ปูมหลัง ‘เฮียเล้า-พรรคเส้นด้าย’ ส้มผ่าเหล่า? ก่อนชน ‘ชัชชาติ’

ปูมหลัง ‘เฮียเล้า-พรรคเส้นด้าย’ ส้มผ่าเหล่า? ก่อนชน ‘ชัชชาติ’

ปูมหลัง “เฮียเล้า-พรรคเส้นด้าย” อดีต “ส้ม” ก่อนเปิดวิวาทะดราม่กับ “ชัชชาติ” 2 อดีตแกนนำ “กลุ่มเส้นด้าย” ลาออกมาเดินเส้นทางการเมืองเต็มตัว

KEY

POINTS

  • พลิกข้อมูล “เฮียเล้า-พรรคเส้นด้าย” อดีต “ส้มอกหัก” ก่อนเปิด

ในช่วงเกิดหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวเมื่อ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา ส่งผลให้อาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ มูลค่ากว่า 2.1 พันล้านบาท ถล่มพังครืนลงมา ทำให้แรงงานกว่าร้อยคนติดอยู่ในซากตึกดังกล่าว มีผู้เสียชีวิต และได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก 

สปอร์ตไลท์ทางสังคมฉายแสงไปยัง “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ผู้ว่าฯ กทม.ในทันที หลังเขาขึ้นมาเป็นผู้นำในการลงพื้นที่ อัปเดตสถานการณ์แทบจะรายชั่วโมง ติดต่อกันตลอด 6-7 วันที่ผ่านมา พร้อมกับตั้ง “วอร์รูม” ใกล้กับบริเวณตึกถล่ม พร้อมกับประสานงานกับรัฐบาล ในเรื่องความช่วยเหลือ วัสดุอุปกรณ์การกู้ภัย แก่ผู้ประสบภัย ญาติผู้ประสบภัย และประชาชนที่ได้รับผลกระทบทั่ว กทม.

อย่างไรก็ดีระหว่าง “ชัชชาติ” ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในพื้นที่ ปรากฏมีการเผยแพร่ภาพตัวเขาผ่านโซเชียลมีเดียเมื่อ 2 เม.ย.ที่ผ่านมา ในท่านั่งบนเก้าอี้พลาสติกสีขาว ใต้อาคารที่ใกล้ ๆ กับตึก สตง.ถล่ม มีลักษณะ “เหม่อลอย” ผ่านไปไม่นานเฟซบุ๊กแฟนเพจ “พรรคเส้นด้าย” ได้นำภาพดังกล่าวมาลงเพจ พร้อมกับลงข้อความตั้งคำถามถึง “ชัชชาติ” ถึงการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะ “ผู้ว่าฯ กทม.” ในช่วงเกิดเหตุภัยพิบัติเหมาะสมแล้วหรือไม่ เรียก “รถทัวร์” มาลงเพจได้อย่างเกรียวกราว ส่วนใหญ่จะเข้ามาโจมตีพรรคเส้นด้าย

“ชัชชาติ” ให้สัมภาษณ์ชี้แจงเรื่องนี้สั้น ๆ ว่า “จริง ๆ ก็เป็นช่วงกินข้าวเสร็จ กำลังนั่งมอง นึกถึงว่าคนที่อยู่ หากมีชีวิตรอด ก็ขอให้อดทนอีกหน่อย หวังว่าจะเป็นอย่างนั้น”

วันเดียวกัน มีการประชุมสภา กทม. “ชัชชาติ” เข้าร่วมประชุมในฐานะผู้ว่าฯ กทม. ในการพิจารณางบประมาณต่าง ๆ ของเมืองหลวง อย่างไรก็ดีในช่วงหนึ่ง “พีรพล กนกวลัย” หรือ “เฮียเล้า” ส.ก.เขตพญาไท ได้ตั้งกระทู้ถามสดถึงผู้ว่าฯ กทม. ถึงมาตรการรับมือการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ เรียกร้องให้ กทม.ให้ความสำคัญกับการดูแลประชาชนกลุ่มเสี่ยง และเร่งดำเนินการฉีดวัคซีนให้มากขึ้น

“เฮียเล้า” หล่นประโยคที่กลายเป็นดราม่าคือ “ท่านต้องดูแลคนไทยให้มากกว่านี้ ท่านไปอยู่ตรงนั้นเขาเสียชีวิตหมดแล้ว แต่คนไทยที่ยังไม่เสียชีวิตต้องหันกลับมาดูแล กลับมาฉีดวัคซีนให้คนที่ยังไม่เสียชีวิต”

ทำเอา “ชัชชาติ” ลุกขึ้นสวนกลับทันควันว่า “เรายังมีความหวังว่ามีผู้รอดชีวิต ขอความกรุณาอย่าใช้คำพูดว่าผู้เสียชีวิตหมดแล้ว เพราะยังมีญาติผู้เสียหายที่มีความหวังอยู่”

เพราะต้องไม่ลืมว่า ในการประชุมสภา กทม.ครั้งนี้ อีกฟากหนึ่งของเมืองหลวง ยังคงมีภารกิจ “ช่วยชีวิต” แรงงานก่อสร้างที่ติดในซากตึก สตง.อยู่ หลังดำเนินการมาตลอดทั้งวันทั้งคืนติดต่อกันตั้งแต่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา การมาพูดลักษณะนี้ ย่อมทำให้เกิดการเสียขวัญกำลังใจ ทั้งกับญาติเหยื่อผู้เสียชีวิต-ผู้ได้รับบาดเจ็บ รวมถึงเจ้าหน้าที่ และอาสากู้ภัยสารพัดชาติ ซึ่งระดมกำลังช่วยเหลืออยู่ในตอนนี้

แต่เรื่องนี้ “พรรคเส้นด้าย” ยังคงนำประเด็นดังกล่าวมาเชียร์ “เฮียเล้า” โดยเห็นว่า การช่วยเหลือแรงงานที่ติดใต้ซากตึก สตง. และคนกรุงฯที่ได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวนั้นสำคัญ แต่เรื่องมาตรการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่แก่กลุ่มเสี่ยง ก็สำคัญไม่แพ้กัน หลังจากนั้นมีการแชร์ภาพ “เฮียเล้า” ไปให้สัมภาษณ์เรื่องนี้ผ่านสื่อดังช่องน้อยสีเมื่อเย็นวันที่ 3 เม.ย.ที่ผ่านมา

หลายคนอาจไม่คุ้นชื่อ “พรรคเส้นด้าย” และ “เฮียเล้า” เพราะห่างเหินกับเวทีทางการเมืองไปนาน หลังจบศึกเลือกตั้งปี 2566 กรุงเทพธุรกิจ พลิกข้อมูลมานำเสนออีกครั้ง ดังนี้

“พรรคเส้นด้าย” ถูกก่อตั้งขึ้นโดย “คริส โปตระนันทน์” นักกฎหมาย และ “เฮียเล้าพีรพล กนกวลัย 2 “อดีต” แกนนำ “กลุ่มเส้นด้าย” มูลนิธิที่คอยช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยจากวิกฤติโควิด-19 ที่ผ่านมา ระหว่างปี 2562-2564 ได้รับเครดิต และเสียงชื่นชมจากสังคมเป็นอย่างมาก

อย่างไรก็ดีกลุ่มเส้นด้ายถูกก่อร่างสร้างขึ้นมาจากประชาชนที่คอยช่วยเหลือสังคมในหลายภาคส่วน ดังนั้น “พรรคเส้นด้าย” มิใช่ “กลุ่มเส้นด้าย” อย่างที่หลายคนเข้าใจ

“คริส โปตระนันทน์” ยังสวมหมวกอีกใบ คือ 1 ใน 24 อดีต “ผู้ก่อตั้ง” พรรคอนาคตใหม่ ร่วมกับ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ-ปิยบุตร แสงกนกกุล-พรรณิการ์ วานิช-ชัยธวัช ตุลาธน” ขับเคลื่อนงานทางการเมืองในประเด็นเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคม 

ในปี 2562 “คริส” ลงสมัครรับเลือกตั้ง สส.เขตราชเทวี เขตพญาไท เขตจตุจักร (เฉพาะแขวงจตุจักรและจอมพล) ในนาม “พรรคอนาคตใหม่” แต่พ่ายแพ้ได้ลำดับที่ 2 โกยแต้มไปถึง 23,980 คะแนน ห่างจากอับดับหนึ่ง “ภาดาห์ วรกานนท์” ผู้สมัครจากพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่ได้ 28,690 คะแนน เพียงแค่ 4,980 คะแนนเท่านั้น

ภายหลังพ่ายแพ้การเลือกตั้ง “คริส” ถูกลดบทบาทลงอย่างมากในพรรค กระทั่งเกิดวิกฤติโควิด-19 ขึ้นมา เจ้าตัวผุดไอเดียก่อตั้ง “มูลนิธิเส้นด้าย” รวบรวมกลุ่มก๊วนเพื่อนฝูงทั้ง “เจตน์” ภูวกร ศรีเนียน “เฮียเล้า” พีรพล กนกวลัย เข้ามาทำงานเพื่อช่วยเหลือคนในสังคม และผู้ป่วยโรคโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2562 จนมีชื่อ ได้รับการพูดถึงในวงกว้างอีกครั้ง

ทำให้ “พรรคก้าวไกล” (ขณะนั้น) เริ่มมองเห็นบทบาทของ “คริส” และชักชวนกลับมาทำงานในพรรคอีกครั้ง โดยช่วงเดือน ส.ค. 2566 ที่ผ่านมา เขาถูกพรรควางตัวให้ลงสมัครรับเลือกตั้ง สส.กทม.เขตเดิม โดยเจ้าตัวประกาศลาออกจากประธานมูลนิธิเส้นด้าย กลับมาขับเคลื่อนงานการเมืองเต็มตัวอีกรอบ

แต่การเลือกตั้งยังไม่ทันเกิดขึ้น ผ่านไปไม่กี่เดือน “คริส” กลับเกิดความขัดแย้งกับแกนนำพรรคบางรายอีกครั้ง พร้อมกับถูกลดบทบาทลง ทำให้รอบนี้เขาไม่ทนอีกต่อไป ประกาศลาออกจากพรรค พร้อมรวบรวม “อดีตคนเส้นด้าย” ไปก่อร่างสร้างพรรคใหม่มาสู้ โดยเฉพาะเขตพื้นที่ กทม. โดยอาศัยบารมีของความเป็นอดีต “คนเส้นด้าย” ซึ่งเป็นที่รู้จักอย่างมากจากคนในชุมชนหลายแห่ง

ต่อมา “คริส” ได้ชักชวน “เฮียเล้า” พีรพล กนกวลัย ส.ก.เขตพญาไท ที่ชนะการเลือกตั้งในนาม “พรรคก้าวไกล” มาเข้าร่วมก่อตั้ง “พรรคเส้นด้าย” โดย “เฮียเล้า” นั่งเป็นเลขาธิการพรรค มีฐานเสียงจาก สก.สีส้ม ในอดีตอีกอย่างน้อย 3-4 คนคอยหนุน โดยมีความเคลื่อนไหวว่า นอกเหนือจาก “คริส” และ “เฮียเล้า” ส.ก.เขตพญาไท แล้ว ยังมีความพยายามชักชวนบรรดา ส.ก.สังกัดพรรคก้าวไกลอีกอย่างน้อย 8 คน มาร่วมงาน ในจำนวนนี้มี 3 อดีต “คนเส้นด้าย” ด้วย

อย่างไรก็ดี “เจตน์” ภูวกร ศรีเนียน แกนนำ “กลุ่มเส้นด้าย” (ปัจจุบันเป็นผู้สมัครเข้ารับการสรรหา ผอ.สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส) เคยให้สัมภาษณ์ยืนยันข้อเท็จจริงหลายครั้งว่า “พรรคเส้นด้าย” ไม่เกี่ยวกับ “กลุ่มเส้นด้าย” 100% แม้ว่าพรรคดังกล่าว จะมีอดีตคนเส้นด้ายไปเข้าร่วม แต่สัดส่วนคน “อดีตเส้นด้าย” ถือว่าน้อยมากหากเทียบกับบุคคลอื่นที่ถูกทาบทามมาตั้งพรรคใหม่ เพราะฉะนั้นไม่อาจพูดได้ว่าพรรคใหม่นี้คือพรรคของเส้นด้าย ยืนยันไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกัน 

ขณะเดียวกันชื่อ “พรรคเส้นด้าย” ถูกคนที่ยังทำงานอยู่ในเส้นด้ายตั้งข้อครหาว่า อาจทำให้ประชาชนเข้าใจผิด และเป็นภาพจำทับซ้อนกับ “มูลนิธิเส้นด้าย” ที่ปัจจุบันยังดำเนินงานช่วยเหลือสังคมอยู่ และไม่เกี่ยวข้องทางการเมืองแต่อย่างใด

การลาออกของ “เฮียเล้า” และการพา “อดีตคนเส้นด้าย” ไปเข้าพรรคใหม่ สร้างแรงสั่นสะเทือนแก่พรรคก้าวไกลอยู่พักหนึ่ง เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า ชัยชนะการเลือกตั้ง ส.ก.ของพรรคส้มเมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา “กลุ่มเส้นด้าย” มีส่วนสำคัญไม่น้อยในการช่วยโปรโมต และมีอดีตคนเส้นด้ายลงสมัครในนามพรรค

ปัจจุบัน พรรคประชาชน (ปชน.) ยานพาหนะคันที่ 3 ของพลพรรคสีส้ม ไม่จำเป็นต้องพึ่งใบบุญ 2 “อดีตคนเส้นด้าย” ข้างต้น มากนัก แม้จะยังมีอดีตคนเส้นด้ายตามมาอยู่ในพรรคนี้ก็ตาม เพราะได้เจาะพื้นที่ กทม. ปูทางวางฐานที่มั่นด้วยตัวเอง สะท้อนให้เห็นผ่านการเลือกตั้งใหญ่ปี 2566 ที่ผ่านมาที่ได้ สส.เป็นกอบเป็นกำ

ส่วนความพยายามออกแอ็คชั่น แสดงบทบาทผ่านหน้าสื่อโซเชียลฯของ “พรรคเส้นด้าย-เฮียเล้า” จะหวังผลไปถึงการเลือกตั้ง “ผู้ว่าฯ กทม.-ส.ก.” ที่ใกล้จะถึงในปี 2569 หรือไม่ ซึ่ง “ชัชชาติ” ประกาศลงสมัครป้องกันแชมป์อีกสมัย ต้องติดตามกันต่อไป

ในมุมธุรกิจ “เฮียเล้า” พีรพล กนกวลัย เป็นกรรมการบริษัทอย่างน้อย 4 แห่ง 

1. บริษัท คลินิกเส้นด้ายเพื่อประชาชน จำกัด ก่อตั้ง 19 ส.ค. 2567 ทุน 5 ล้านบาท วัตถุประสงค์ คลินิกเวชกรรม สถานพยาบาล รับส่งผู้ป่วย เคลื่อนย้ายผู้ป่วย รับส่งผลการรักษา

2. บริษัท พระราม 6 แคปิตอล จำกัด (ถือหุ้น 15%) ก่อตั้ง 15 พ.ย. 2564 ทุน 10 ล้านบาท วัตถุประสงค์ กิจกรรมการลงทุนที่เป็นกิจกรรมของตนเอง

3. บริษัท เซ็นด้ายเพื่อสังคม จำกัด (ถือหุ้น 15%) ก่อตั้ง 15 พ.ย. 2564 ทุน 10 ล้านบาท วัตถุประสงค์ จำหน่ายเครื่องมือทางการแพทย์

4. หจก.เอ๊าท์ดอร์ แอ๊ดวานซ์ (ลงหุ้นด้วยเงินสด 1.5 แสนบาท ปัจจุบันถูกนายทะเบียนขีดชื่อว่า ร้าง) หจก.แห่งนี้เคยทำธุรกิจเกี่ยวกับสื่อสิ่งพิมพ์ และเป็นต้นเหตุให้เขาเคยถูกคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตัดสิทธิลงสมัคร ส.ก. โดยให้เหตุผลว่า เป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 50 (3) แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 “เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ” เนื่องจากได้ยื่นจดแจ้งการพิมพ์หนังสือพิมพ์ หนังสือพิมพ์และเป็นเจ้าของกิจการ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา และบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ “ท่องธรรมชาติ” โดยได้ยื่นจดแจ้ง เมื่อปี พ.ศ. 2537

อย่างไรก็ดี “เฮียเล้า” ได้ยื่นอุทธรณ์ประเด็นดังกล่าวต่อ กกต. โดยยอมรับว่า เคยทำสื่อสิ่งพิมพ์คือ หนังสือพิมพ์ “ท่องธรรมชาติ” จริง จดแจ้งเมื่อปี 2537 พิมพ์ได้ 6-7 ฉบับก็เลิกพิมพ์ไปในปีเดียวกัน หมายความว่าเลิกทำสื่อไปตั้งแต่ 28 ปีก่อนแล้ว

“ความเป็นเจ้าของสื่อของผมจึงได้สิ้นสุดลงไปแล้วตั้งแต่ปี 2539 เป็นอย่างน้อย ต่อมา เมื่อมี พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ 2550 เปลี่ยนจากการที่เคยต้องจดแจ้งต่อสันติบาล เป็นหอสมุดแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม ก็ไม่เคยมีการไปขอจดแจ้งใหม่ เมื่อความเป็นเจ้าของสิ้นสุดเด็ดขาดลงตามข้อกฎหมายไปนานแล้ว ไม่เข้าใจว่าทำไมจึงยังมีชื่อความเป็นเจ้าของปรากฏอยู่ตามกฎหมายใหม่” นายพีรพล ระบุ

หลังจากนั้น “เฮียเล้า” ได้ยื่นฟ้องศาลปกครองเพิกถอนคำสั่งของ กกต.ดังกล่าว สุดท้ายศาลปกครองพิพากษาให้เขาชนะ จึงลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ก.เขตพญาไท และชนะเลือกตั้งในเวลาต่อมา

ส่วน คริส โปตระนันทน์ เป็นกรรมการบริษัทอย่างน้อย 5 แห่ง

1. บริษัท คลินิกเส้นด้ายเพื่อประชาชน จำกัด 

2. บริษัท ดีซี แคปปิตอล จำกัด  ก่อตั้ง 17 ต.ค. 2560 ทุน 5 ล้านบาท วัตถุประสงค์ การซื้อและการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นของตนเองที่ไม่ใช่ เพื่อเป็นที่พักอาศัย

3. บริษัท พระราม 6 แคปิตอล จำกัด (ถือหุ้น 60%) 

4. บริษัท สตรัธมอร์ ลอว์ จำกัด (ถือหุ้น 99.999%) ก่อตั้ง 19 เม.ย. 2561 ทุน 1 ล้านบาท วัตถุประสงค์ ประกอบกิจการบริการทางด้านกฎหมาย ทางบัญชี ทางวิศวกรรม ทางสถาปัตยกรรม รวมทั้งกิจการโฆษณา

5. บริษัท เซ็นด้ายเพื่อสังคม จำกัด (ถือหุ้น 60%)

ขอบคุณภาพประกอบจาก: พรรคเส้นด้าย