เจาะงานสร้างตึก สตง.พิรุธ 2 ปม จ่อเลิกสัญญา-ไม่รู้มีบริษัทจีน ?

เจาะงานสร้างตึก สตง.พิรุธ 2 ปม จ่อเลิกสัญญา-ไม่รู้มีบริษัทจีน ?

กางข้อครหา ขั้นตอนการประมูล สรุปเงื่อนงำตึก สตง.ถล่ม 2.1 พันล้านบาท หลังผ่านมา 20 วัน ยังมีหลายประเด็นปริศนา-ค้างคาใจ

KEY

POINTS

  • สรุปเงื่อ

ผ่านมาเกือบ 20 วัน สำหรับเหตุการณ์อาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ วงเงินกว่า 2.1 พันล้านบาท ถล่มลงหลังจากเกิดแผ่นดินไหวเมื่อ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา ยังมีหลายประเด็นที่ “ปริศนา” และ “ค้างคาใจ” สาธารณชนจำนวนมาก เพราะเหตุการณ์นี้ ทำให้เกิดโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ในรอบหลายปี ส่งผลให้ “แรงงาน” ที่กำลังก่อสร้างต้องเสียชีวิต ได้รับบาดเจ็บ รวมถึงศูนย์หายนับร้อยราย

ในห้วงเวลาดังกล่าว มีเหตุการณ์ “ดราม่า” มากมาย โดยเฉพาะในส่วนของ สตง. ทั้งเอกสารภายในของ“ผู้ว่าฯ สตง.”ที่ต้องการปลอบใจเจ้าหน้าที่ สตง.ดันหลุดออกมาสู่สาธารณะ สร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก รวมถึงสังคมกังขาความจริงใจในการเข้าไปแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ของ สตง. เพราะผ่านมานับสัปดาห์ถึงมีผู้บริหารออกมา “ขอโทษสังคม” ในเรื่องนี้

นอกจากนี้ ยังมีประเด็น “เฟอร์นิเจอร์-ของตกแต่งภายใน” อาคารแห่งดังกล่าว ส่อมีราคาสูงเกินจริง รวมถึงอาจ “ฟุ้งเฟ้อ” กล่าวคือ ในห้องผู้บริหาร มีทั้งเก้าอี้หรู พรมราคาแพง ฯลฯ เป็นต้น 

อย่างไรก็ดี รองผู้ว่าฯ สตง.ออกตัวชี้แจงเรื่องนี้ว่า ผู้ว่าฯ สตง.มีตำแหน่งเทียบเท่ารัฐมนตรี ส่วนรองผู้ว่าฯ สตง.เทียบเท่าอธิบดี จึงออกแบบตามนี้ แต่ที่แพงเป็นห้องรับแขกห้องหนึ่ง จริง ๆ สตง.จะรู้แค่ว่า มาตรวจ จับผิด และเรียกเงินคืนเท่านั้น จะมองภาพแค่นี้ แต่ สตง.ไทย เป็น Governing board ของ 159 ประเทศ ถูกเลือกมาจากฝ่ายเอเชีย ยากที่สุด สตง.ต่างประเทศ แวะเวียนมาที่ สตง.เราประจำ ของแพงไหม ต้องดูว่ามีวัสดุอย่างไร แต่ข้าราชการอย่างพวกตนอยู่ก็นั่งปกติ จะแพงเฉพาะฝ่ายบริหาร ถ้าวันนี้มันแพง ครั้งหน้าเราจะทำให้ไม่แพง จริงๆ รับรองเลย

เงื่อนปมที่ “กรุงเทพธุรกิจ” เคยตรวจสอบและนำเสนอไปแล้วคือ การก่อสร้างอาคาร สตง.แห่งใหม่ดังกล่าว ดำเนินการโดยกิจการร่วมค้า ไอทีดี-ซีอาร์อีซี ระหว่าง “อิตาเลียนไทยฯ” และ“ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10” ที่มี “ทุนจีน” ถือหุ้นใหญ่ 49% 

จากการขยายผลตรวจสอบพบว่า มี “คนไทย” 3 คน ร่วมถือหุ้นและเป็นกรรมการรวมกันอย่างน้อย 14 บริษัท และถูกกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และกระทรวงพาณิชย์ ตรวจสอบว่าส่อเข้าข่ายเป็น “นอมินี” ถือหุ้นแทนหรือไม่ 

นอกจากนี้ “ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10” และเครือข่ายยังกวาดงานรัฐไปแล้วไม่ต่ำกว่า 29 โครงการ รวมวงเงินกว่า 2.2 หมื่นล้านบาท ขณะเดียวกันยังตรวจสอบพบ “บริษัทเครือข่าย” ที่ใช้ชื่อว่า “ไชน่า เรลเวย์” อีกอย่างน้อย 28 บริษัท ทุนจดทะเบียนในไทยกว่า 5.7 พันล้านบาท

โฟกัสที่การก่อสร้างอาคาร สตง.แห่งใหม่ดังกล่าว มีเงื่อนงำที่น่าสนใจถึงสาเหตุที่อาจทำให้เกิด “ตึกถล่ม” ครั้งนี้ นั่นคือการใช้ “เหล็กข้ออ้อย” ที่กระทรวงอุตสาหกรรมเข้าไปตรวจสอบพบว่า มีบางส่วนนำเข้าจาก “ซินเคอหยวน สตีล” ผู้ผลิตเหล็กที่มี “ทุนจีน” ถือหุ้นใหญ่เช่นกัน 

โดยกล่าวหาว่า เหล็กที่ผลิตหรือนำเข้าจากบริษัทแห่งนี้ ส่อไม่ได้มาตรฐาน และบริษัทแห่งนี้อยู่ระหว่างการดำเนินคดี ทั้งด้านภาษีกว่า 200 ล้านบาท และเรื่องมาตรฐานของการผลิตเหล็ก โดยล่าสุด “เอกนัฏ พร้อมพันธุ์” รมว.อุตสาหกรรม สั่งยกเลิก “บีโอไอ” ของบริษัทแห่งนี้แล้ว อย่างไรก็ดีผู้บริหาร “ซินเคอหยวน สตีล” ยังยืนกรานว่า เหล็กที่ผลิตออกมาได้คุณภาพ

สำหรับเงื่อนปมที่น่าสนใจ หลังเกิดเรื่องขึ้นราว 1 สัปดาห์ สตง.จึงเริ่มขยับชี้แจงสังคม โดย 2 รองผู้ว่าฯ สตง. คือสุทธิพงษ์ บุญนิธ และพิมพา วภักดิ์เพชร เข้าไปให้ถ้อยคำ กมธ.กิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน 

ตอนหนึ่งอ้างว่า ในการก่อสร้างอาคารดังกล่าว ไม่รู้ว่ามี“บริษัทจีน”เข้าไปร่วมทุนเพราะมี “อิตาเลียนไทยฯ”ออกหน้าให้ตลอด ซึ่งย้อนแย้งกับคลิปที่ สตง.เคยอัปโหลดไว้บนเฟซบุ๊ก(ต่อมามีการลบไปแล้ว) ซึ่งผู้บริหารของ สตง.(ขณะนั้น)ได้ร่วมแสดงความยินดี และลงนามก่อสร้างอาคารหลังดังกล่าว โดยปรากฏภาพของ“ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10”รวมอยู่ด้วย

นอกจากนี้ ในขั้นตอนการประกวดราคาซึ่ง “กรุงเทพธุรกิจ” เคยนำเสนออย่างละเอียดไปแล้วพบว่า “ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10” และ “อิตาเลียนไทยฯ” รวมถึง “กิจการร่วมค้า ไอทีดี-ซีอาร์อีซี” ได้เข้าร่วมตั้งแต่ขั้นตอนเข้ารับ/ซื้อเอกสาร (ซื้อซอง) ระหว่างวันที่ 23 ก.ค.-17 ส.ค.2563 ต่อมาในชั้นการยื่นเสนอราคา (ยื่นซอง) เมื่อ 25 ส.ค. 2563 มีชื่อของ “กิจการร่วมค้า ไอทีดี-ซีอาร์อีซี” เข้าร่วมด้วย ก่อนจะเสนอราคาต่ำสุด 2,136 ล้านบาท ส่วนเจ้าอื่นอีก 6 รายเสนอราคาระหว่าง 2,392-2,194 ล้านบาท กระทั่ง 15 ก.ย. 2563 ประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าฯ สตง. (ขณะนั้น) ลงนามประกาศผู้ชนะการเสนอราคา

ดังนั้น สตง.ปฏิเสธได้ยากว่าไม่รู้เรื่อง “บริษัทจีน”เข้ามาร่วมประมูลงานอาคาร สตง.ซึ่งใช้งบประมาณ 2,560 ล้านบาท ราคากลาง 2,522,153,000 บาทได้ เพราะ “ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10” และกิจการร่วมค้าแห่งดังกล่าว เข้าร่วมมาตั้งแต่ชั้นต้นคือการ “ซื้อซอง”จนถึง“ยื่นซอง”เคาะราคากันด้วยซ้ำ

นอกจากนี้ รองผู้ว่าฯ สตง.อ้างว่า ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี ขยาย 2 ครั้ง เนื่องจากโควิดและมีการปรับรูปแบบ แต่นี่ 4 ปี เพิ่งได้ 33 % เพราะผู้รับก่อสร้างมีปัญหาเรื่องทุน คณะกรรมการตรวจรับพัสดุ จึงมีมติบอกเลิกสัญญา เมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2568 แล้ว และอยู่ระหว่างการเสนอผู้มีอำนาจดำเนินการ แต่ปรากฏว่ามาเกิดเหตุเสียก่อน

สวนทางกับเอกสารในมติ ครม.โดยเมื่อ 12 ธ.ค.2567 เอกสาร สตง.ลงนามโดย มณเฑียร เจริญผล ผู้ว่าฯ สตง. ทำหนังสือถึง ครม.เพื่อขอเพิ่มวงเงินก่อหนี้ผูกพันรายการค่าควบคุมงานก่อสร้าง อาคาร สตง.แห่งใหม่ หลังดังกล่าว โดยมติ ครม.เมื่อ 11 ก.พ. 2568 อนุมัติตามที่ สตง.เสนอคือ จากยอดเงินเดิม 76.8 ล้านบาท เป็น 84,371,916 บาท

ประเด็นที่น่าสนใจ สตง.เคยของบเพิ่มเพื่อจ่ายค่าควบคุมงานก่อสร้าง ธ.ค.2567 แสดงให้เห็นว่า สตง.ยังไม่มีท่าทีจะยกเลิกสัญญาการก่อสร้างอาคารแห่งดังกล่าว แต่ผ่านไปเดือนเดียวเมื่อ ม.ค.2568 ไฉนจึงเพิ่งดำเนินการเรื่องการสร้างตึกแห่งนี้สร้างล่าช้า และมีมติบอกเลิกสัญญา 

ขณะเดียวกันยังมีประเด็นเรื่องการจ่ายเงิน “ซัปคอนแทค” หลายบริษัท โดยข้อมูลเบื้องต้นพบว่า กิจการร่วมค้าไอทีดี-ซีอาร์อีซี ว่าจ้างผู้รับเหมาช่วงหลายรายในการดำเนินงาน เช่น ในส่วนของการติดตั้งระบบไฟฟ้าภายในว่าจ้าง บริษัท ก้าวพีเค จำกัด (9PK) นอกจากนี้ยังมีการว่าจ้างผู้รับเหมาอีกหลายสิบแห่ง เพื่อเข้ามาร่วมดำเนินการก่อสร้างในส่วนต่าง ๆ ของอาคาร อย่างไรก็ดีประเด็นนี้ยัง “ไม่สะเด็ดน้ำ” เพราะภายหลังมีการหารือกันหลายครั้ง ข้อตกลงเรื่องเงินยังคงไม่เคลียร์ และ “ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10” อ้างว่า ได้จ่ายเงินไปทั้งหมดแล้ว

เงื่อนปมสุดท้ายที่เพิ่งถูกขุดคุ้ยขึ้นมาคือในส่วนของการ “ควบคุมงานก่อสร้าง” (คนละส่วนกับการก่อสร้าง) โดยมีกิจการร่วมค้า PWK (บริษัท พี เอ็น ซิงค์โครไนซ์ จํากัด, บริษัท ว.และสหาย คอนซัลแตนตส์ จํากัด และ บริษัท เคพี คอนซัลแทนส์ แอนด์ แมเนจเม้น จํากัด) เป็นผู้ชนะการเสนอราคา รวมวงเงิน 74,653,000 บาท (ได้รับเพิ่มจากมติ ครม.เมื่อ ก.พ. 2568 เป็นเงิน 84,371,916 บาท)

มีรายงานว่า สมเกียรติ ชูแสงสุข ที่ถูกระบุชื่อเป็น “ผู้ควบคุมงาน” ของกิจการร่วมค้า PWK นั้น ได้เข้าแจ้งความกับตำรวจ โดยยืนยันว่า มิได้เป็นผู้ลงนามในเอกสารให้ปรับแก้การออกแบบอาคาร สตง.แห่งใหม่ดังกล่าว โดยสมเกียรติ อ้างว่า กรณีที่ปรากฏชื่อเป็นผู้ควบคุมงานของบริษัท PKW นั้น ไม่แน่ใจ และจำไม่ได้ว่า อาจจะเอาชื่อไปสมัยประมูลโครงการแรก ๆ แต่โครงการ สตง. ตั้งแต่สร้างมา ไม่เคยเข้าไป และไม่รู้ด้วยว่า มีชื่อตน แล้วมีการปลอมลายเซ็นตนด้วย เพราะลายเซ็นของตนไม่ตรงกับที่อยู่ในแบบ

ล่าสุดองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT ได้เปิดผลสำรวจความเห็นส่วนมากของประชาชนกรณีตึกสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถล่มว่ามาจากการทุจริต และระบุว่างบประมาณก่อสร้างภาครัฐร้อยละ 20-30 อาจหายไปเข้าสู่กระเป๋าคนบางกลุ่ม 

โดยชี้ให้เห็นว่า โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ของภาครัฐ หรือโครงการร่วมลงทุนภาครัฐกับเอกชน เป็นโครงการที่ใช้งบลงทุนสูงเป็นเป้าหมายของคนโกง โดยอาศัยช่องทางตามระเบียบ ดูเผินๆ เหมือนถูกต้องตามระเบียบทุกประการ แต่กลับมีช่องพลิกแพลงให้คอร์รัปชันหลากหลายเทคนิค เช่น การล็อคสเปค เพื่อให้เฉพาะบริษัทบางรายเท่านั้นที่ผ่านคุณสมบัติ การฮั้วประมูล โดยตกลงราคาล่วงหน้า เพื่อให้ผู้ชนะได้งาน ส่วนผู้แพ้ได้ “ค่าตอบแทน” การแบ่งสัญญา ล่วงหน้าตาม “คิว” ผู้รับเหมาที่ต้องได้รับงาน 

รวมถึงการหักหัวคิว หรือเงินทอน ร้อยละ 20-30 ของมูลค่างาน เพื่อจ่ายให้เจ้าหน้าที่หรือผู้มีอำนาจเอื้อประโยชน์ ที่ผ่านมาพบว่า 3 ขั้วอำนาจที่ร่วมมือกันแนบแน่น ทำให้คอร์รัปชันดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคง คือ ข้าราชการ นักการเมือง และนายทุน ข้าราชการที่รู้เห็นแต่เงียบเฉย ก็ถือว่ามีส่วนร่วมเช่นกัน

ทั้งหมดคือ เงื่อนปมล่าสุดภายหลัง สตง.ออกมาชี้แจงแต่ยังไม่เคลียร์ และค้างคาใจสาธารณชนอยู่ในตอนนี้ บทสรุปสุดท้ายผลสอบต่าง ๆ จะออกมารูปแบบใดต้องติดตามกัน