เปิดเบื้องหลัง ‘คลัง’ คงสถานะเจ้าหนี้ หวังโหวตแก้แผนคุม ‘การบินไทย’
“การบินไทย” ขู่ฟ้องแพ่งและอาญา มาตรา 157 ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หลัง “นายทะเบียน” ชะลอการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงทุนชำระแล้ว ตามคำร้อง “คลัง” สร้างความเสียหายค่าดอกเบี้ยวันละ 2 ล้านบาท จับตาเอื้อประโยชน์คงสิทธิเป็นเจ้าหนี้โหวตแก้แผนฟื้นฟู
รายงานข่าวจากบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ภายหลังการบินไทยเริ่มกระบวนการปรับโครงสร้างทุน เปิดให้เจ้าหนี้ใช้สิทธิแปลงหนี้ เมื่อระหว่างวันที่ 19-21 พ.ย. 2567 ที่ผ่านมา ได้มีเจ้าหนี้จำนวนมากแสดงเจตนารวมกันเกินกว่า 3 เท่าของจำนวนหุ้นที่มีรองรับตามแผนฟื้นฟูกิจการ สะท้อนถึงความเชื่อมั่นในธุรกิจของการบินไทย โดยเฉพาะในส่วนของกระทรวงการคลังทราบว่ามีการแปลงหนี้ตามสิทธิ 100%
อย่างไรก็ดี ภายหลังกระบวนการแปลงหนี้แล้วเสร็จ เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2567 การบินไทยได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงทุนชำระแล้วของบริษัท อันเกิดจากการแปลงหนี้เป็นทุนของแผนฟื้นฟูกิจการตามที่ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งอนุญาตให้ดำเนินการ แต่ปรากฏว่า ขณะนี้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กระทรวงการคลัง ได้มีหนังสือถึงกรมพัฒนาธุรกิจการค้าขอให้ชะลอการจดทะเบียนจนหลังวันที่ 29 พ.ย. 2567
โดยผลที่ตามมาจากการจดทะเบียนล่าช้า ได้ส่งผลกระทบทางการเงินต่อการบินไทย คือ ค่าดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายให้แก่เจ้าหนี้ วันละ 2 ล้านบาท ซึ่งการบินไทยคงต้องดำเนินการตามกฏหมายกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งคดีอาญาและคดีแพ่งต่อไป เบื้องต้นเตรียมยื่นฟ้องนายทะเบียน พนักงานกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ตามมาตรา 157 ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ อันส่งผลเสียหายแก่บริษัท
“หากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าดำเนินการตามคำขอจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงทุนชำระแล้วของบริษัทแล้วเสร็จ ก็จะมีผลทำให้กระทรวงการคลังไม่เป็นเจ้าหนี้การบินไทย และกลับสู่สถานะการเป็นผู้ถือหุ้น เพราะปัจจุบันกระทรวงการคลังแปลงหนี้ทั้งหมด 100% แล้ว และเมื่อไม่ได้เป็นเจ้าหนี้ก็จะไม่มีสิทธิในการโหวตแก้ไขแผนฟื้นฟูที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันพรุ่งนี้”
อย่างไรก็ดี เชื่อว่าการประชุมเจ้าหนี้ในวันพรุ่งนี้ น่าจะมีการหยิบยกประเด็นการพิจารณาสถานะเจ้าหนี้ของกระทรวงการคลังมาหารือ เพื่อพิจารณาใช้สิทธิการเป็นเจ้าหนี้โหวตแก้ไขแผนฟื้นฟู ซึ่งรวมถึงวาระการเพิ่มผู้บริหารแผน โดยหากที่ประชุมเจ้าหนี้จะหยิบเรื่องนี้มาถกกันก็คงต้องอยู่ที่ดุลพินิจการพิจารณาของเจ้าหนี้ทั้งหมด หรือท้ายที่สุดก็ต้องขึ้นอยู่กับศาลในการพิจารณาตีความการเป็นเจ้าหนี้ของกระทรวงการคลัง
สำหรับการประชุมเจ้าหนี้ในวันที่ 29 พ.ย.นี้ จะมีการพิจารณาโหวตแก้ไขแผนฟื้นฟู 3 เรื่อง ประกอบด้วย
1.วาระขอลดมูลค่าหุ้นที่ตราไว้ (Par Value) เพื่อล้างผลขาดทุนสะสมหลักทรัพย์ที่มีประมาณ 60,000 ล้านบาท
2.วาระขอพิจารณาชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟู โดยการบินไทยจะเสนอชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ก่อนกำหนด เป็นจำนวนเงินไม่น้อยกว่าจำนวนเงินปันผลที่จะมีการเสนอจ่ายให้แก่ผู้ถือหุ้นในครั้งนั้นๆ
3.วาระขอพิจารณาเพิ่มผู้บริหารแผนฟื้นฟู 2 ราย ประกอบด้วย นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่ง และจราจร กระทรวงคมนาคม และนายพลจักร นิ่มวัฒนา รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กระทรวงการคลัง