'สดศรี' เห็นด้วยกรธ.เกลี่ยกกต.ใหม่
“สดศรี” หนุนกรธ. ยึดเกณฑ์คุณสมบัติ เกลี่ยกกต.ใหม่ สยบปัญหาไม่เป็นเอกภาพ มั่นใจ คนเก่า-ใหม่ ทำงานร่วมกันได้
นางสดศรี สัตยธรรม อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) จะกำหนดในบทเฉพาะกาลของร่างพระราชบัญญัติประกอบ(พ.ร.ป.)รัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้กกต.ที่มีคุณสมบัติไม่ตรงตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่พ้นจากตำแหน่งและให้มีการสรรหาใหม่ ว่า เมื่อรัฐธรรมนูญใหม่ประกาศใช้บังคับแล้ว และในบทเฉพาะกาลของพ.ร.ป.ว่าด้วยกกต. ไม่มีการยกเว้นกกต.ที่คุณสมบัติไม่ตรงตามรัฐธรรมนูญก็ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ หรือพ้นไปโดยทันที ไม่มีอะไรที่โต้แย้งได้ ซึ่งก็คิดว่าแม้จะทำให้กกต.บางคนต้องพ้นไปและมีการสรรหาใหม่เข้ามาเพิ่ม การทำงานร่วมกันระหว่างคนเก่า กับคนใหม่ก็คงไม่มีปัญหา เพราะการทำงานของกกต.เหมือนราชการ มีเจ้าหน้าที่สำนักงานเป็นกำลังหลัก ก็ทำงานต่อไปได้
“คิดว่า กรธ. หรือแม้แต่ในกรรมการกกต.ด้วยกันเอง และพนักงานกกต. ก็อาจจะมองว่าแนวทางดังกล่าวเป็นเรื่องที่ดี เพราะการทำงานของกกต.ที่ผ่านมาก็มีปัญหาเรื่องความเป็นเอกภาพ กรรมการบางท่านก็อาจจะวันแมนโชว์ ดังนั้นถ้ามีการสรรหาคนใหม่เข้ามาก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดี อย่างเรื่องตำแหน่งประธานกกต. ที่ว่าเป็นสัญญาสุภาพบุรษ หากท่านไม่ได้มีปัญหาเรื่องคุณสมบัติยังเป็นกกต.ต่อไปได้ แต่ตำแหน่งประธานก็คงต้องพูดคุยกันใหม่เพราะตามกฎหมายใหม่แล้วผู้ที่ได้รับเลือกเป็นประธานต้องได้รับความเห็นชอบจากกกต.ที่เหลืออีก 6 คน” นางสดศรี กล่าว
นางสดศรี กล่าวต่อว่า หากกรธ.จะใช้หลักเกณฑ์ดังกล่าวกับกกต. ก็ต้องใช้กับกรรมการองค์กรอิสระอื่น ๆ เหมือนกันหมด เพราะไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นการไม่ยุติธรรมกับกกต. เนื่องจากคุณสมบัติของกรรมการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญใหม่นั้นแตกต่างจากรัฐธรรมนูญ 50 มาก และเห็นว่า หากกรธ.ผ่อนปรนเรื่องคุณสมบัติให้กับ ป.ป.ช ก็จะเกิดคำครหาตามมาว่า ที่ใช้หลักเกณฑ์ดังกล่าวกับกกต.เพราะวันข้างหน้าจะมีการเลือกตั้งจึงต้องการให้คนของใครเข้ามาดูแลหรือเปล่า และที่ป.ป.ช.ไม่โดนก็เพราะกรรมการป.ป.ช.เป็นคนของใครหรือเปล่า ซึ่งกรธ.ไม่ควรทำให้เกิดคำถามลักษณะนี้ขึ้นกับสังคม เพราะไม่เป็นผลดีกับกรธ.และรัฐบาลเอง
นางสดศรี กล่าวอีกว่า ตนเห็นด้วยกับแนวคิดกรธ.ที่ยกเลิกกกต.จังหวัด และให้มีคณะผู้ตรวจการเลือกตั้งแทน เพราะที่ผ่านมา การเลือกบุคคลมาเป็นกกต.จังหวัด และการทำงานของกกต.จังหวัดเป็นปัญหามาก โดยในการคัดเลือกก็จะมีเรื่องอิทธิพลของนักการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ถูกมองว่าเป็นคนของนักการเมือง ขณะที่การทำงานกกต.จังหวัดหลายแห่งพบว่าเข้าไปก้าวก่ายการทำงานของพนักงานประจำ ที่พบบ่อยคือมีการเปิดเผยข้อมูลการพิจารณาสำนวนทุจริต เช่นบอกว่า กกต.จังหวัดมีความเห็นเสนอกกต.กลางให้ใบเหลือง ใบแดง ในสำนวนนี้ ทั้งที่สำนวนดังกล่าวกกต.กลางยังไม่ได้มีการพิจารณาเลย แต่เมื่อมีความเห็นออกไปก็เหมือนเป็นการบีบกกต.กลาง
นางสดศรี กล่าวต่อว่า ดังนั้นการเปลี่ยนกกต.จังหวัดมาเป็นคณะผู้ตรวจการเลือกตั้งจึงเป็นเรื่องที่ดี แต่ผู้ที่กกต.จะเลือกและขึ้นบัญชีไว้ก็ต้องเป็นคนที่รอบรู้เรื่องของงานเลือกตั้ง และถ้าใช้รูปแบบดังกล่าวแล้ว ก็เห็นว่าควรยกเลิกกกต.เขตไปด้วยโดยให้ผู้ตรวจการเลือกตั้งทำหน้าที่แทนไปด้วยเลย เพียงแต่กกต.จะต้องมีการออกระเบียบหลักเกณฑ์ต่างๆให้ชัดเจนว่าเขามีอำนาจหน้าที่อย่างไรในการบังคับบัญชา
“สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือในส่วนของการเลือกตั้งท้องถิ่น ที่เมื่อกกต.จังหวัดเปลี่ยนมาเป็นคณะผู้ตรวจการเลือกตั้งแล้วและตามกฎหมายใหม่ที่มีกระแสข่าวออกมาว่าเลือกตั้งระดับชาติ กกต.ดำเนินการ การเลือกตั้งท้องถิ่นมหาดไทยดำเนินการกกต.ควบคุม ถามว่าแล้วคณะผู้ตรวจการเลือกตั้งท้องถิ่น จะอยู่ภายใต้การกำหนดของกกต.หรือไม่หรือกกต.เข้าไปก้าวก่ายได้แค่ไหน ซึ่งเลือกตั้งท้องถิ่นนั้นในแต่ละปีเลือกกันเป็นพันแห่ง ถ้ากฎหมายตัดอำนาจกกต. ก็เท่ากับว่าเป็นการรุกคืบไปสู่การยุบองค์กรกกต.ในอนาคตก็เป็นได้”นางสดศรี กล่าว
ทั้งนี้มีรายงานว่าการพิจารณาร่างพ.ร.ป.กกต.ของกรธ.ในส่วนบทเฉพาะกาลที่เกี่ยวกับสถานะของกกต.ปัจจุบันนั้นเบื้องต้น กรธ.มีแนวคิดว่า ในวาระเริ่มแรกให้คณะกรรมการสรรหาตามมาตรา 203 ของร่างรัฐธรรมนูญใหม่นั้น พิจารณาและวินิจฉัยว่าประธานและกรรมการกกต. ผู้ใดซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งตามพ.ร.ป.กกต. โดยให้แล้วเสร็จนับแต่วันภายใน 15 วันนับแต่วันที่พ.ร.ป.กกต.นี้ใช้บังคับ และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการสรรหาให้เป็นที่สุด จากนั้นให้มีการดำเนินการสรรหาหรือคัดเลือกเพื่อให้ได้มาซึ่งกกต. ตามพ.ร.ป.กกต. นี้ให้ครบ 7คนตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดโดยให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันที่คณะกรรมการสรรหามีคำวินิจฉัย และในระหว่างนี้ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งเท่าที่เหลืออยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ แต่ถ้ามีกกต.ที่เหลืออยู่ไม่ถึงสี่คนให้กระทำได้เฉพาะการที่จำเป็นอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้