วิพากษ์ข้อจำกัดก.ม.รื้อฟื้นคดีอาญาฯ

วิพากษ์ข้อจำกัดก.ม.รื้อฟื้นคดีอาญาฯ

(รายงาน) วิพากษ์ข้อจำกัด ก.ม.รื้อฟื้นคดีอาญาฯ เมื่อความยุติธรรมของ "แพะ" ช่างตีบตัน

สืบเนื่องจากคดีฆาตกรรมอันลือลั่น 2 คดีในห้วงปีเศษที่ผ่านมา คือ คดีสังหาร นายเอกยุทธ อัญชันบุตร นักธุรกิจและนักเคลื่อนไหวทางการเมืองชื่อดัง เมื่อปี 2556 กับคดีสังหารนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษ 2 คนที่เกาะเต่า อ.เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อเดือน ก.ย.ปีนี้ พบปัญหาในกระบวนการยุติธรรมไทยอย่างน้อย 3 เรื่อง ได้แก่

1.ทั้งสองคดีมีความเหมือนกัน คือ ถูกสังคมตั้งข้อสงสัยว่าตำรวจ "จับแพะ" เช่นเดียวกัน แต่ฝ่ายตำรวจไม่สามารถสร้างความมั่นใจให้กับสังคมได้

2.กระบวนการทำคดีขาดความเชื่อมโยงกับภาคสังคม คล้ายๆ กับว่าตำรวจก็คลี่คลายคดีตามองค์ความรู้และแนวทางของตน โดยที่ภาคสังคมมีส่วนร่วมด้วยน้อยมาก ทั้งๆ ที่ผู้เสียหายจากอาชญากรรมร้ายแรง คือ ผู้คนทั่วไปในสังคมด้วย ไม่เฉพาะผู้เสียหายเท่านั้น

3.กระบวนการกดดันทางสังคมแทบไม่มีผลทำให้ตำรวจหรือกระบวนการยุติธรรมทบทวนวิธีการทำงาน ขณะที่ข้อกฎหมายที่เอื้อต่อการรื้อฟื้นคดีก็มีปัญหา

ด้วยเหตุนี้ แม้จะมี "แพะ" เกิดขึ้นในประเทศไทยมาหลายต่อหลายคดี แต่ก็ดูเหมือนว่าการแสวงหาความยุติธรรมให้กับบุคคลที่ตกเป็น "แพะ" หรือกำลังจะตกเป็น "แพะ" ตีบตันเสียเหลือเกิน

ยิ่งคดีเข้าสู่ศาลแล้ว และศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ยิ่งยากที่จะรื้อฟื้นหรือทบทวน เห็นได้จาก พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ.2526 ที่แม้มีกฎหมายนี้มานานกว่า 20 ปี แต่กลับไม่สามารถใช้บังคับได้จริง

เมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) โดย นายสมชาย หอมลออ ประธานกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านกระบวนการยุติธรรม และประธานอนุกรรมการปฏิรูปกฎหมายด้านการศึกษาการดำเนินคดีที่เป็นธรรม ได้จัดประชุมโครงการสัมมนาเรื่อง "ข้อจำกัดในการบังคับใช้พระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ.2526"

นายสมชาย กล่าวว่ามีข้อจำกัดหลายประการที่ทำให้กฎหมายฉบับนี้ไม่สามารถใช้บังคับได้ ขณะที่ปัญหาการจับกุมผู้ต้องหาผิดตัว เช่น คดีเชอร์รี่แอน (คดีฆาตกรรม น.ส.เชอรี่แอน คันแคน เมื่อปี 2529) ที่เป็นคดีตัวอย่างของการจับกุมผู้ต้องหาผิดตัว ซึ่งคดีในลักษณะดังกล่าวยังไม่ได้รับการแก้ไขเยียวยาในทางกระบวนการ จึงเห็นว่าควรมีการนำกฎหมายดังกล่าวมาทบทวนและแก้ไข

ผศ.ดร.ปกป้อง ศรีสนิท อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า ความผิดพลาดในกระบวนการยุติธรรมนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ และการแก้ไขถูกแบ่งออกเป็นการอุทธรณ์ต่อศาลสูง และการรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ ซึ่งหากจะมีการรื้อฟื้นคดีได้นั้น คดีดังกล่าวต้องถึงที่สุดแล้ว และต้องปรากฏพยานหลักฐานใหม่เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดสำคัญของการรื้อฟื้นคดีอาญาในประเทศไทย เกี่ยวข้องกับทัศนคติที่ขัดแย้งกันระหว่างความศักดิ์สิทธิ์ของคำพิพากษากับความถูกต้องแท้จริงของข้อเท็จจริง

นายเบห์นาม โมฟี่ หรือ นายเบนนี่ อดีตผู้ต้องโทษที่ได้รับผลกระทบจากกระบวนการพิจารณาคดีอาญาที่ผิดพลาด กล่าวถึงคดีของตนว่า ในช่วงที่อยู่ในเรือนจำ มีความพยายามที่จะแสวงหาความเป็นธรรมให้กับตัวเอง จนได้พบกับพยานหลักฐานใหม่ จึงนำไปสู่การยื่นคำร้องขอรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว ซึ่งในเบื้องต้นศาลอุทธรณ์อนุญาตให้มีการรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ แต่ศาลฎีกาตัดสินให้ยกคำร้อง ส่งผลให้เขาจำต้องเป็นนักโทษต่อไป (ปัจจุบันได้รับพระราชทานอภัยโทษ)

นายวสันต์ พานิช ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนของสภาทนายความ อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า มีคดีที่มีปัญหาอยู่เป็นจำนวนมากที่ไม่สามารถเข้าสู่เงื่อนไขของการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ได้ เนื่องจากไม่เข้าเงื่อนไขของการปรากฏพยานหลักฐานใหม่ในคดี จึงมีประเด็นว่าจะทำอย่างไรให้พยานหลักฐานใหม่นั้นสามารถเป็นเครื่องมือในการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ได้จริง และควรมีการกำหนดแนวทางของลักษณะการเป็น "พยานหลักฐานใหม่" ให้มีความชัดเจน

พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า เรื่องข้อมูลและพยานหลักฐานแห่งคดีเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยพิสูจน์ความจริงแห่งคดี จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้พยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งจะต้องมีการพัฒนาระบบนิติวิทยาศาสตร์ให้เป็นไปตามหลักมาตรฐานสากล

ด้าน ตัวแทนผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ความเห็นว่า ควรแก้ไขมาตรา 5 ของ พ.ร.บ.การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ฯ ให้ขยายกว้างมากขึ้น โดยคำนึงถึงความเป็นจริงที่เกิดขึ้น เนื่องจากบทบัญญัติมาตราดังกล่าวเป็นช่องทางและเงื่อนไขของการร้องขอให้รื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่

สำหรับ มาตรา 5 บัญญัติว่า คดีใดที่ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้บุคคลใดต้องรับโทษอาญาในคดีนั้นแล้ว อาจมีการร้องขอให้รื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาพิพากษาใหม่ได้ เมื่อปรากฏว่า

(1) พยานบุคคลซึ่งศาลได้อาศัยเป็นหลักในการพิพากษาคดีอันถึงที่สุดนั้น ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดในภายหลังแสดงว่าคำเบิกความของพยานนั้นเป็นเท็จ หรือไม่ถูกต้องตรงกับความจริง

(2) พยานหลักฐานอื่นนอกจากพยานบุคคลตาม (1) ซึ่งศาลได้อาศัยเป็นหลักในการพิจารณาพิพากษาคดีอันถึงที่สุดนั้น ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดในภายหลังแสดงว่าเป็นพยานหลักฐานปลอมหรือเป็นเท็จ หรือไม่ถูกต้องตรงกับความจริง หรือ

(3) มีพยานหลักฐานใหม่อันชัดแจ้งและสำคัญแก่คดีซึ่งถ้าได้นำมาสืบในคดีอันถึงที่สุดนั้น จะแสดงว่าบุคคลผู้ต้องรับโทษอาญาโดยคำพิพากษาถึงที่สุดนั้นไม่ได้กระทำความผิด

นี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการปลดล็อกเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงความยุติธรรมได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม!