โชว์สเปกเหล็กครบ! ชำแหละไส้ในงานโครงสร้าง ตึก สตง. 570 ล้าน

โชว์สเปกเหล็กครบ! ชำแหละไส้ในงานโครงสร้าง ตึก สตง. 570 ล้าน

ชำแหละละเอียดยิบ! TOR ไส้ในงานโครงสร้าง-สเปกเหล็กของตึก สตง. 2.1 พันล้านบาท ก่อนถล่มหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว สรุปข้อเท็จจริง เปิดชัดๆ เอกสาร 9 แผ่นเกี่ยวกับงานโครงสร้าง

KEY

POINTS

  • ชำแหละละเอียดยิบ TOR ไส้ใน "งานโครงสร้าง-เหล็ก" ตึก สตง. 2.1 พันล้านบาท ก่อนถล่มหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว
  • สรุปข้อเท็จจริง เปิดชัดเอกสาร 9 แผ่นเกี่ยวกับงานโครงสร้าง ใช้เหล็กอะไร เสาคอนกรีตแบบไหน 
  • หลัง "อุตสาหกรรม" เข้าไปสอบสวน เจอต้นตอปัญหา “เหล็กข้ออ้อย” จาก “ซิน เคอ หยวน” ส่อไม่ได้มาตรฐาน

เงื่อนงำอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ มูลค่ากว่า 2.1 พันล้านบาท พังถล่มลงมาภายหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวเมื่อ 28 มี.ค.2568 กำลังอยู่ระหว่างการตรวจสอบของหลายหน่วยงาน โดยเฉพาะคำสั่งของ “แพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี และ “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย ตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง ขีดเส้นเสร็จภายใน 7 วันนับตั้งแต่วันเกิดเหตุ ซึ่งคาดว่าจะมีบทสรุปไม่เกินสัปดาห์หน้า ขณะที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) รับเป็นคดีพิเศษ ตรวจสอบประเด็น “นอมินี” คนไทยถือหุ้นแทน “ทุนจีน” หรือไม่

โฟกัสเฉพาะประเด็นการก่อสร้างอาคาร สตง.แห่งใหม่ดังกล่าว ที่ดำเนินการภายใต้กิจการร่วมค้า ไอทีดี-ซีอาร์อีซี ที่มี “อิตาเลียนไทยฯ” ร่วมกับ “ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10” บริษัทลูกเครือข่ายรัฐวิสาหกิจจากจีน กำลังอยู่ระหว่างการสอบสวนหาสาเหตุที่แท้จริงว่า ไฉนตึกที่สร้างโครงสร้างพื้นฐานเสร็จแล้ว และอยู่ระหว่างสร้างชั้นสุดท้าย (ชั้นที่ 33) ถึงเกิดการถล่มลงมา ทั้งที่ศูนย์กลางแผ่นดินไหวเมื่อ 28 มี.ค.68 นั้น ห่างจากแผ่นดินไทยนับพันกิโลเมตร

หลายคนตั้งคำถามถึงวัสดุที่ใช้มีความมั่นคงแข็งแรงเพียงพอที่จะถูกใช้ก่อสร้างอาคารที่มูลค่ากว่า 2.1 พันล้านบาทแห่งนี้ โดยเฉพาะประเด็นของ “เหล็กข้ออ้อย” ที่ถูกพบภายหลังกู้ซากอาคาร สตง.ถล่มลงมา อาจไม่ได้มาตรฐานเพียงพอหรือไม่?

เบื้องต้น กระทรวงอุตสาหกรรม นำโดยนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม พร้อมคณะ ลงพื้นที่ตรวจสอบบริเวณตึกถล่มดังกล่าว พร้อมเก็บตัวอย่างออกมาจากพื้นที่จริง 6 ประเภท โดยเหล็กเส้นที่เก็บมาจากที่เกิดเหตุ และนำมาตรวจสอบคุณภาพมี 28 เส้น รวม 7 ประเภท ประกอบด้วย เหล็กข้ออ้อย ขนาด 12 มม. จำนวน 3 เส้น เหล็กข้ออ้อย ขนาด 16 มม. จำนวน 3 เส้น เหล็กข้ออ้อย ขนาด 20 มม. จำนวน 6 เส้น เหล็กข้ออ้อย ขนาด 25 มม. จำนวน 2 เส้น เหล็กข้ออ้อย ขนาด 32 มม. จำนวน 7 เส้น เหล็กเส้นกลม ขนาด 9 มม. จำนวน 2 เส้น  และลวดสลิง ขนาด 15.2 มม. จำนวน 5 เส้น 

โดยเหล็กที่นำไปตรวจสอบมาจาก 3 บริษัท คือ บริษัท ซินเคอหยวน สตีล จำกัด (จีน) บริษัท ทาทา สตีล จำกัด (อินเดีย) และบริษัท ที วาย สตีล จำกัด (บริษัทร่วมทุนไทย และจีน)

รายงานข่าวระบุว่า เหล็กที่ใช้ในการก่อสร้างอาคาร สตง.ส่วนใหญ่ผลิตจากบริษัท ซินเคอหยวน สตีล จำกัด เคยถูกกระทรวงอุตสาหกรรมตรวจสอบเหตุเพลิงไหม้โรงงาน และพบข้อบกพร่องด้านความปลอดภัย และด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะด้านการผลิตเหล็กที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน จึงได้ยึดอายัดเหล็กไว้ และตรวจสอบพบไม่เป็นไปตามมาตรฐาน 2,441 ตัน มูลค่า 49.2 ล้านบาท และดำเนินคดีตามกฎหมายมาแล้ว

ในส่วนข้อมูล บริษัท ซินเคอหยวน สตีล จำกัด กรุงเทพธุรกิจ รายงานไปแล้วว่า บริษัทแห่งนี้มีเครือข่ายในไทยหลายแห่ง เช่น บริษัท ซิน เคอ หยวน จำกัด บริษัท ซิน เส้า หยวน จำกัด เป็นต้น โดยมีคนจีนชื่อ เจี้ยนฉี เฉิน หรือ เฉิน เจี้ยนฉี (สัญชาติจีน) ถือหุ้นใหญ่ มี “คนลาว” ชื่อ “สมพัน ปันแก้ว” เป็นกรรมการ 

ที่น่าสนใจ บริษัท ลี่ เคอ หง จำกัด หนึ่งในเครือข่าย “ซิน เคอ หยวน” ข้างต้น พบว่า เคยมีบุคคลชื่อคล้าย “อดีตนายทหาร” ระดับยศ “พลเอก” เคยมีตำแหน่งระดับสูงใน “กองทัพไทย” เข้าไปถือหุ้นด้วย โดยชื่อในฐานะผู้ถือหุ้นนั้นใช้คำว่า “นาย” นำหน้าแทน “พลเอก”

เพื่อขยายข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประเด็น “เหล็ก” ของอาคาร สตง.ดังกล่าว กรุงเทพธุรกิจ นำเอกสาร TOR ทั้งหมดที่เกี่ยวกับการก่อสร้างโครงสร้างอาคาร สตง.แห่งนี้ มานำเสนอ ดังนี้

คณะกรรมการกำหนดราคากลาง 11 คน ได้สรุปผลการประมาณราคาก่อสร้างอาคารดังกล่าว แบ่งเป็น 3 ส่วนคือ งานก่อสร้างอาคาร 2,061,207,000 บาท งานครุภัณฑ์จัดซื้อ 345,906,000 บาท และค่าใช้จ่ายตามข้อกำหนดพิเศษ 115,040,000 บาท (ทั้งหมดคือ ราคากลาง ก่อนที่จะมีการประมูลเกิดขึ้น)

โดยในส่วนงานก่อสร้างนั้น แบ่งเป็น ค่าใช้จ่ายสำหรับอุปกรณ์เครื่องจักรกลพิเศษ 44,586,343 บาท ค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการกำหนดให้ใช้นั่งร้านพิเศษเพื่อความปลอดภัยต่อคนงานก่อสร้าง และค่าใช้จ่ายในการทำระบบป้องกันฝุ่นตามข้อบังคับตามกฎหมาย 5,949,959 บาท ค่าใช้จ่ายในการทำระบบป้องกันดินพัง 47,713,633 บาท ค่าใช้จ่ายกรณีไม่อนุญาตให้คนงานพักในบริเวณที่ก่อสร้าง (ค่าพาหนะไป-กลับที่พัก) 12.8 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับกรรมวิธีป้องกันชีวิต และทรัพย์สินของบุคคลที่ 3 มูลค่า 405,209 บาท ค่าใช้จ่ายจัดหาสำนักงาน พร้อมอุปกรณ์สำนักงานของฝ่ายผู้ว่าจ้าง 2,049,500 บาท และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่จำเป็นต้องมี 1,536,000 บาท

ทั้งนี้ในส่วนงานก่อสร้างอาคาร วงเงิน 2,061,207,058 บาทดังกล่าว แบ่งเป็นงานโครงสร้าง มีค่าก่อสร้าง 570,521,262 บาท งานสถาปัตยกรรม 254,791,512 บาท งานตกแต่งภายใน 94,771,497 บาท งานระบบไฟฟ้าและสื่อสาร 402,607,194 บาท งานระบบสุขาภิบาล 37,324,194 บาท งานระบบป้องกันอัคคีภัย 57,794,437 บาท งานระบบปรับอากาศ และระบายอากาศ 163,399,660 บาท งานระบบลิฟต์ 82,768,795 บาท งานป้ายสัญลักษณ์ 4,432,868 บาท งานผนังกรอบนอกอาคาร (Façade) 359,118,820 บาท งานภูมิทัศน์และงานผังบริเวณประกอบอื่น ๆ Phase 1 มูลค่า 43,676,613 บาท

ก่อนหน้านี้ กรุงเทพธุรกิจ นำเสนอรายละเอียดงานโครงสร้าง มีค่าก่อสร้าง 570,521,262 บาท โดยระบุวัสดุที่ใช้ เช่น เหล็ก SR 24 dia. 9 มม. จำนวน 22,828 กิโลกรัม มูลค่า 359,084 บาท เหล็ก SD 40 dia. 12 มม. จำนวน 2,440,958 กิโลกรัม มูลค่า 37,346,657 บาท เหล็ก SD 40 dia. 16 มม. จำนวน 1,325,624 กิโลกรัม มูลค่า 20,016,922 บาท 

เหล็ก SD 40 dia. 20 มม. จำนวน 812,301 กิโลกรัม มูลค่า 12,265,745 บาท เหล็ก SD 50 dia. 25 มม. จำนวน 1,382,271 กิโลกรัม มูลค่า 20,644,951 บาท เหล็ก SD 50 dia. 28 มม. จำนวน 272,586 กิโลกรัม มูลค่า 4,075,161 บาท เหล็ก SD 50 dia. 32 มม. จำนวน 977,623 กิโลกรัม มูลค่า 14,615,464 บาท มีการใช้ลวดผูกเหล็ก 217,026 กิโลกรัม มูลค่า 5,358,372 บาท เป็นต้น

  • สำหรับรายละเอียดเกี่ยวกับงานโครงสร้างทั้งหมด มีเอกสารรวม 9 แผ่น ดังนี้

โชว์สเปกเหล็กครบ! ชำแหละไส้ในงานโครงสร้าง ตึก สตง. 570 ล้าน โชว์สเปกเหล็กครบ! ชำแหละไส้ในงานโครงสร้าง ตึก สตง. 570 ล้าน โชว์สเปกเหล็กครบ! ชำแหละไส้ในงานโครงสร้าง ตึก สตง. 570 ล้าน โชว์สเปกเหล็กครบ! ชำแหละไส้ในงานโครงสร้าง ตึก สตง. 570 ล้าน โชว์สเปกเหล็กครบ! ชำแหละไส้ในงานโครงสร้าง ตึก สตง. 570 ล้าน โชว์สเปกเหล็กครบ! ชำแหละไส้ในงานโครงสร้าง ตึก สตง. 570 ล้าน โชว์สเปกเหล็กครบ! ชำแหละไส้ในงานโครงสร้าง ตึก สตง. 570 ล้าน โชว์สเปกเหล็กครบ! ชำแหละไส้ในงานโครงสร้าง ตึก สตง. 570 ล้าน โชว์สเปกเหล็กครบ! ชำแหละไส้ในงานโครงสร้าง ตึก สตง. 570 ล้าน


อย่างไรก็ดีทั้งหมดคือ ข้อมูลในเอกสาร TOR ที่เป็นการประเมินราคากลางก่อนจะเปิดการประมูล

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์