เผยโฉมตึกแถว 4 ชั้น ที่ตั้ง 9 บ.จีน-ไชน่า เรลเวย์ สร้างตึก สตง.

เผยโฉมอาคารพาณิชย์ 4 ชั้น ที่ตั้ง ‘CRCC’ บ.ทุนจีน ร่วมก่อสร้างตึก สตง. 2.1 พันล้าน พบใช้ที่อยู่ร่วมกันกับอีก 9 บริษัท แต่ป้ายหน้าตึกแจ้งมี 3 บริษัท
KEY
POINTS
- เผยโฉมอาคารพาณิชย์ 4 ชั้น ที่ตั้ง ‘CRCC’ บ.ทุนจีน ร่วมก่อสร้างตึก สตง. 2.1 พั
เงื่อนงำอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ มูลค่ากว่า 2.1 พันล้านบาท ถล่มลงมาเมื่อ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวที่เมียนมา กำลังเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงอย่างมากในสังคม โดยล่าสุด สตง. ออกแถลงการณ์ชี้แจงข้อเท็จจริง ยืนยันว่าการก่อสร้างอาคารดังกล่าวดำเนินการถูกต้องตามกฎหมาย ไม่มีการแก้แบบก่อสร้างตามกระแสข่าวแต่อย่างใด พร้อมกับขออนุญาตถูกต้อง ยึดตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคารฯ ขณะที่การเปิดให้เอกชนเข้าประมูลนั้น ก็ดำเนินการอย่างโปร่งใส
เบื้องต้น กรุงเทพธุรกิจนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างอาคารหลังดังกล่าว สรุปได้ว่า
1.โครงการนี้ มีการชงของบประมาณเพื่อขอก่อสร้างมาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2550 หรือราว 18 ปีก่อน ต่อมามีการขอปรับเปลี่ยนงบประมาณในปี 2563 ออกเป็น 2 แบ่งเป็น
งานก่อสร้างอาคารดังกล่าว วงเงิน 2.1 พันล้านบาทเศษ ดำเนินการโดย กิจการร่วมค้า ไอทีดี-ซีอาร์อีซี (บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จํากัด (มหาชน) และบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จํากัด)
งานผู้ให้บริการควบคุมงานก่อสร้าง วงเงิน 74.6 ล้านบาทเศษ ดำเนินการโดย กิจการร่วมค้า PKW (บริษัท พี เอ็น ซิงค์โครไนซ์ จํากัด บริษัท ว.และสหาย คอนซัลแตนตส์ จํากัด และ บริษัท เคพี คอนซัลแทนส์ แอนด์ แมเนจเม้น จํากัด)
2.พบ “เอกชนจีน” ที่มาร่วมเป็นกิจการร่วมค้า ไอทีดี-ซีอาร์อีซี ดำเนินการก่อสร้างอาคาร สตง.ดังกล่าวคือ บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จํากัด โดยจากการตรวจสอบพบมีชื่อจีนว่า บริษัท จงเที่ยสือจวี่จี๋ตวน (China Railway No.10 Engineering Group – CRCC) หนึ่งในบริษัทในเครือของรัฐวิสาหกิจจีนขนาดใหญ่ โดยสื่อจีนเคยรายงานข่าวเมื่อปี 2567 ที่ผ่านมาว่า บริษัทแห่งนี้ ดำเนินงานในโครงสร้างหลักของอาคารเสร็จสมบูรณ์แล้ว ความสำเร็จครั้งนี้ไม่ใช่เพียงความคืบหน้าในระดับกายภาพ แต่ยังถือเป็น โครงการอาคารสูงพิเศษ (超高层建筑) แห่งแรกในต่างประเทศของบริษัท ซึ่งสะท้อนถึงความสามารถในการแข่งขันด้านวิศวกรรมจีนที่กำลังก้าวรุกเข้าสู่ตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างจริงจัง
ทั้งนี้ บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จํากัด พบข้อเท็จจริงว่า ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 เอ็นจิเนียริ่ง กรุ๊ป คัมปะนี (สัญชาติจีน) ถือหุ้นใหญ่สุด 49% และมี “คนไทย” ร่วมถือหุ้น 3 คน คือ โสภณ มีชัย มานัส ศรีอนันท์ และประจวบ ศิริเขตร
โดยพบว่า “โสภณ-มานัส” ได้ร่วมถือหุ้น “บริษัทในเครือทุนจีน” อีกหลายสิบแห่ง ขณะเดียวกันที่ตั้งของ บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จํากัด ใช้ที่อยู่เดียวกันกับบริษัทที่ “โสภณ-มานัส” ร่วมถือหุ้นหรือเป็นกรรมการอีก 9 แห่ง
ล่าสุด กรุงเทพธุรกิจใช้ข้อมูล Google Earth ตรวจสอบที่ตั้งของ บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จํากัด เลขที่ 493 ซอยพุทธบูชา 44 แยก 11 แขวงบางมด เขตทุ่งครุ กทม. พบว่า เป็นอาคารพาณิชย์ 2 คูหาติดกัน สูง 4 ชั้น ป้ายหน้าตึกระบุบ้านเลขที่ “493” ชัดเจน พร้อมกับติดป้ายที่ตั้ง บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จํากัด พร้อมกับอีก 3 บริษัทอยู่ในอาคารเดียวกัน คือ
บริษัท วีล มาร์ท (ประเทศไทย) จำกัด (มีบิงลิน วู สัญชาตีจีน ถือหุ้น 5.9% มานัส เป็นกรรมการ และถือหุ้น 45.03%)
บริษัท สันติภาพ อิมปอร์ต-เอ็กปอร์ต จำกัด (มีบิงลิน วู สัญชาตีจีน ถือหุ้น 42% มานัส เป็นกรรมการ และถือหุ้น 48%)
บริษัท เอวาน่า อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มีบิงลิน วู สัญชาตีจีน ถือหุ้น 20% มานัส เป็นกรรมการและถือหุ้น 52.1%)
สำหรับข้อมูลของ ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 เอ็นจิเนียริ่ง กรุ๊ป คัมปะนี เครือรัฐวิสาหกิจจีนที่ถือครองหุ้นใหญ่สุดใน CRCC ที่ร่วมสร้างตึก สตง.ดังกล่าวนั้น พบว่า มีบริษัทแม่คือ บริษัท ไชน่าเรลเวย์คอนสตรักชันคอร์โปเรชัน CRCC (China Railway Construction Corporation)
บริษัทแห่งนี้เคยถูกคำสั่งคำสั่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา หมายเลข 13959 สมัยรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ สมัยแรก สั่งห้ามพลเมืองสหรัฐฯลงทุนในบริษัทจีน จำนวน 31 บริษัทโดยเชื่อว่าเกี่ยวข้องกับกองทัพจีน หนึ่งในนั้นคือ China Railway Construction Corporation ด้วย