'เสรี'ชงสูตรเลือกตั้งนายกฯโดยตรง

'เสรี'ชงสูตรเลือกตั้งนายกฯโดยตรง

"เสรี"ชงสูตรเลือกตั้งนายกฯโดยตรง เชื่อลดอัตราโกง-ซื้อเสียงได้ ค้านเลือกตั้งตรง

ผู้สื่อข่าวรายงานถึงการเตรียมความพร้อมเพื่อพิจารณาความเห็นและข้อเสนอแนะของ สปช. ที่จะส่งให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. กำหนดวันประชุมในวันที่ 15 - 17 ธ.ค. เวลา 09.30 - 18.00 น. นั้น ล่าสุดได้มีสมาชิก สปช. ได้เตรียมข้อมูลเพื่อนำอภิปรายในหัวข้อที่น่าสนใจแล้ว

โดยนายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธาน กมธ.ปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เปิดเผยว่า นอกจากกมธ.ปฏิรูปกฎหมายฯ จะนำเสนอประเด็นที่เกี่ยวข้องไปยังสปช. แล้วส่วนตัวซึ่งมีความสนใจเกี่ยวกับที่มาของนายกรัฐมนตรี จึงเตรียมเสนอให้เลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรง และใช้ระบบลงคะแนนที่ไม่เป็นวันเดียวกันกับการลงคะแนนเลือกผู้แทนราษฎร ทั้งนี้เพื่อป้องกันการซื้อสิทธิ์ ขายเสียงจากเดิมที่พบการซื้อเสียงของกลุ่มหัวคะแนนจะเลือกซื้อเสียงในลักษณะเลือกส.ส.เขตพ่วงไปกับส.ส.บัญชีรายชื่อ ทำให้การใช้เงินทุจริตเลือกตั้งทำได้อย่างกว้างขวางและอยู่ในปริมาณมาก ดังนั้นเมื่อกำหนดให้เลือกนายกรัฐมนตรีและส.ส.คนละวัน จะเป็นผลผู้ที่ต้องการซื้อเสียงคิดหนักมากขึ้น เนื่องจากต้องใช้เงินทุนสูง และโอกาสการเข้ามามีอำนาจเพื่อถอนทุนคืนนั้นเป็นไปได้ยากขึ้น ส่วนการเลือก ส.ส.เขตนั้นตนมองว่าในจังหวัดที่มีประชากรน้อยที่สุด ต้องมีผู้แทน จำนวน 2 คน เพื่อให้มีส.ส.ซึ่งเป็นตัวแทนประชาชนทุกกลุ่ม เช่น ในจังหวัด ก. ผู้ที่ลงเลือกตั้ง ได้คะแนนเลือกตั้งสูงสุด จำนวน 1 ล้านคะแนน มีผู้ลงเลือกตั้งได้คะแนนรองลงมาคือ 9 แสนคะแนน หากใช้ระบบผู้รับคะแนนสูงสุดได้เป็นส.ส.อาจทำให้ประชาชนกลุ่ม 9 แสนคะแนนไม่มีตัวแทนปากเสียง ดังนั้นเพื่อความเท่าเทียมและเสียงประชาชนไม่ถูกละเลย ควรกำหนดให้ในจังหวัดหรือเขตนั้น ๆ มีผู้แทนได้ 2 คน เป็นต้น ส่วนอายุการดำรงตำแหน่ง มีข้อเสนอให้ นายกฯ ดำรงตำแหน่ง 3 ปี ขณะที่ ส.ส.ดำรงตำแหน่ง 4 ปี ส่วน ส.ส.นั้นจะเสนอให้มาจากการเลือกตั้งเท่านั้น เพราะที่มาจากบัญชีรายชื่อไม่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาให้ประชาชนอย่างแท้จริง

“ส่วนกรณีที่มีคนมองว่าหากให้นายกฯ มาจากการเลือกตั้งแล้ว พระมหากษัตริย์ฐานะประมุขของประเทศจะให้มีบทบาทส่วนใด ผมมองว่าในรัฐธรรมนูญใหม่ สามารถเขียนเป็นบทบัญญัติไว้ได้ว่าให้พระมหากษัตริย์โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งบุคคลที่เป็นนายกฯ ส่วนอำนาจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารและนิติบัญญัตินั้นต้องมีการปรับให้เหมาะสมและสอดคล้องกัน เช่น ฝ่ายนิติบัญญัติไม่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจหรือถอนถอน แต่มีหน้าที่ตรวจสอบการบริหารราชการและนำเสนอนโยบายและแนวทางแก้ปัญหาให้รัฐบาลนำไปปฏิบัติ ดังนั้นหากใช้ระบบใหม่ ฝ่ายนิติบัญญัติจะเหลือเพียง ฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลและฝ่ายตรวจสอบรัฐบาล โดยวิธีนี้เชื่อว่าจะไม่ทำให้การทำงานระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติเป็นปัญหาเหมือนที่ผ่านมา ทั้งนี้ผมไม่เห็นด้วยกับระบบที่เสนอให้มีการเลือกคณะรัฐมนตรีโดยตรง เพราะอาจทำให้เกิดปัญหาตามมาภายหลัง เช่น การเปลี่ยนตัวรัฐมนตรี, การซุกกลุ่มทุนไว้ในบัญชีรายการผู้เหมาะสมเป็นรัฐมนตรี ซึ่งไม่ตอบโจทย์การแก้ปัญหากลุ่มทุนในฝ่ายบริหาร” นายเสรีกล่าว

ด้านนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธาน กมธ.ปฏิรูปการเมือง กล่าวว่า ตนเตรียมเสนอรายงานการศึกษาและข้อเสนอแนะต่อกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ให้ กมธ.วิสามัญติดตามและให้ข้อเสนอแนะการยกร่างรัฐธรมนูญ สปช. ในวันที่ 9 ธ.ค. นี้ โดยหลักการสำคัญที่เป็นที่เห็นชอบคือให้นายกฯ และคณะรัฐมนตรี (ครม.)มาจากการเลือกตั้งตรงและมีคุณสมบัติที่สำคัญ คือ ต้องสังกัดพรรคการเมือง เพื่อให้มีฐานการสนับสนุนในการทำงานในอนาคต ส่วนประเด็นรายละเอียดอื่น ๆ เช่นคุณสมบัติ การดำรงตำแหน่ง ที่ประชุมเตรียมพิจารณาในสัปดาห์หน้า