'กมธ.การเมือง สว.' ออกแถลงการณ์ ชี้ ส่ง 'อุยกูร์' กลับจีน ขัดหลักการสากล

"กมธ.การเมือง" วุฒิสภา ออกแถลงการณ์ ชี้ "รัฐบาล" ละเมิดสิทธิ-ทำขัดหลักการสากล หลังส่ง 48อุยกูร์ กลับจีน จ่อตรวจสอบรัฐบาลต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง การมีส่วนร่วมของประชาชน สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ที่มี นางอังคณา นีละไพจิตร สว.เป็นประธานกมธ. ได้ออกแถลงการณ์ เรื่อง การส่งตัวชาวอุยกูร์ทั้ง 48 คน กลับไปยังประเทศต้นทาง
โดยแถลงการณ์ระบุว่า ปัจจุบันเป็นที่ยืนยันแล้วว่า รัฐบาลไทยได้ส่งตัวผู้ลี้ชาวภัยอุยกูร์ทั้ง 40 คนกลับประเทศจีน แม้รัฐบาลจะแถลงว่าผู้ลี้ภัยกลุ่มนี้สมัครใจเดินทางกลับประเทศต้นทาง แต่การที่รัฐบาลส่งตัวคนเหล่านี้กลับโดยไม่เปิดเผย ไม่เปิดโอกาสให้สังคมตรวจสอบ และไม่เปิดโอกาสให้ชาวอุยกูร์ทั้ง 40 คน แถลงความต้องการต่อสาธารณะ ถือเป็นการกระทำที่ปิดบังซ่อนเร้นข้อเท็จจริง ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการมีข้อสังเกตต่อการดำเนินการของรัฐบาลดังนี้
1.ผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ทั้ง 40 คน ได้ถูกทางการไทยควบคุมตัวไว้ในห้องกักสวนพลูมานานมากกว่า 11 ปี โดยที่ผ่านมาทุกคนปฏิเสธที่จะเดินทางกลับประเทศต้นทาง เนื่องจากกลัวจะได้รับอันตราย คณะกรรมาธิการพยายามขอเข้าเยี่ยมผู้ลี้ภัยทั้ง 40 คน เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ทุกคนได้รับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และจะไม่ถูกผลักดันสู่อันตรายหรือถูกส่งกลับโดยไม่สมัครใจ แต่ไม่ได้รับอนุญาต คณะกรรมาธิการรู้สึกผิดหวังและเสียใจที่หน่วยงานรัฐให้ข้อมูลที่ไม่เป็นจริงต่อคณะกรรมาธิการที่มีหน้าที่และอำนาจในการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชน และตรวจสอบการทำหน้าที่ของฝ่ายบริหาร
2.คณะกรรมาธิการ มีความเห็นว่า การส่งตัวผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์กลับประเทศต้นทาง มีนัยยะสำคัญต่อการทำลายความน่าเชื่อถือของประเทศไทยในเวทีโลก โดยเฉพาะเมื่อประเทศไทยดำรงตำแหน่งสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติ เพราะการส่งตัวผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์กลับประเทศจีนถือเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพโดยเฉพาะสิทธิในชีวิตและเนื้อตัวร่างกาย ขัดต่อหลักการไม่ผลักดันสู่อันตราย ซึ่งถูกกำหนดไว้ในมาตรา 3 ของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี
นอกจากนี้ ยังขัดต่อมาตรา 7 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) มาตรา 16 อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ (CED) ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคี และมาตรา 13 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565
3.คณะกรรมาธิการเห็นว่ารัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องน่าจะตระหนักอยู่แล้วว่าการส่งชาวอุยกูร์กลับประเทศต้นทางมีความเสี่ยงสูงที่ผู้ลี้ภัยเหล่านี้อาจได้รับอันตราย หรือถูกบังคับให้สูญหาย ดังเช่นกรณีรัฐบาลที่ผ่านมาได้ส่งผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ 108 คน กลับประเทศจีนเมื่อปี 2558 ซึ่งจนบัดนี้ญาติไม่สามารถติดต่อทั้ง 108 คนได้
คณะกรรมาธิการเห็นว่าการที่รัฐบาลไม่ให้ความร่วมมือ และไม่ให้ข้อเท็จจริงในการทำหน้าที่ของคณะกรรมาธิการ เป็นการไม่เคารพการทำหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งประเด็นผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยทางศาสนาในประเทศจีน เป็นประเด็นที่มีความอ่อนไหว เปราะบาง การผลักดันผู้ลี้ภัยกลุ่มนี้กลับประเทศจีนจึงเป็นการละเมิดหลักการไม่ผลักดันสู่อันตราย ซึ่งห้ามกระทำโดยเด็ดขาดเนื่องจากมีความเสี่ยงที่คนกลุ่มนี้จะถูกทรมาน ได้รับการปฏิบัติที่โหดร้าย ถูกทำให้สูญหาย หรือเผชิญอันตรายที่ไม่อาจคาดเดาเมื่อถูกผลักดันกลับไปยังประเทศต้นทาง
คณะกรรมาธิการ จึงขอย้ำเตือนรัฐบาลถึงคำมั่นที่ได้ให้ไว้ต่อรัฐสภา ต่อสาธารณะ และต่อประชาคมระหว่างประเทศในการเคารพสิทธิมนุษยชน ธรรมมาภิบาล และหลักนิติธรรม คณะกรรมาธิการจะทำหน้าที่ในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลต่อไป เพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชนสำหรับบุคคลทุกคน