หลังฉาก! ดีเอสไอรับคดีพิเศษสอบ ‘นอมินีอัคราฯ’ พันสินบนข้ามชาติ?

พบบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ออสเตรเลีย เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่บริษัทจดทะเบียนในไทย ถูกร้องเรียนว่ากระทำการทุจริตในการขุดเหมืองแร่ทองคำในไทย
เงื่อนปมตรวจสอบ “นอมินีต่างชาติ” ที่เข้ามาถือครองหุ้นบริษัทไทย เพื่อทำประโยชน์เกี่ยวกับกิจการเหมืองแร่ทองคำ รายของ “อัครา รีซอร์สเซส” กลับมาได้รับความสนใจอีกครั้ง หลังจากเมื่อวันที่ 4 มี.ค.2568 ที่ผ่านมา NBT Connext ของกรมประชาสัมพันธ์ รายงานว่า กองคดีความมั่นคง กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แจ้งผลการดำเนินการกรณี นางอารมย์ คำจริง และ นางวันเพ็ญ พรมรังสรรค์ มีหนังสือฉบับลงวันที่ 6 ก.พ.2568 ขอให้ดีเอสไอ สืบสวนดำเนินคดีกับ บริษัท สวนสักพัฒนา จำกัด เป็นนอมิมีถือครองที่ดินแทนบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) นิติบุคคลต่างด้าว อันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542
บัดนี้ กองคดีความมั่นคง กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ดำเนินการสืบสวนเสร็จสิ้นแล้ว และอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ อนุมัติเป็นคดีพิเศษ ตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เมื่อวันที่ 4 ก.พ.65 เป็นเลขคดีพิเศษที่ 14/2568 โดยมีส่วนคดีความมั่นคง 4 กองคดีความมั่นคง เป็นผู้รับผิดชอบ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีดังกล่าว ดีเอสไอ เคยชี้แจงกรณีดังกล่าวเมื่อปี 2564 ระบุว่า สืบเนื่องจากกรณีที่ดีเอสไอได้มีการดำเนินคดีกับบริษัท อัครา ไมนิ่ง จำกัด หรือบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด ในความผิดอันเนื่องมาจากการเข้าดำเนินธุรกิจเหมืองทองคำ หรือเป็นที่รู้จักในชื่อ “เหมืองทองอัครา” ในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ และจังหวัดพิจิตร รวม 2 คดีมาก่อนหน้านี้ โดยสำนวนการสอบสวนคดีพิเศษทั้ง 2 คดีดังกล่าว คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้สรุป และมีความเห็นส่งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ และสำนักงานคณะกรรมการ ป.ป.ช. แล้ว และกรมสอบสวนคดีพิเศษยังคงสืบสวนในประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องต่อเนื่องตลอดมา
ต่อมา กลุ่มประชาสังคมปฏิรูปทรัพยากรและทองคำ โดยนางอารมย์ คำจริง กับพวก ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ และสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อติดตามความคืบหน้าผลการดำเนินคดีกับบริษัท ดังกล่าวในหลายกรณี กล่าวคือ การถือครองหุ้นแทนบุคคลต่างด้าว ในลักษณะนอมินีในการประกอบกิจการเหมืองทองคำ การทำเหมืองแร่นอกเขตประทานบัตร การปล่อยให้สารพิษรั่วไหลก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสุขอนามัยของประชาชนที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับเหมืองแร่ รวมทั้งความผิดเกี่ยวกับการฟอกเงิน และการหลบเลี่ยงภาษี
ในเรื่องดังกล่าว พ.ต.ท.กรวัชร์ ปานประภากร อธิบดีดีเอสไอ (ขณะนั้น) ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานสืบสวนหลายชุด เพื่อตรวจสอบและสืบสวนหาข้อเท็จจริง เกี่ยวกับเรื่องที่มีการร้องเรียนดังกล่าว โดยเมื่อวันที่ 25 ก.พ. 2564 อธิบดีดีเอสไอ ได้มีคำสั่งให้กรณีการถือครองหุ้นแทนบุคคลต่างด้าวของ บริษัทอัคราไมนิ่ง จำกัด หรือ บริษัทอัครา รีซอร์สเซส จำกัด ซึ่งเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 อันเข้าลักษณะของการกระทำความผิดตามประกาศ กคพ. (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 เรื่อง กำหนดรายละเอียดของลักษณะของการกระทำความผิดที่เป็นคดีพิเศษ ตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 เป็นคดีพิเศษ และได้มอบหมายให้พันตำรวจโทสุภัทธ์ ธรรมธนารักษ์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ และเร่งรัดให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
สำหรับประเด็นตามข้อร้องเรียนอื่นๆ ได้มอบหมายให้ พันตำรวจโท สุภัทธ์ ธรรมธนารักษ์ รองอธิบดีดีเอสไอ (ขณะนั้น) ดำเนินการตรวจสอบว่า คดีพิเศษที่ได้ดำเนินการไปก่อนหน้านั้น มีประเด็นซ้ำซ้อนกับเรื่องที่มีการร้องเรียน และดำเนินการไปโดยเรียบร้อยหรือไม่ พร้อมทั้งประสานงานพนักงานอัยการ และสำนักงานคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ได้รับสำนวนการสอบสวนคดีพิเศษจากคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ที่มีการสอบสวนไว้แล้ว เพื่อตรวจสอบ และดำเนินการตามข้อร้องเรียนของกลุ่มประชาสังคมปฏิรูปทรัพยากรและทองคำ ต่อไป
กรุงเทพธุรกิจ นำเสนออีกแง่มุมหนึ่งเกี่ยวกับกรณีข้างต้น ซึ่งเป็นสำนวนการไต่สวนในชั้นสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พบว่า ช่วงปี 2558 ก่อนหน้าที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตามมาตรา 44 สั่งระงับกิจการเหมืองแร่ทองคำของบริษัท อัคราฯ นั้น มีกลุ่มคัดค้านเหมืองแร่ 5 จังหวัด รวมตัวกันประมาณ 30 คน เข้ายื่นหนังสือถึงนายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. (ขณะนั้น) เพื่อขอให้ร่วมตรวจสอบผลการดำเนินการของดีเอสไอ กรณีเหมืองแร่ทองคำ จ.พิจิตร เนื่องจากเป็นความเดือดร้อนร้ายแรงต่อประชาชนจำนวนมากในพื้นที่พิจิตร เพชรบูรณ์ พิษณุโลก ที่อยู่รอบเหมืองแร่ทองคำนั้น
ต่อมา คณะกรรมการ ป.ป.ช. เผยแพร่เอกสารข่าวเมื่อวันที่ 1 ต.ค.2558 ระบุว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของคดีดังกล่าวที่กระทบถึงชีวิตของประชาชนจำนวนมาก ประกอบกับได้มีพยานหลักฐานเบื้องต้นจากคณะกรรมการหลักทรัพย์และการลงทุนของประเทศออสเตรเลีย (ASIC) ที่ส่งมาให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ประเทศไทย พบบริษัทซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทที่จดทะเบียนในประเทศไทย ถูกร้องเรียนว่าเกี่ยวข้องกับการกระทำการทุจริตในการขุดเหมืองแร่ทองคำ ในประเทศไทย
โดยมีการโอนเงินจากประเทศออสเตรเลีย มายังประเทศไทย ที่อาจเป็นไปเพื่อประโยชน์ในการขอใบอนุญาตขุดเหมืองแร่ทองคำ หรือเกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจเหมืองแร่ทองคำ และให้สินบนแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐในประเทศไทย ทางสำนักงาน ก.ล.ต. จึงส่งข้อมูลดังกล่าวมายังสำนักงาน ป.ป.ช. เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย ป.ป.ช. ต่อไป
ต่อมา คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนกรณีทุจริตในการทำเหมืองแร่ทองคำบริเวณพื้นที่จังหวัดพิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ประกอบด้วย ศาสตราจารย์พิเศษ วิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. (ขณะนั้น) เป็นประธานฯ และมีอนุกรรมการ ได้แก่ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. และผู้ทรงคุณวุฒิทั้งด้านกฎหมาย และการต่างประเทศ เพื่อดำเนินการไต่สวนโดยเร่งด่วนต่อไป
จากการตรวจสอบเชิงลึก พบว่า พล.ท.จารุมาศ เรืองสุวรรณ (เครือญาตินายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ) อดีตที่ปรึกษาพิเศษพรรคเพื่อไทย เคยเป็นกรรมการบริษัทในเครืออัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) อย่างน้อย 5 แห่ง ได้แก่ บริษัท ฟ้าร้อง จำกัด ,บริษัท ฟ้าแลบ จำกัด ,บริษัท อิสระ ไมนิ่ง จำกัด ,บริษัท ริชภูมิ ไมนิ่ง จำกัด และ บริษัท ฟ้าใหม่ เอ็กซพลอเรชั่น จำกัด แต่ปัจจุบันมิได้ดำรงตำแหน่งใดๆ แล้ว
อย่างไรก็ดีมีรายงานข่าว นักการเมืองระดับชาติที่ตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาในคดีนี้มี 2 ราย ได้แก่ นายประเสริฐ บุญชัยสุข อดีต รมว.อุตสาหกรรม และนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ อดีต รมว.มหาดไทย โดยทั้ง 2 รายเป็นรัฐมนตรีสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
ต่อมาเมื่อวันที่ 11 มี.ค.2563 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดนายสมเกียรติ ภู่ธงชัยฤทธิ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐาน และการเหมืองแร่ กับพวกรวม 6 ราย กรณีอนุญาตให้ บริษัท อัครา เปลี่ยนผังโครงการเหมืองแร่ทองคำชาตรีโดยมิชอบ เอื้อประโยชน์ให้เอกชน
เมื่อวันที่ 28 ส.ค.2563 น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. เปิดเผยว่า คดีดังกล่าวมีความซับซ้อน และแยบยล เป็นคดีระหว่างประเทศ ดังนั้นจึงมีการแยกประเด็นไต่สวนออกเป็น 2 กรณีคือ กรณีการติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐ และกรณีการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐ
เบื้องลึกข้อเท็จจริงกรณีข้างต้น น.ส.สุภา เคยให้สัมภาษณ์เมื่อครั้งยังเป็นกรรมการ ป.ป.ช.ว่า กรณีการติดสินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น ขณะนี้มีข้อมูลจากอีเมลพบว่า มีเส้นทางการเงินเข้ามาจริง มีการพักเงินที่ฮ่องกง และสิงคโปร์ จึงนำเข้ามาไต่สวนในสำนวน อย่างไรก็ดีขณะนี้อยู่ระหว่างรอการยืนยันข้อมูลอย่างเป็นทางการ โดย ป.ป.ช. ดำเนินการสืบหาเส้นทางการเงินดังกล่าวกับบัญชีอีเมลปลายทาง แต่เหมือนปลายทางจะรับปากบ้าง ไม่รับปากบ้าง เหลือแค่ฝ่าย ป.ป.ช. เดินทางไปต่างประเทศเพื่อขอข้อมูลดังกล่าวเท่านั้น จนถึงปัจจุบันยังไม่ได้ให้ความร่วมมือ โดยขณะนี้ ป.ป.ช. กำลังพยายามเต็มที่เพื่อดำเนินคดีกับบุคคลที่มีชื่อปรากฏในอีเมลฉบับนี้ แต่ต้องมีข้อมูลยืนยันอย่างเป็นทางการจากต่างประเทศก่อน
ล่าสุด เมื่อช่วงต้นปี 2568 กรุงเทพธุรกิจ ได้รับการยืนยันข้อเท็จจริงจากแหล่งข่าวระดับสูงในสำนักงาน ป.ป.ช.ว่า เรื่องนี้ยังอยู่ระหว่างสืบสวนอยู่ อย่างไรก็ดีด้วยข้อจำกัดทางกฎหมายของไทย คือ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ที่ระบุโทษสูงสุดคือ ประหารชีวิต ทำให้ประเทศซึ่งมีแหล่งข้อมูลเส้นทางการเงินเรื่องนี้ ไม่อาจส่งมอบข้อมูลให้ได้ เนื่องจากมองว่าเป็นหลักกฎหมายที่ขัดต่อสากล จึงทำให้การสอบสวนเรื่องนี้เป็นไปอย่างล่าช้า แม้ว่าสำนักงาน ป.ป.ช.จะอาศัยช่องทางให้อัยการสูงสุด (อสส.) เป็นผู้ดำเนินการแล้วก็ตาม แต่ก็ยังติดขัดปัญหาเรื่องดังกล่าว
ข้อมูลของบริษัทเอกชนที่เกี่ยวข้องตามสำนวนของ ป.ป.ช.เบื้องต้นมีอย่างน้อย 3 บริษัท ได้แก่ 1.บริษัท คิงส์เกต ซึ่งเป็นบริษัทแม่ จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ออสเตรเลีย 2.บริษัท สวนสักพัฒนา จำกัด เป็นนอมิมี มีถือครองที่ดินแทน และ 3.บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) จะนำมาเสนอในคราวถัดไป
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์