ดีเอสไอเปิด 'ไชน่า เรลเวย์' กวาดงาน 2.2 หมื่นล้าน สอบ 11 กิจการร่วมค้า

'ดีเอสไอ' ขยายผลสอบ เจาะเครือข่าย 'ไชน่า เรลเวย์' ไปร่วม 11 กิจการร่วมค้า กวาดงานรัฐ 29 สัญญา ยอดพุ่ง 2.2 หมื่นล้านบาท 'ทวี' รับจดเป็นกิจการร่วมค้า ทำตรวจสอบยาก
เมื่อวันที่ 4 เม.ย.2568 ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม พร้อมด้วย พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีดีเอสไอ และคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ร่วมประชุมนัดแรกหลังรับคดี อาคาร สตง.ถล่ม เป็นคดีพิเศษ
โดยภายหลังการประชุม พ.ต.อ.ทวี ให้สัมภาษณ์ว่า วันนี้เรื่องการสอบสวนมอบให้พนักงานสอบสวนเป็นคนดำเนินการมารับฟังข้อมูล และย้ำให้ทุกฝ่ายได้เข้าใจว่าคดีดังกล่าวสำคัญ และต้องให้ความยุติธรรมที่สุด โดยแผ่นดินไหวตอนนี้เสียชีวิตไปแล้ว 15 ราย ท้ายที่สุดก็อยากให้ช่วยเหลือผู้ที่สูญหายได้มากที่สุด ต้องสอบปากคำผู้ที่มีชีวิตอยู่รวมถึงรวบรวมพยานหลักฐานทั้งเอกสารทุกอย่างให้รอบคอบที่สุด เพื่อหาสาเหตุตึกถล่มจนมีคนเสียชีวิต และฝากอธิบดี DSI ในการดำเนินการต่อกับผู้รับผิดชอบโครงการเอาของเท็จจริงมาให้ได้ รวมถึงอยากให้มีผู้เชี่ยวชาญไปดู
พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ที่จริงมีอีกหลายเรื่อง อาทิ หน่วยงานที่ควบคุมการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล และการประกอบธุรกิจบุคคลต่างด้าวคือ กระทรวงพาณิชย์ แต่พามาดูกิจกรรมร่วมค้าหรือ Joint Venture กระทรวงพาณิชย์กลับบอกว่า ไม่มีทะเบียน อ้างว่าไม่ได้เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายแพ่ง ทำให้หน่วยงานที่รับทำคดีนี้ต้องตรวจสอบมากขึ้น คนที่จะรับผิดชอบเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นใคร หากเป็นกรมสรรพากร ตรวจสอบเรื่องเสียภาษี กรมสรรพากรก็ไม่มีหน่วยงานโดยตรงเรื่องทะเบียน
พ.ต.อ.ทวี กล่าวอีกว่า อยากให้ดีเอสไอ เร่งตรวจสอบว่าความถูกต้องที่แท้จริงคืออะไร ตอนนี้ที่ตรวจพบกิจกรรมร่วมค้าหรือ Joint Venture ที่เป็นบริษัทไทย 11 รายการ และบริษัทไชน่าฯ เองก็ได้รับทำโครงการของรัฐถึง 29 โครงการ ประเด็นนี้ต้องตรวจสอบว่ามีมากกว่านี้หรือไม่ หรือประเด็นไหนที่จะเข้าข่ายการฟอกเงินหรือไม่ ย้ำ DSI ต้องกล้าหาญบนพื้นฐานของความถูกต้อง ส่วนที่ประเด็นการรับงานโครงการรัฐ แน่นอนต้องตรวจสอบอย่างละเอียด เพราะบริษัทต่างชาติไม่สามารถที่จะรับงานของรัฐได้ต้องมีบริษัทที่มีคนไทยร่วมด้วยถึงจะรับได้ ส่วนนอมินีที่ปรากฏก็ต้องมีการเรียกมาสอบสวนอยู่แล้ว
พ.ต.อ.ทวี กล่าวด้วยว่า ส่วนการจดทะเบียนกิจการร่วมค้า บริษัทต่างชาติไม่สามารถทำได้อยู่แล้ว ต้องมีคนไทยร่วมถือหุ้นร้อยละ 51 และคนต่างด้าวร้อยละ 49 จึงอยากให้พนักงานสอบสวนคดีพิเศษไปตรวจสอบด้วยเพราะต้องตอบคำถามสังคมให้ได้ว่า 11 บริษัทที่เป็นคนไทย ได้งานมาทั้งหมด 29 โครงการได้อย่างไร จึงจำเป็นต้องเข้าไปตรวจสอบเพราะอาจจะมีโครงการจำนวนมากกว่านี้ สำหรับผู้ที่ประกอบธุรกิจประเภทนี้อาจต้องการผลประโยชน์ ควรดูว่าจะเข้าข่ายความผิดฐานฟอกเงินหรือไม่ ถ้าพบความผิดการทุจริตในเนื้องานจะส่งต่อ ป.ป.ช. ดำเนินการต่อ
ขณะที่ พ.ต.ต.ยุทธนา กล่าวว่า นอกจากความผิดคดีนอมินีที่ดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษ ก็ยังมีความผิดอื่นพิจารณาควบคู่ไปด้วย คือ ความผิดว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ (ฮั้วประมูล) โดยจะต้องดูว่าในส่วนคนไทยที่ไปถือหุ้นนั้น ต้องพิสูจน์ว่าเป็นการถือหุ้นโดยอำพรางหรือไม่ ทั้งนี้ จากรายงานการตรวจสอบเบื้องต้น พนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้มีการไปตรวจสอบยังบ้านพักของนายประจวบ (สงวนนามสกุล) ที่ อ.โพนทราย จ.ร้อยเอ็ด แต่ไม่พบตัว พบเพียงภรรยา ซึ่งได้ให้ข้อมูลว่า นายประจวบมีรายได้น้อยมาก ทำงานรับจ้างเกี่ยวกับการก่อสร้าง ได้เงินเดือนประมาณหมื่นกว่าบาทเท่านั้น อีกทั้งนายประจวบกลับมาถึงบ้านก็ไม่ได้พูดคุยถึงเรื่องตึก สตง. ถล่มให้ฟังว่าเกี่ยวข้องกับตนเองอย่างไร ก่อนออกจากบ้านไปแล้ว 2-3 วันก่อนหน้านี้ โดยไม่ได้แจ้งภรรยาว่าออกไปที่ไหน ซึ่งเราดูแนวโน้มเบื้องต้น มันไม่สอดคล้องกับการที่เขาไปถือหุ้นในนิติบุคคลหลาย ๆ แห่ง นี่จึงเป็นสิ่งบ่งชี้ที่น่าเชื่อได้ว่าเป็นการถือหุ้นอำพราง หรือนอมินี นอกจากนี้ ในกรณีกรรมการผู้ถือหุ้นชาวไทยอีก 2 รายที่เหลือ คือ นายโสภณและนายมานัส เจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างติดตามตัวเช่นเดียวกัน
คณะพนักงานสอบสวนยังได้มีการจัดทำโครงสร้างรายชื่อกิจการร่วมค้าที่ บ.ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด ที่ได้มีการไปเข้าร่วมกับนิติบุคคลหลายแห่ง แต่ในช่วงแรกเราจะโฟกัสไปที่กิจการร่วมค้าที่ไปร่วมกับ บ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ชนะในการแข่งขันราคาในกรณีการก่อสร้างตึก สตง. ส่วนนี้พนักงานสอบสวนอยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐาน ส่วนสัญญาที่บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด เข้าร่วมค้า และได้รับงานจากภาครัฐ ตั้งแต่ปี 2562 - 2567 จำนวน 29 สัญญา คณะพนักงานสอบสวนอยู่ระหว่างการตรวจสอบ เพราะตอนนี้เรายังโฟกัสที่คดีนอมินีเป็นหลักก่อน
นอกจากนี้ หากย้อนไปดูในส่วนของ 11 รายชื่อกิจการร่วมค้าของ บ.ไชน่า เรลเวย์ฯ จะพบว่าหลายที่ก็ยังไม่ได้เกิดเหตุใดๆ ยังปกติอยู่ ดังนั้น เราจึงไปดูในส่วนของกิจการร่วมค้า ไอทีดี ซีอาร์อีซีเป็นหลักก่อน สำหรับกรณีพบว่าเอกสารล่องหนหายไป หรือมีการขนย้ายเอกสาร ประชาชนจึงหวั่นใจว่าจะสามารถได้เอกสารหลักฐานที่จะใช้พิจารณาดำเนินคดีกับกลุ่มคนเหล่านี้อย่างไรบ้าง ขณะนี้พนักงานสอบสวนอยู่ระหว่างเร่งดำเนินการอย่างเร็วที่สุด เพราะเราก็มีอำนาจในการที่จะประสานติดตามพยานหลักฐานต่าง ๆ โดยเรามั่นใจว่าจะได้เอกสารสำคัญมาแน่นอน
ส่วนกรณีที่มีรายงานข้อมูลว่าบริษัท ไชน่า เรลเวย์ฯ เข้าไปเกี่ยวข้องกับบริษัทธุรกิจยางแห่งหนึ่งนั้น ขณะนี้ดีเอสไอยังไม่มีข้อมูลดังกล่าวแต่อย่างใด ในส่วนกรณีบริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด (Xin Ke Yuan Co., Ltd.) ดีเอสไอจะตรวจสอบถึงประเด็นที่เขาเป็นผู้จำหน่ายเหล็กให้กับบริษัทที่เกิดเหตุ เนื่องจากทางกระทรวงอุตสาหกรรมได้ไปตรวจสอบแล้วพบว่ามีสินค้าบางรายการที่ไม่ได้คุณภาพตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.)
ส่วนเรื่องฝุ่นแดงของเหล็ก ทราบว่าเป็นความผิดเกี่ยวกับการออกใบกำกับภาษีปลอม และเป็นเรื่องของมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีเอสไออาจต้องไปดำเนินการในขั้นตอนต่อไป ปัจจุบันทราบว่าที่ทำการของบริษัท ไชน่า เรลเวย์ฯ มีการใช้ที่อยู่เดียวกันในหลากหลายที่ อย่างสถานที่อาคารภายในซอยพุทธบูชา 44 แขวงบางมด เขตทุ่งครุ กทม. เจ้าหน้าที่ดีเอสไอได้ลงพื้นที่ไปตรวจสอบพบว่านอกจากบริษัท ไชน่า เรลเวย์ฯ จะใช้สถานที่นี้เป็นสำนักงานแล้วก็ยังมีอีก 4-5 นิติบุคคลที่มาใช้เป็นสำนักงานด้วยเช่นกัน สิ่งนี้เป็นข้อพิรุธที่ดีเอสไอได้รวบรวมไว้ในสำนวนการสอบสวน
เมื่อถามว่าปัจจุบัน สำนักงานที่แท้จริงของ บ.ไชน่า เรลเวย์ฯ อยู่ที่ใด ขอให้คณะพนักงานสอบสวนไปตรวจสอบให้ครบถ้วนเพื่อความถูกต้อง ทั้งนี้ ในส่วนของเอกสารต่างๆ ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการตรวจยึดไว้เกี่ยวกับโครงการก่อสร้าง สตง. เราจะต้องมีการประสานเรื่องเอกสาร เพราะเมื่อเรารับเป็นคดีพิเศษแล้ว ก็จะต้องมีการโอนเอกสารทั้งหมดที่เกี่ยวข้องในคดีมาให้ดีเอสไอ จึงทำให้ในตอนนี้ดีเอสไอยังไม่ได้เห็นเอกสารเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างดังกล่าว คาดว่าภายในสัปดาห์หน้า จะสามารถออกหมายเรียกพยานกลุ่มแรกมาสอบสวนปากคำได้ แต่ขอเวลาให้พนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้ตรวจสอบสักระยะ
ส่วน น.ส.กนกไรวินท์ บุรินทร์นันท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจสอบบัญชี กล่าวว่า จากการติดตามผู้ถือหุ้นชาวไทยทั้ง 3 ราย นายประจวบ นายโสภณ และนายมานัส ซึ่งจากข้อมูลพบว่าทั้ง 3 รายได้มาเป็นผู้ถือหุ้น และผู้ก่อตั้ง ตั้งแต่มีการก่อตั้งนิติบุคคลเกิดขึ้น โดยกรณีของนายมานัส ในช่วงแรกของการก่อตั้งนิติบุคคล เคยถือหุ้นถึง 360,000 หุ้น แต่ได้โอนหุ้นไปให้นายโสภณ ทำให้เหลือหุ้นเพียง 0.0003 ดีเอสไออยู่ระหว่างติดตามว่าการโอนหุ้นระหว่างสองคนนี้ เป็นการซื้อขายหุ้นแท้จริงหรือไม่ ประกอบกับบุคคลทั้งสามที่เป็นผู้ถือหุ้น เท่าที่ทราบในตอนนี้ยังไม่เคยประกอบอาชีพในเรื่องของการรับเหมาก่อสร้างมาก่อน แล้วเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทขนาดใหญ่ ทั้งยังรับงานภาครัฐ รวมไปถึงนายโสภณ ยังเข้าไปเป็นผู้บริหารงานร่วมกับชาวจีนอีกหนึ่งราย ซึ่งตอนนี้ดีเอสไออยู่ระหว่างดำเนินการตรวจสอบเอกสารเพิ่มเติม
ร.ต.อ.สุรวุฒิ รังไสย์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่า สำหรับพฤติการณ์การเป็นนอมินีแล้วผันตัวไปเป็นกิจการร่วมค้า เป็นการแสดงเอกสารอันเป็นเท็จเพื่อจะเข้าประมูลงานของภาครัฐหรือไม่ ประเด็นนี้ยังเป็นประเด็นน่าสงสัย เพราะจากการตรวจสอบ พบว่าบริษัท ไชน่า เรลเวย์ฯ สามารถประมูลงานของภาครัฐได้ 29 โครงการ เป็นเงินรวม 22,000 ล้านบาทในโครงการตามสัญญา
ถ้าเราสามารถพิสูจน์ได้ทั้งหมด มันจะทำให้เห็นความชัดเจน เนื่องจากเขาได้มีการแสดงเอกสารว่าเป็นคนไทย และเป็นคนไทยที่ยังไม่เคยมีประสบการณ์ทางด้านการประมูลงาน แต่ได้มาร่วมค้ากับคนไทยที่มีประสบการณ์ทางด้านการประมูลงานมาก่อน โดยที่ต้องไปตรวจสอบว่าคนไทยเหล่านี้รู้เห็นเป็นใจหรือไม่ รวมทั้งเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเราจะตรวจสอบว่าสามารถดำเนินการได้จริงหรือไม่ เอกสารกิจการร่วมค้าที่มาจากต่างประเทศจริงหรือไม่
คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษจะพยายามค้นหาความจริงทั้งหมด เพราะท้ายสุดแล้วโครงการทั้ง 29 โครงการนี้ ล้วนได้ก่อสร้าง เพราะโครงการสุดท้าย โครงการที่ 29 พบว่าเป็นโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-นครราชสีมา วงเงิน 9,348 ล้านบาท
อย่างไรก็ตามคณะพนักงานสอบสวนขอเวลาในการตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งหมดไม่เกินสองเดือน เนื่องด้วยรายละเอียดค่อนข้างมีจำนวนเยอะ แต่มันจะทำให้ต่อจิ๊กซอว์ได้ว่าเหตุใดต้องเป็นต่างด้าว แล้วมาอำพรางเป็นคนไทย แล้วทำไมต้องเข้ามาเป็นกิจการร่วมค้าในประเทศไทย เหตุใดจึงไม่เข้าร่วมประมูลโครงการด้วยตัวเอง ทั้งที่กล่าวอ้างว่าเป็นคนไทย แล้วทำไมต้องมาร่วมประมูลกับบริษัทที่มีชื่อเสียง เพื่อให้รัฐเชื่อมั่นในเรื่องของการประมูล จนมันทำให้เกิดเหตุการณ์เลวร้าย ทั้งยังเป็นอาคารก่อสร้างเพียงแห่งเดียวที่อยู่ห่างจากจุดแผ่นดินไหว และเป็นอาคารสูงที่สุดแล้วเกิดถล่มลงมา
เมื่อถามว่าพฤติการณ์ของบริษัท ไชน่า เรลเวย์ฯ ที่ผ่านมามีการยอมขาดทุนในโครงการประมูลงานภาครัฐเพื่อที่จะสะสมผลงาน สร้างความน่าเชื่อถือจนเข้าสู่การประมูลโครงการรัฐขนาดใหญ่ใช่หรือไม่ ร.ต.อ.สุรวุฒิ กล่าวว่า สำหรับโครงการก่อสร้าง สตง. ราคากลางพบว่า 2,500 ล้านบาท แต่ประมูลได้ราคา 2,136 ล้านบาท ซึ่งมันอยู่ในเกณฑ์ 15 เปอร์เซ็นต์ มันไม่เลยกฎเกณฑ์ที่ไทยกำหนด แต่ภาษานักก่อสร้างเรียกว่าเป็นการฟันงาน เพื่อจะบีบตัวเองลงมา ทั้งที่จริงๆ แล้วราคากลางของการก่อสร้างตึก สตง. มันเข้มข้นมาก ราคา 2,500 ล้านบาท ถือว่าเป็นมาตรฐานเกณฑ์ขั้นต่ำแล้ว แต่ทำไมยังดีดราคาลงมาได้ถึง 300-400 ล้านบาท เป็นสิ่งที่เราต้องค้นหาความจริงว่าบริษัทได้มีการนำเอาความอันเป็นเท็จ หรือแสดงข้อเท็จจริงอย่างไรที่ทำให้รัฐหลงผิด
สำหรับ 11 กิจการร่วมค้าที่ได้ไปร่วมกับ บ.ไชน่า เรลเวย์ฯ จะถูกตรวจสอบ สอบสวนด้วยเช่นกัน เพราะถ้าพบความผิด แล้วผิดคนเดียวก็จะเป็นเรื่องยาก ยืนยันว่ากรรมการในบริษัทอื่น ๆ เหล่านี้ยังไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพียงแต่แสดงให้เห็นว่ามีแผนประทุษกรรมในลักษณะนี้
สำหรับข้อมูลโครงการรัฐที่ดีเอสไอตรวจสอบพบ บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด ไปร่วมจดทะเบียนเป็นกิจการร่วมค้า มีเจตนาประมูลโครงการภาครัฐมีถึง 11 กิจการร่วมค้า และได้มีการประมูลโครงการของภาครัฐไปแล้ว 29 โครงการ วงเงินงบประมาณ 27,803,128,433.13 บาท ดังนี้
1.อาคารพักอาศัยสูง 32 ชั้น ชุมชนดินแดงการเคหะแห่งชาติ 807 ล้าน
2.ศูนย์การเรียนรู้ พัฒนาสุขภาวะผู้สูงอายุ แบบครบวงจร คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล 563 ล้านบาท
3.หอพักนักศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต 129 ล้านบาท
4.เปลี่ยนระบบสายไฟฟ้า อากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินถนนอรุณอัมรินทร์-บรมราชชนนี-พรานนก การไฟฟ้านครหลวง กทม. 1,261 ล้านบาท
5.อาคารที่ทำการสถานีตำรวจ สน.สุทธิสาร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 139 ล้านบาท
6.อาคารบ้านพักส่วนกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 231 ล้านบาท
7.อาคารหอพักบุคลากรทางการแพทย์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง 468 ล้านบาท
8.อาคารที่ทำการศาลแรงงานกลาง สำนักงานศาลยุติธรรม 467 ล้านบาท
9.ระบบรวบรวมน้ำเสียเพิ่มเติม ริมคลองแสนแสบ กรุงเทพมหานคร 541 ล้านบาท
10.ระบบป้องกันน้ำท่วมบริเวณโดยรอบสถานีสูบน้ำดิบสำแล จ.ปทุมธานี การประปานครหลวง 372 ล้านบาท
11.วางท่อประปา และงานที่เกี่ยวข้อง การประปานครหลวง 347 ล้านบาท
12.อาคารที่ทำการศาลแพ่งมีนบุรี สำนักงานศาลยุติธรรม 782 ล้านบาท
13.อาคารที่พักหลังใหม่ ท่าอากาศนราธิวาส กรมท่าอากาศยาน 639 ล้านบาท
14.งานเสริมเสถียรภาพ และป้องกันน้ำท่วมตามแนวคลองประปา จ.ปทุมธานี 194 ล้านบาท
15.ทาวน์โฮม 2 ชั้น โครงการเคหะชุมชน และบริการชุมชน จ.ภูเก็ต การเคหะแห่งชาติ 343 ล้านบาท
16.อาคารเรียน และสิ่งปลูกสร้าง ของโรงเรียนวัดอมรินทราราม กทม.สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน 160 ล้านบาท
17.สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ 716 ล้านบาท
18.อาคารคลังพัสดุ สถาบันการแพทย์ อาคารจักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล 146 ล้านบาท
19.การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 210 ล้านบาท
20.สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน 2,136 ล้านบาท
21.สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย 540 ล้านบาท
22.สำนักงานศาลยุติธรรม 386 ล้านบาท
23.กองทัพเรือ 179 ล้านบาท
24.การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 606 ล้านบาท
25.โรงพยาบาลสงขลา 424 ล้านบาท
26.ฝ่ายโครงการพิเศษ และก่อสร้าง 9,348 ล้านบาท
27.แขวงทางหลวงชนบทสุพรรณบุรี 9,985 ล้านบาท
28.แขวงทางหลวงชนบทสุพรรณบุรี 10,795 ล้านบาท
29.การกีฬาแห่งประเทศไทย 608 ล้านบาท
รวมจำนวนเงินงบประมาณ 27,803,128,433.13 บาท เงินตามสัญญา 22,773,856,494.83 บาท
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์