'มีชัย' หุ้นส่วน 'คสช.'
(คอลัมน์มอนิเตอร์ร่างรัฐธรรมนูญ) "มีชัย" หุ้นส่วน "คสช."
จากบอกเล่าของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)” ถึงการติดตามการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญว่า แม้ปฏิบัติภารกิจไกลถึงต่างประเทศ แต่รับทราบรายละเอียดทั้งหมด เพราะได้ต่อสายโทรศัพท์พูดคุย เพื่อวางแผนว่าแค่ไหน อย่างไร ที่ปรับแก้ไขได้
สอดคล้องกับคำพูดของ“มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)” ที่บอกว่า “ท่านนายกฯ โอเค” กับที่มาของส.ว.สรรหาชุดแรก250คนในบทเฉพาะกาลที่ “กรธ.” ออกแบบให้ คสช. มีอำนาจเต็มต่อการเลือกคนของตัวเอง ซึ่งไว้ใจได้เข้าไปทำหน้าที่ในสภาสูง โดยบูรณาการอำนาจ คสช. ตั้งแต่ ระดับต้นน้ำ คือ ตั้งกรรมการสรรหา ส.ว. เพื่อกลั่นกรอง และ ระดับปลายน้ำ คือ ตัดสินว่าใครที่อยู่ในบัญชีซึ่งกลั่นกรองแล้วจะได้รับเก้าอี้ส.ว.
ทำให้เห็นภาพที่ชัดเจนว่า แม้ “สถาปนิกออกแบบกติกาบ้านเมือง” จะยกทัพห่างจากศูนย์บัญชาการอำนาจ แต่ไม่สามารถหลีกไกลจากคำสั่งการ จาก “องค์รัฎฐาธิปัตย์” ได้
แม้ก่อนหน้าที่ “มีชัย ฤชุพันธุ์” จะตอบรับเป็นลูกจ้าง คสช. นำทีมสถาปนิกออกแบบบ้านหลังใหม่ พร้อมยืนยันในอาณาเขตของการทำหน้าที่ “ประธาน กรธ.” ที่ต้องมีความอิสระ และปลอดใบสั่ง แต่เมื่อถึงใกล้ถึงวันครบกำหนดส่งมอบบ้านหลังใหม่ เห็นบทบาทที่ชัดเจน คือ การเป็นหุ้นส่วนสำคัญต่อการวางกลไกให้วุฒิสภาเป็นร่างทรงของคสช.
แม้จะวางกรอบให้อยู่ได้เพียง5ปีช่วงระยะเปลี่ยนผ่านทางการเมือง แต่ถือเป็นก้าวย่างสำคัญต่อการโยงสายป่านให้ขั้วอำนาจปัจจุบันทอดยาวไปไกลกว่านั้น
จากคำพูดช่วงหนึ่งของ “ประธาน กรธ.” ต่อประเด็นที่ยอมรับในความผิดพลาดเกี่ยวกับการเขียนตัวเลขเพื่อใช้เป็นเกณฑ์เห็นชอบงดใช้มาตราว่าด้วยการเลือกนายกฯ ในสภาผู้แทนราษฎรตามบัญชีรายชื่อนายกฯ ที่พรรคการเมืองเสนอเพื่อผ่าทางตันแห่งปัญหาว่าด้วยนายกฯ คนนอก ว่า“ที่ประชุมได้คุยกันถึง 2 ตัวเลข คือ “3 ใน 5” กับ “2 ใน 3” จึงทำให้สับสน มือที่พิมพ์ตัวเลขในเอกสารร่างรัฐธรรมนูญจึงต่างจากข้อตกลง เมื่อที่ประชุมเห็นว่าผมพิมพ์ “3 ใน 5” ลงในเอกสาร ก็ไม่กล้าทักท้วงแม้จะผิดจากข้อตกลงคือ “2 ใน 3” เพราะนึกว่าผมเปลี่ยนใจ”
ทำให้เห็นภาพการประชุมกรธ. ได้บางส่วนว่า เมื่อถึงประเด็นทีเด็ดทีขาด “ประธาน กรธ.” จะมีอำนาจสูงสุด เคาะโต๊ะ ตัดสินใจ สำหรับ “ประเด็นทีเด็ดทีขาด” ที่ว่านั้นถูกเปิดเผยจากผู้ที่ทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญ อาทิ ข้อกำหนดให้รัฐทำยุทธศาสตร์ชาติเพื่อเป้าหมายการพัฒนาประเทศระยะยาว, การใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวเพื่อเลือกส.ส.แบบเขต และใช้คะแนนของส.ส.เขตมาแปลงเป็นคะแนนนิยมของพรรคการเมือง และคำนวณเป็นสัดส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมือง, ลักษณะของผู้ที่ไม่มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ที่ยกเนื้อหาการกระทำผิดกฎหมายต่างๆ เทียบเคียงกับคุณสมบัติของกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านมาปรับใช้กับผู้สมัครส.ส. มาบัญญัติ รวมไปถึงเนื้อหาตามคำขอพิเศษ และ ประเด็นที่ คสช. ต้องการอย่างมีนัยสำคัญ เช่น ส.ว.สรรหาทำหน้าที่ช่วงเปลี่ยนผ่าน เป็นต้น
แม้มีบางประเด็นที่แม้จะเปิดสิทธิให้อภิปรายเนื้อหาได้ แต่ถึงที่สุดในเวลาที่เหมาะสม จะถูกเคาะให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่กำหนดไว้แล้ว ทำให้ “กรรมการกรธ.บางคน” ที่ถูกแย้งข้อเสนอระบายความอึดอัดว่า หากเป็นเพื่อนรุ่นเดียวกัน ก็จะเถียงแบบไม่ยอม แต่นี่เป็นเพราะอาจารย์มีชัยเป็นผู้ใหญ่ที่เคารพจึงยอมความตามเหตุผล
ขณะที่ประเด็นอื่นๆ ที่บัญญัติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ ที่ไม่ใช่กลไกทางการเมือง หรือ เป็นประเด็นทีเด็ด ทีขาด “ประธานกรธ.” ได้ปล่อยให้ กรรมการกรธ. ทั้ง20คนหน้าที่ตามประสบการณ์และความรู้แต่ละด้าน พิจารณาบทบัญญัติเพื่อเสริมความรอบด้านและรัดกุมของเนื้อหา รวมถึงให้เป็นไปตามข้อเสนอให้แก้ไขที่ได้รับจากภาคสังคม
อาทิ ประเด็นหมวด6แนวนโยบายแห่งรัฐ ส่วนของการส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนาศิลปวิทยาการ ปรับถ้อยคำให้เกี่ยวโยงถึงการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และศิลปวิทยาการแขนงต่างๆ เพื่อให้สอดรับกับความทันยุค ทันสมัยในอนาคต, ประเด็นการบริหารราชการแผ่นดิน ได้เพิ่มเติมให้ชัดเจนเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลภาครัฐ โดยการออกกฎหมายเพื่อดำเนินการ หลังจากที่มีข้อทักท้วงจากกลุ่มกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน, ประเด็นสิทธิของสตรีที่เพิ่มเติมถ้อยคำที่ให้การดำเนินการใดๆ ของภาครัฐ เช่น จัดงบประมาณฯ ให้เท่าเทียมกับเพศชาย ทั้งนี้ กรธ. ได้คิดไปไกล โดยใช้คำว่า “เพศสภาพ” เพื่อครอบคลุมกับคนทุกเพศในสังคม เป็นต้น
ขณะที่สิทธิของปวงชนชาวไทย ฐานะหุ้นส่วนใหญ่ของประเทศ กับบทบาทภาครัฐ ยังคงสถานะเท่าที่ประชาชนควรมีสิทธิที่ได้รับการบริการ สนับสนุน และพัฒนาจากภาครัฐ แต่ไร้ซึ่งอำนาจในระดับที่จะนำไปต่อรองกับราชการเพื่อให้ดำเนินการตามหลักที่ถูกที่ควรได้ ซึ่งการไม่ปรับแก้ในสาระข้างท้ายนี้ ยังเป็นคำที่ถูกถามว่า เหตุใด กรธ. ถึงเลือกที่จะคลุมเครือเรื่องนี้เอาไว้