สมรภูมิทวงคืนผืนป่า จับตา!สงคราม 'คนจน-คสช.'
(รายงาน) สมรภูมิทวงคืนผืนป่า จับตา! สงคราม "คนจน-คสช."
คงไม่มีใครอยากเห็นภาพ “ยายเฒ่า” นั่งร้องไห้มองดูเจ้าหน้าที่ตัดฟันต้นยางพารา ซึ่งปลูกมากับมือ เพราะภาพนั้นมันไม่ได้สร้างผลงาน “เชิงบวก” ให้กับภาครัฐอย่างแน่นอน
ปลายเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา เครือข่ายไทบ้านผู้ไร้สิทธิสกลนคร ร่วมผูกแขนเอิ้นขวัญให้นางจันทรา บังทอง วัย 82 ปี ชาวบ้านหนองแวง อ.วาริชภูมิ จ.สกลนคร ภายหลังถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติภูผาเหล็ก พร้อมด้วยกำลังทหารบุกเข้าตัดฟันต้นยางพาราไปกว่า 2,000 ต้น
ยายจันทรามีสิ่งเดียวที่เป็นความหวังของครอบครัว ก็คือสวนยางแปลงนี้ แต่ก็มาถูกตัดทิ้งไปแบบไม่ทันตั้งตัว “ขอบใจลูกๆหลานๆ ที่ยังเป็นห่วงและมาปลอบขวัญให้กำลังใจ แม้จะมีความรู้สึกเศร้า เจ็บปวด และสะเทือนใจที่มาถูกทหารและป่าไม้ตัดฟันต้นยางทิ้งไปอย่างไร้ความปราณี” ยายจันทราพูดปนสะอื้นไห้
อย่างไรก็ตาม วันที่ 1 มิ.ย.2558 คือวันดีเดย์ในภารกิจ “ทวงคืนผืนป่า” ของ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่พุ่งเป้า “สวนยางพารา” ที่รุกป่าเป็นอันดับแรก โดยตั้งเป้ายึดคืน 6 แสนไร่ ในปี 2558 และอีก 9 แสนไร่ ในปี 2559
ภารกิจทวงคืนผืนป่านั้น เริ่มตั้งแต่มีการยึดอำนาจ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ออกประกาศคำสั่ง คสช.ที่ 64/2557 ว่าด้วยเรื่อง การปราบปรามและการหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ และคำสั่ง คสช.ที่ 66/2557 เรื่อง เพิ่มเติมหน่วยงานสำหรับการปราบปราม หยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้และนโยบายการปฏิบัติงานเป็นการชั่วคราวในสภาวการณ์ปัจจุบัน
พูดง่ายๆ นี่คือแผนแม่บทป่าไม้ในการทวงคืนผืนป่า โดยเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ประสานกับกองทัพภาค เริ่มยึดพื้นที่ที่ถูกบุกรุกคืนมาได้บางส่วน แต่ปัญหาที่พบในการลงพื้นที่คือ ผู้ที่อยู่ในพื้นที่เป็น “คนยากจน” ซึ่งทำให้เกิดเงื่อนไขขึ้นมาว่า ถ้าเอาเขาออกมาแล้ว จะเอาเขาไปไว้ที่ไหน
จึงเป็นจุดเริ่มต้นของนโยบายของ “โครงการนโยบายคณะกรรมการที่ดินแห่งชาติ” (คตช.) คือ หาที่ดินให้ราษฎรที่ไม่มีที่ดินทำกิน
พล.อ.ดาว์พงษ์ ชี้แจงว่า ปัญหาสำคัญที่ทำให้การแก้ปัญหาไม่ประสบความสำเร็จ คือ การเจอกับ “ผู้มีอิทธิพล” ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่กล้าทำงาน และเขาก็เข้ามาแก้ปัญหานี้ทันที
“สิ่งที่เจอในพื้นที่เขาจะเจออิทธิพลในท้องถิ่น และอิทธิพลในทุกระดับ ถึงขนาดระดับชาติลงมา เขาก็เซฟตัวเองดีกว่า หรี่ตาหลับตาดีกว่า มันถึงเกิดปัญหาหมักหมม พอมาถึงรัฐบาลปัจจุบันเราก็ต้องทำให้เจ้าหน้าที่เขามั่นใจในนโยบายของเรา”
การเข้ามาเป็นขวัญและกำลังใจให้ลูกน้องอย่างเต็มที่ ทำให้ผ่าน 7 เดือนไป สามารถยึดพื้นที่คืนได้กว่า 5 หมื่นไร่ ซึ่ง พล.อ.ดาว์พงษ์ มองว่ายังไม่พอต่อการพลิกฟื้นผืนป่าทั่วไทย
บังเอิญว่าเป็นช่วงที่มีปัญหา “ยางราคาตก” และมีคนวิเคราะห์ว่า การบุกรุกป่าทำสวนยางพารากว่า 4 ล้านไร่ ทำให้ยางพาราล้นตลาด พล.อ.ดาว์พงษ์ จึงถือโอกาสจัดการปัญหาสวนยางเป็นวาระพิเศษ
“นายกฯ เลยให้เอาเรื่องจัดการการบุกรุกป่าไม้ และสวนยาง เป็นความเร่งด่วนแรกก่อน และก็จัดการนายทุนซะก่อน ซึ่งมีนายทุนตัวจริงกับที่เอาชาวบ้านเป็นนอมินี เรารู้หมด” พล.อ.ดาว์พงษ์ กล่าว
ในปี 2558 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตั้งเป้าจะยึดพื้นที่คืน 6 แสนไร่ พร้อมทั้งขอกำลังจาก “กองทัพ” จากทุกกองทัพภาค เพื่อนำมาช่วยเจ้าหน้าหน้าที่ป่าไม้ โดยจะปูพรมทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน เป็นต้นไป
ส่วนภารกิจการแก้ปัญหา “ที่ดินทำกิน” รัฐบาลมีพื้นที่เป้าหมายอยู่ 6 พื้นที่ 5 หมื่นกว่าไร่ โดยที่นำร่องไปแล้วก็คือ ที่ ต.แม่ทา อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ และจะเปิดเฟส 2 อีก 5 หมื่นไร่ใน 8 พื้นที่ ซึ่งเรื่องที่ดินนั้น เดิมอย่างที่แม่ทาชาวบ้านจะได้รับเป็น “โฉนดชุมชน” ซึ่งจะเป็นสิทธิรายบุคคล แต่เมื่อรัฐบาลเปลี่ยนนโยบายให้เป็นที่ดินรวม เขาก็ยอมรับได้
เหรียญมีสองด้านฉันใด นโยบายทวงคืนผืนป่าย่อมสองด้านฉันนั้น การดำเนินงานในภาคปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ระดับล่างนั้นได้สร้างความเดือดร้อนให้แก่ “เกษตรกรรายย่อย” ด้วย มิได้แต่การกำจัดอิทธิพลของนายทุนที่บุกรุกป่าเท่านั้น
ด้วยเหตุนี้ ตัวแทนภาคประชาชน จึงเข้าพบ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ และ อำนวย ปะติเส รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 28 พ.ค.ที่ผ่านมา
โดย ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ และตัวแทนชาวสวนยาง ได้นำเสนอเรื่องการชดเชยรายได้ให้เกษตรกรชาวสวนยาง โดยวิธีส่วนต่างของราคา และสรุปผลการประชุมดังนี้
1.ให้สภาเกษตรกรแห่งชาติ ทำหนังสือถึงรัฐบาล เพื่อร่วมมือกับหน่วยงานอื่นของรัฐในการสำรวจ และทำทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ โดยเฉพาะ “เกษตรกรรายย่อย” ที่มีพื้นที่สวนยางต่ำกว่า 25 ไร่ เร่งทำข้อมูลเพื่อลดผลกระทบกับคนจน ซี่งเป็นเกษตรกรชาวสวนรายย่อย ตามคำสั่ง คสช.66/2557 จากนโยบายยึดคืนพื้นที่ป่าด้วยการโค่นยางพารา
ในการนี้ทางสภาเกษตรกรแห่งชาติได้เสนอให้มีชะลอการดำเนินการตามนโยบายนี้ของรัฐบาลไว้ชั่วคราว จนกว่าจะมีการสำรวจข้อมูลแล้วเสร็จ
2.เรื่องการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อย ม.ร.ว.ปรีดิยาธร มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เป็นผู้รับผิดชอบ โดยให้มีการตั้งคณะกรรมการ 7 คน ที่มาจาก ตัวแทนเกษตรกรชาวสวนยาง 2 คน ตัวแทนรัฐบาล 2 คน และนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยอีก 3 คน เพื่อกำหนดราคากลางที่เกษตรกรชาวสวนยางสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้
หลังจากนี้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร จะได้ประสานไปยัง พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรชาติและสิ่งแวดล้อม เกี่ยวกับข้อเสนอดังกล่าวข้างต้น
การดำเนินนโยบายทวงคืนผืนป่าอย่างมิมีการจำแนก ย่อมส่งผลกระทบถึง “คนรากหญ้า” มากกว่า และอาจกลายเป็นประเด็นทางการเมือง หากว่าทาง คสช. เชื่อและฟัง “ป่าไม้สายเหยี่ยว” มากกว่าจะรับฟังเสียงสะท้อนจากชาวบ้าน โอกาสเกิดการเผชิญหน้ากันก็มีสูง โดยเฉพาะพื้นที่ภาคอีสานและภาคใต้
....................................................
เสียงก้องจาก “เทือกเขาภูพาน”
ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันรัฐบาลมีนโยบายทวงคืนผืนป่า ซึ่งพื้นที่ดำเนินการตามนโยบายทวงคืนผืนป่าบางส่วน ซ้อนทับกับที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน ส่งผลให้ชาวบ้านถูกจับกุมดำเนินคดี ไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ ในขณะที่ชาวบ้านมีฐานะยากจนอยู่แล้ว เมื่อถูกดำเนินคดีก็ยิ่งส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของครอบครัวมากยิ่งขึ้น
เลื่อน ศรีสุโพธิ์ เครือข่ายไทบ้านผู้ไร้สิทธิสกลนคร เล่าถึงสถานการณ์ของจังหวัดสกลนครให้ฟังว่า ชาวบ้านใน 16 อำเภอ จากทั้งหมด 18 อำเภอ กำลังประสบปัญหาการประกาศเขตของที่ดินของรัฐทับซ้อนที่อยู่อาศัยที่ดินทำกินที่ป่าชุมชนของชาวบ้าน ทั้งจากการประกาศพื้นที่ป่าสวงนแห่งชาติ 16 แห่ง และเขตอุทยานแห่งชาติ 3 แห่ง ที่ดินสาธารณะ ที่ราชพัสดุ และอื่นๆ
คนเหล่านี้อยู่มาก่อนการประกาศกฏหมายป่าไม้ หรือเมื่อมีการประกาศเสร็จก็ไม่มีการบังคับใช้ตามกฏหมายของเจ้าหน้าที่ มีการผ่อนผันตามนโยบายรัฐกันเรื่อยมา อย่างที่ป่าสงวนป่าดงชมภูพาน-ป่าดงกะเฌอ ประกาศเมื่อปี 2531 ถ้าเจ้าหน้าที่ไปดูคงมีการให้ออกมาตั้งแต่ปีที่มีการประกาศเป็นป่าสงวนแห่งชาติแล้ว
วันที่ 26 พ.ค.ที่ผ่านมา ที่ศาลจังหวัดสกลนคร ตัวแทนชาวบ้านอีสาน ทั้งจากชัยภูมิ ร้อยเอ็ด ยโสธร ศรีสะเกษ ขอนแก่น อุดรธานี และกาฬสินธุ์ ที่ได้รับผลกระทบในที่ดินทำกิน เดินทางมาร่วมให้กำลังใจพี่น้องชาวบ้านจัดระเบียบ ต.หลุบเลา อ.ภูพาน จ.สกลนคร ที่ศาลจังหวัดสกลนคร นัดฟังคำพิพากษาผู้ถูกกล่าวหาบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติป่าดงชมภูพาน-ดงกะเฌอ จำนวน 1 ราย โดยศาลพิพากษาปรับ 35,000 บาท จำคุก 2 ปี จำเลยรับสารภาพ ศาลจึงลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 12 เดือน ปรับ 17,500 บาท พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดี ขณะกระทำผิด จำเลยเป็นเกษตรกร ทำไร่ ไม่ได้รับจ้างนายทุน
อีกทั้งปรากฎข้อเท็จจริงว่า จำเลยได้ออกจากพื้นที่ดังกล่าวก่อนหน้านี้แล้ว และไม่ได้กลับเข้าไปทำกินอีก อีกทั้งหน่วยงานรัฐไม่ประสงค์ให้จำเลยต้องจำคุก ประกอบกับจำเลยไม่มีพฤติกรรมร้ายแรง ไม่เคยต้องคดีอาญามาก่อน โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี
นี่เป็นตัวอย่างของเรื่อง “คนกับป่า” ที่ภาครัฐกับภาคประชาชน ยังมองปัญหากันคนละมุม