'จุดแข็ง-จุดอ่อน'การบริหารข่าวของรัฐบาล

'จุดแข็ง-จุดอ่อน'การบริหารข่าวของรัฐบาล

การบริหารจัดการการให้ข้อมูล ข่าวสาร ของรัฐบาล ของ “พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” มีทั้งภาพที่เห็น “จุดแข็ง” และ “จุดอ่อน” ในบางมุม ในบางโอกาส

เพราะอะไรทำไมจึงเขียนเรื่องนี้ นั่นก็เพราะว่ากระผมเองได้ร่วมทำข่าวและเห็นปรากฏการณ์นี้จริงทั้งภาพที่เป็นจุดแข็งและจุดอ่อนในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา และย้อนไปถึงในหลายโอกาสที่ผ่านมาด้วย

“จุดแข็ง” เกิดจากการทำข่าวการแถลงชี้แจงตอบโต้ประเด็นการแก้ปัญหาค้ามนุษย์ ที่มีสื่อต่างชาติบางสำนักนำเสนอข่าวว่าประเทศไทยมีการใช้แรงงานทาสที่โรงงานแกะกุ้ง ย่านมหาชัย ซึ่ง “พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด” ก็นำทีมโฆษกรัฐบาล และเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 6 หน่วยงาน อาทิ กองทัพเรือ กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติฯ มาแถลงชี้แจงที่ทำเนียบรัฐบาล โดยเชิญสื่อต่างชาติมาทำข่าวครั้งนี้ด้วย 

ต่อด้วยการเปิดเวทีแถลงชี้แจงประเด็นการระบายข้าวอันสืบเนื่องจากมานโยบายรับจำนำฯ ที่มีข้าวเสื่อมคุณภาพจำนวนมากที่ต้องระบายข้าวที่ไม่ได้คุณภาพให้กับเอกชนผู้ชนะการประมูเพื่อนำไปใช้ในการอุตสาหกรรม และมีการนำเสนอข่าวจากสื่อบางสำนักที่มีเซอร์เวเยอร์เข้าไปร้องเรียน  ก็มีการเปิดเวทีแถลงชี้แจงทันทีเชิญ 5 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาแถลงชี้แจงเช่นเคย ทั้งองค์การคลังสินค้า กระทรวงพาณิชย์ฯ 

นี่คือความไวและเร็วในการประเมินผลกระทบที่จะมาถึงรัฐบาล เพราะเท่าที่สอบถามผู้ที่ร่วมเวทีทั้ง 2 เวที บอกว่า มีการนัดหมายจากทีมโฆษกรัฐบาลที่ขอความร่วมมือให้เตรียมข้อมูลมาแถลงโดยด่วน เพราะถ้าไม่รีบชี้แจงหรือทิ้งช่วงเวลาในการชี้แจงนานกว่านี้ จะเกิดความบานปลาย เพราะอย่างเช่นการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์และการแก้ปัญหาประมง เป็นเรื่องที่รัฐบาลทำเป็นนโยบายเร่งด่วน และการะบายข้าวก็เป็นผลพวงจากนโยบายรับจำนำข้าว ที่ถูกตั้งข้อสังเกตจากฝ่ายพรรคเพื่อไทย

ซึ่งวิธีการแถลงชี้แจงลักษณะนี้รัฐบาลนี้ใช้อยู่ตลอดเป็นระยะ แม้จะดูจำนวนคนนั่งแถลงว่ามีหลายคนมากความก็ตาม แต่ผลที่ออกมาก็คุ้มและได้ผลระดับที่น่าพอใจ ซึ่งดีกว่าการที่ให้ทีมโฆษกรัฐบาลแถลงเองไปซะทุกเรื่อง

ส่วน “จุดอ่อน” ในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงการให้ข้อมูลน้อยเกินไปหรือไม่เพียงพอ แต่ทว่าเป็นการให้ข้อมูลที่มากเกินไปและทับซ้อนกันเองในบางครั้ง 

อย่างสัปดาห์ที่ผ่านมารัฐบาลจัดงานแถลงผลงานในโอกาสครบรอบการทำงานครบ 1 ปี โดยใช้เวลาในการแถลง 2 วันเต็ม บวกกับการตั้งบูธจัดอีเวนท์ หรือนิทรรศการผลงานหน้าทำเนียบรัฐบาลอีก 3 วันควบคู่กันไป 

ซึ่งรูปแบบการแถลงครั้งนี้ต่างจากการแถลงผลงานในรอบ 3 เดือน และ6เดือน โดยช่วงครบรอบ 3 เดือน ใช้เวลาในการแถลง 1 วันเต็ม รูปแบบการแถลงก็ให้นายกฯแถลงเปิดหัว ใช้เวลาเกือบ 4 ชั่วโมง จากนั้นจึงเป็นคิวของรองนายกฯแต่ละด้านแถลงต่อ 

แต่ผลปรากฏว่า รุ่งขึ้นตามหน้าหนังสือพิมพ์และสื่อทุกแขนง ให้น้ำหนักและโฟกัสไปที่การแถลงของนายกฯมากกว่ารองนายกฯ 5 คน 

จึงปรับการแถลงรอบ 6 เดือนใหม่ ที่ไม่ต้องมานั่งแถลงที่ทำเนียบรัฐบาล แต่ให้รัฐมนตรีแต่ละกระทรวงเปิดแถลงที่กระทรวงของตัวเอง เพื่อไม่ต้องการให้น้ำหนักข่าวมุ่งแต่จะลงข่าวที่นายกฯพูด ดังนั้น ในสัปดาห์เดียวก็แถลงกันครบทุกกระทรวง ส่วนบิ๊กตู่ก็แถลงปิดท้าย ผ่านรายการคืนความสุขฯ เป็นอันจบ 

แต่รอบนี้ เดิมที”บิ๊กตู่”สั่งวางโปรแกรมให้แถลง 3 วัน แบ่งเป็นรองนายกฯ 6 คน แถลงวันละ 2 คน แต่สุดท้ายก่อนวันแถลงจริง1วันมีการ รื้อโปรแกรมกระทันหัน ร่นเหลือแถลง 2 วัน แบ่งเป็นวันแรกให้คิวกับนายกฯและรองนายกฯ6คน แถลงเปิดหัวในภาพรวม วันที่สองให้คิวรัฐมนตรีแต่ละกลุ่มงาน แถลงลงรายละเอียดงานของตัวเองเรียกว่าได้รายละเอียดยิบเกือบทุกโครงการ ของแต่ละกลุ่มงาน

แต่ปรากฏว่านายกฯมีคิวกล่าวปิดการแถลง ก็พูดใช้เวลาไม่น้อย และยิ่งพูดยิ่งมีอารมณ์และยิ่งมีประเด็นเพิ่ม จน “กลบ” ประเด็นผลงานที่รัฐมนตรีแถลงมาทั้งวัน หนำซ้ำช่วงค่ำวันเดียวกันยังมีรายการคืนความสุขฯ ออกอากาศตามปกติ และเนื้อหาในรายการก็มีประเด็นเพิ่มเติมขึ้นมาอีก 

ดังนั้นไม่ต้องแปลกใจที่วันรุ่งขึ้น “ข่าว” ซึ่งมีพื้นที่จำกัด จะเทน้ำหนักให้กับนายกฯแล้วกลบ หรือเบียดพื้นที่ข่าวของรัฐมนตรีที่แถลงผลงานมาทั้งวัน 

นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่พูดกันในทีมประชาสัมพันธ์ของรัฐบาล เพราะทีมงานเขาทราบจุดอ่อนนี้ดี แต่แก้อะไรไม่ได้ ก็เป็นปัญหาที่คล้ายกับเรื่องที่ว่า ทำยังไงให้คนไม่ปิดทีวีหนีตอนรายการคืนความสุขฯออกอากาศ ที่แม้แต่ตัวของ “บิ๊กตู่” เองก็บ่นอยู่บ่อยๆกับเรื่องนี้