หลังจากเขาไม่เอาผม ผมก็จะมาพรรคประชาธิปัตย์ ด้วยความรู้สึกว่าไม่เข้าใจหรอกว่า พรรคแต่ละพรรคจุดยืนคืออะไร มีการต่อสู้อะไร รู้สึกว่า เข้าใจว่าทุกพรรคการเมืองมันดี แค่นี้"
นพ.วรงค์ ระบุถึงการตอบปฏิเสธพรรคไทยรักไทย จนฝ่ากระแสพรรคไทยรักไทย 377 เสียง ได้เป็น สส.สมัยแรกและเป็น 1 ใน 4 สส.ภาคเหนือของพรรคประชาธิปัตย์
"คุณเยาวภาให้คนเอารถมารับ เอาคนไปพบ อยากจะให้ผมอยู่ไทยรักไทยต่อ จะให้ผมไปเป็นปาร์ตี้ลิสต์ แต่ผมก็มีความรู้สึกว่า ความจำเป็นในยุคนั้น สส.เขตจะมีอิทธิพลเยอะ เราอยากเป็นผู้สมัคร สส.เขต อยู่ๆ จะให้เราเป็น ปาร์ตี้ลิสต์เลย ยังไง รู้สึกเราไม่สนุก ก็ไม่เอา"
นพ.วรงค์ ระบุถึงพรรคประชาธิปัตย์ในยุคนี้ว่า ตนเองได้บทเรียน บางสิ่งบางอย่าง มันไม่ใช่อย่างที่คิด สิ่งที่เราคิดคือ บทสรุปที่เห็นพรรคเก่าของตนเอง เดินมาถึงจุดที่ตกต่ำ
"ไม่เคยคาดคิดว่าจะมาถึงวันนี้ เพราะมันมีจุดผิดพลาดหลายอย่าง ในการสร้างคนใหม่ ๆ ขึ้นมา แล้วทำให้คนมีความตั้งใจอยู่ไม่ได้"
เมื่อถามถึง การเลือกตั้งซ่อม สส.พิษณุโลก เขต 1 ครั้งล่าสุด นพ.วรงค์ บอกว่ามีคนพยายามติดต่อตนเองพร้อมเสนองบประมาณ และเชื่อว่าสู้ได้
"วันที่ผมแพ้การเลือกตั้ง ทุกคนไปเลือก ทุกคนไปเลือกพรรคลุงตู่ (พรรคพลังประชารัฐ ปี 2562) เพราะเชื่อว่ายังไง ผมก็ชนะ ตอนนั้น คนมาขอโทษผมเยอะมากตอนนั้น ตอนนั้นผมเดินตลาด เพราะคิดว่ายังไง หมอก็ชนะ ก็เลยไปเลือกพรรคลุงตู่ คนของพรรคลุงตู่ก็โนเนมมากเลยนะ แต่ได้คะแนนมากกว่าผมด้วยนะ ไม่เป็นไร คนนี้เข้ามาติดต่อผม มีเงินให้ก้อนหนึ่ง และเชื่อว่าผมน่าจะชนะ เพราะทุกคนมีความรู้สึกว่า ยังอาลัยอาวรณ์ผม เสียดายผม แต่ถ้าผมเข้าไปคนเดียว ผมทำอะไร แล้วผมไปทำอะไร แล้วสุดท้ายก็เป็นหนี้บุญคุณอีกนะ เป็นนายทุนของพรรคอื่นที่ให้เงินผมมา แต่ไม่ใช่ตัวผมไง อะไรไม่ถูกต้อง ผมก็ไม่เอา"
ส่วนการเมืองใน จ.พิษณุโลก นพ.วรงค์ ยังเชื่อว่าระดับการเมืองท้องถิ่นยังเป็นของบ้านใหญ่ แต่ถ้าระดับชาติจะเป็นเรื่องของกระแสพรรคการเมือง และเชื่อว่ารอบนี้ ไม่ง่ายเหมือนเดิม เพราะโซเชียลมีเดียมีเดียบล็อกการเมือง
"คุณทักษิณคิดว่าการเมืองบ้านใหญ่อาจจะกลับมาอีกรอบหรือไม่ แต่ผมเอง ตราบใดที่ทุกพรรคการเมือง ซื้อเสียง อีกฝ่ายหนึ่งซื้อสื่อ ถ้าคุณใช้เงินเยอะ ระบบไม่ดีขึ้น ถ้า กกต.ยังเป็นแบบนี้อยู่ถ้าการเมืองใหญ่ ระดับ สส.เป็นเรื่องของกระแส ยังไงกระแส สำคัญกว่า ถ้าการเมืองท้องถิ่นเป็นเรื่องของบ้านใหญ่
"ผมคิดว่าคุณทักษิณอาจจะล้มเหลวก็ได้ที่พยายามจะต้อนบ้านใหญ่ อย่าลืมการเลือกตั้งท้องถิ่น มันใช้เงินเยอะ การเลือกตั้งท้องถิ่นใช้เงินเยอะ โดยเฉพาะการเลือกตั้ง นายกอบจ. ใช้เงินเยอะมาก คุณไม่ใช้เงิน ไปจ่ายแข่งกัน 50 ล้านนี่กระจอกนะ เขาตี เป็น 100 ล้าน ค่าใช้จ่ายต่างๆ"
นพ.วรงค์ ระบุว่า "เมื่อถึงจุดหนึ่งแล้ว ตำแหน่งทางการเมือง ไม่ใช่อุปสรรคกับความตั้งใจของเรา ผมถึงชอบพูดว่า ผมคือผู้แพ้ ที่ไม่เคยคิดจะยอมแพ้นะ ผมจะเดินไปเรื่อยๆ ถ้าประชาชนคิดว่า อยากให้ผมไปทำหน้าที่ในสภา เลือกผมมา ไม่เลือก ไม่ว่า ผมทำอย่างนี้ได้"
เล่าเหตุโยนแฟ้มใส่ประธานสภา
เมื่อถามถึงเหตุการณ์ที่สภาผู้แทนราษฎรเคยพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปรองดองเมื่อปี 2555 จนเกิดเหตุการณ์ความวุ่นวายในสภา ซึ่ง นพ.วรงค์ได้เคยถึงขั้นปาหนังสือข้อบังคับฯ และโยนแฟ้มเอกสารใส่ สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาฯ ขณะนั้น นพ.วรงค์ ตอบทันทีว่า "วันนั้นผมจำได้ว่ารัฐบาลเละเทะ มากเลยนะโดยเฉพาะสภา คือ เราพยายามใช้ข้อกฎหมายในการต่อสู้ เพื่อจะให้ทุกคนช่วยกันแปรญัตติ ให้ประชาชนเข้าใจข้อเท็จจริง ทุกคนต้องช่วยกันแปรญัตติ แล้วเรามีปัญหาอะไร ก็ใช้ข้อบังคับสภาสู้ แต่ประธานสภาฯ วันนั้นต้องยอมรับว่า เขาก็รู้ตัวว่าเขาไม่ถูกต้อง เขาไม่ยอมเลือกฝ่ายค้านเลือกแต่ฝ่ายรัฐบาล"
"มันจึงฮือขึ้นมาในสภาฯ ด้วยความรู้สึกกฎธรรมชาติ ยิ่งคุณกดมากเท่าไร แอกชั่นมากเท่าไร รีแอกชันมันก็เกิดขึ้น ตอนนั้นเองผมไปมุงหน้าบัลลังก์ประธาน ผมคิดว่าลำพัง สติผมมาเลย ลำพังถ้าเราแค่นี้ คนก็คิดเฉยๆ ลำพังบอกว่าประธานคุณไม่เป็นกลาง มันต้องทำอะไรสักอย่างหนึ่งให้ คนโฟกัสมาที่สภา บังเอิญผมถือข้อบังคับสภาอยู่พอดี แล้วถ้าผมคิดว่าถ้าทำลักษณะนั้น จะอธิบายสังคมแบบไหน โยนให้ประธานสภาฯ ให้ไปอ่าน โยนข้อบังคับไปเลย โยนขึ้นไป แล้วต่อด้วย พรรคพวกมีแฟ้มอยู่ก็โยนขึ้นไป"
"นี่คือเจตนา คือเพื่อให้มันเป็นเรื่องที่แรง ที่ประธานไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับ ปฏิบัติไม่เป็นกลาง อันนี้ผมว่าจริงๆ ทางการเมืองถือว่าเราได้ผล ทำให้ทุกอย่างหยุดนิ่งไปหมดเลย ประธานก็รู้สึกว่าตัวเอง ถูกกระทำแรง ถ้าถามกันด้วยเหตุด้วยผล มันควรจะมีไหม แต่เมื่อเจอการกระทำที่ไม่ควรจะมี มันก็เจอเหตุการณ์ไม่ควรจะมีเกิดขึ้น คือผมเชื่อในหลักแอกชัน รีแอกชัน ถ้าคุณทำแรงมา อีกฝ่ายก็แรงไป"
ฉีกทิ้งการเมือง 3 ก๊ก
สำหรับวาทกรรมสงครามการเมืองค่ายสีแบบ สามก๊ก ไม่เคยอยู่ในนิยามการเมืองของ นพ.วรงค์
“พวกนี้เป็นวาทกรรมของนักวิชาการชุดหนึ่ง ที่เปรียบการสร้างแบ่งขั้วการเมือง จริงๆ สังคมไทยไม่ได้เดินไปถึงเชิงอุดมการณ์ตรงนั้น ผมยังไม่ค่อยเชื่อความคิดนี้เท่าไร มีแต่ผลประโยชน์ เราอะไรมาหลอกประชาชนเท่านั้นเอง”
“เมืองไทย มีแต่ผลประโยชน์ แล้วก็เป็นผลประโยชน์ของนายทุน เพียงแต่คุณจะเอาอะไรมาล่อกลุ่มเป้าหมายของคุณ กลุ่มนี้คือคนรุ่นใหม่ คุณก็หาอะไรมาหลอกเขา ผมยังไม่เคยเชื่อเรื่องพวกนี้ ผมไม่เคยเชื่อว่านักการเมืองไทยมีอุดมการณ์”
นิยามค่ายแดง ค่ายส้ม ค่ายน้ำเงิน นพ.วรงค์ ไม่ให้ราคาทฤษฎีการเมืองสามก๊ก พร้อมบอกว่า กลุ่มคนเหล่านี้คือกลุ่มผลประโยชน์ สีคือกลุ่มผลประโยชน์ ให้แกนนำได้รับผลประโยชน์ แล้วประชาชนก็คล้อยตาม
“ยิ่งแกนนำมีผลประโยชน์กับเจ้าของสี เพราะต้องการแบ่งแยกประชาชน ยุคหนึ่งแบ่งเรื่องสี ยุคนี้แบ่งเป็นคนรุ่นใหม่บ้าง คนรุ่นเก่าบ้างก็แล้วแต่ แต่มันใช้ในการแบ่งประชาชน สุดท้ายประชาชนก็เป็นเหยื่อ ถ้าอำนาจเป็นของประชาชน การขับเคลื่อนของประชาชนที่รวมกลุ่มกันขนาดนี้ โดยที่ไม่ต้องใช้เงิน คุณต้องฟังเขาสิ ดังนั้น เป็นวาทกรรมของนักการเมืองที่มาหลอกประชาชน"
หากทางตันไม่ปฏิเสธรัฐประหาร
ถามว่า ถ้าวันนี้การเมืองมันถึงทางตัน อะไรคือทางเลือกที่ดีที่สุด นพ.วรงค์ ตอบอย่างมั่นใจว่า "เราต้องไม่ปฏิเสธนะ ถ้ามันถึงทางตัน ถ้าทหารออกมาผมว่าประชาชนก็รับได้ แต่ผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้ต้องไปทางเลือกสุดท้ายจริงๆ
ถามย้ำว่า รัฐประหารใช่หรือไม่ นพ.วรงค์ ระบุว่า “ถูกต้อง”
ส่วนการชุมนุมในอดีตจะมีพรรคการเมืองหนุนหลังจนล้มรัฐบาลสำเร็จ แต่ม็อบปัจจุบันไร้พันธมิตรจากพรรคการเมืองเข้าร่วม นพ.วรงค์ ตอบว่า “จุดติดหรือไม่ติด เป็นเรื่องของรัฐบาล รัฐบาลเป็นคนเรียกแขก และผมว่าดีนะ พรรคการเมืองไม่ต้องมายุ่ง แม้พวกผมเองเป็นพรรคการเมือง แต่พวกผมเป็นพรรคการเมืองที่ไม่มีทุนผูกขาดที่เป็นตัวทำลายชาติเข้ามาเกี่ยวข้อง ถ้านำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้ ผมเชื่อว่าบทสรุปจะดีกว่า การเคลื่อนไหวทุกครั้งที่มีพรรคการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง”
“อดีตที่ผ่านมา ทุกครั้งจะมีพรรคการเมือง (สนับสนุนม็อบ) สุดท้ายก็จบด้วยการเขียนรัฐธรรมนูญ เพื่อผลประโยชน์ของการเมือง ไม่ใช่ความยั่งยืน”
“วันนี้ระบบการเมืองเป็นของนายทุน หมดทุกพรรคการเมือง ผมกล้าชี้เลยว่า มีนายทุนใหญ่ที่มีเงินเป็นหมื่นล้าน เป็นเจ้าของทุกพรรคการเมือง สุดท้ายพวกนี้ทำเพื่อผลประโยชน์ตัวเอง” นพ.วรงค์ สรุปบทเรียนจากการสัมผัสทั้งหน้าม่านและหลังฉากการเมืองตลอดกว่า 20 ปี