มาตรา44ยังบังคับใช้ รอรัฐบาลใหม่ยกเลิก
“วิษณุ-มีชัย” แจงคำสั่งมาตรา 44 ยังมีผลบังคับ ชี้ “ม.44-กม.ราชการในพระองค์-กม.ภาษี” ได้รับยกเว้นไม่ต้องรับฟังความเห็น หากรัฐบาลใหม่จะยกเลิกต้องออกเป็นกม.
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าการทำงานของรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะยังเหมือนเดิม แต่กระทรวงต่างๆ ต้องระมัดระวังในการเสนอกฎหมาย และข้อบังคับการประชุมสภาก็จะเปลี่ยนไป จะต้องปรับพฤติกรรมให้เข้ากับข้อบังคับ และสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี จะต้องปรับเปลี่ยนวิธีการเสนอเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรี
"ต่อไปนี้ต้องระมัดระวังการบังคับใช้กฎหมายมากขึ้น แม้กระทั่งมาตรา 44 ที่ยังมีอยู่ ก็สามารถออกเพิ่มเติมได้ เพียงแต่ว่าเมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ครม. คสช.พ้นไป อำนาจตามมาตรา 44 ก็หมดไป แต่ผลที่เกิดจากการสั่งไว้แล้วจะยังคงอยู่ ถ้าไม่มีการยกเลิกไปก่อนก็เป็นหน้าที่รัฐบาลใหม่มาจัดการ ถ้าเห็นว่าควรเลิกก็ต้องออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) มายกเลิก หรือจะออก พ.ร.บ. ยกเลิกทีเดียวหลายฉบับก็ได้ แต่รัฐบาลนี้จะไม่ออก พ.ร.บ. ยกเลิก ให้รอรัฐบาลใหม่ไปเลย เพราะรัฐบาลนี้สามารถออกคำสั่ง คสช. ยกเลิกคำสั่งเดิมได้ และมีหลายฉบับที่ต้องยกเลิก แต่ยังไม่ทราบจำนวน
เมื่อถามว่าต่อไปนี้การออกคำสั่งตามมาตรา 44 ต้องรับฟังความเห็นประชาชนตาม มาตรา77 ของรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ต้อง แต่สิ่งที่จะยกเว้นออกไป คือการออกพระราชกำหนด การใช้อำนาจตามมาตรา 44 แม้จะเป็นการออกกฎหมาย แต่เป็นได้กำหนดในมาตรา 265 เป็นเอกเทศต่างหาก และอาจจะเหนือกว่า มาตรา 77 ด้วยซ้ำไป
“อย่างการออกกฎหมายเกี่ยวกับราชการในพระองค์ตาม มาตรา 15 ที่ถือว่าพิเศษออกไปจากมาตรา77 ที่ใช้หลักรับฟังความเห็น แต่มาตรา 15 ถ้าเป็นเรื่องราชการในพระองค์ ใช้หลักตามพระราชอัธยาศัย ฉะนั้นจะเปิดรับฟังความเห็นกันเอิกเกริกไม่ได้อยู่แล้ว หรือแม้กระทั่งกฎหมายธรรมดา เกี่ยวกับขึ้นภาษีลดภาษีที่เป็นความลับ จะขึ้นเว็บไซต์เปิดรับฟังความเห็นก็ไม่ได้ ซึ่งมาตรา 265 จะสิ้นสุดลง เมื่อ คสช. พ้นจากตำแหน่ง”
นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวว่า รู้สึกโล่งใจและมีความสุขที่สุดที่รัฐธรรมนูญได้ประกาศใช้ เราทำงานเหนื่อยยากมากเมื่อมีผลสำเร็จก็ดีใจ แม้จะมีบางคนไม่ดีใจกับเราก็ไม่เป็นไร แต่หลังจากนี้ยังมีภาระคือการทำกฎหมายลูกให้เสร็จตามกำหนด
ส่วนการใช้มาตรา 44 ของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่เคยมีอยู่เดิมตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว จะยังคงสามารถใช้ได้ เพราะไม่ได้มีอะไรผิดแปลกไปจากเดิม เมื่อถามว่าหากใช้มาตรา 44 เดิมจะถือว่าเป็นการยกเว้นการใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่บางมาตราหรือไม่ นายมีชัย กล่าวว่า หากจะใช้อำนาจคงต้องระมัดระวังมากขึ้น เพื่อไม่ให้ไปขัดกับหลักการสำคัญของรัฐธรรมนูญ แต่จริงๆ ก็ไม่ได้มีอะไรห้าม และคิดว่าคงไม่ถึงขั้นที่จะเอามาตรา 44 ไปแก้ไขรัฐธรรมนูญ
เมื่อถามว่าที่ผ่านมาหัวหน้า คสช.เคยใช้มาตรา 44 ในบางกรณีที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ เมื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้วจะมีผลอย่างไรหรือไม่ นายมีชัย กล่าวว่าในรัฐธรรมนูญก็เขียนว่าเป็นการกระทำที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว แต่ถ้าอะไรที่มันไปไกลเกินกว่ารัฐธรรมนูญก็ต้องกลับมาดู แต่เข้าใจว่าคงไม่มี เพราะที่ผ่านมาก็ระมัดระวังกันอยู่แล้ว
ส่วนการแก้ไขเนื้อหาในรัฐธรรมนูญมาตรา 5 ว่าด้วยการกำหนดให้วินิจฉัยกรณีปัญหาไปตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย จากเดิมที่กำหนดให้มีกลไกของประมุของค์กรสำคัญทำหน้าที่ดังกล่าว มีความหมายว่าอย่างไร นายมีชัย กล่าวว่า มีความหมายว่ากลับไปเป็นแบบรัฐธรรมนูญ 2550 เพียงแต่ว่าช่องทางไปศาลรัฐธรรมนูญก็เปิดกว้าง
เมื่อถามว่าหากเกิดวิกฤติแบบในอดีตขึ้นมาสามารถส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยผ่านมาตรา 5 ได้ใช่หรือไม่ นายมีชัย กล่าวว่า เมื่อมันไม่มีทางออกถึงจะไปศาลรัฐธรรมนูญ แต่หากมันมีประเพณีอย่างอื่นที่เรายังนึกไม่ออก ถึงตอนนั้นก็อาจจะนึกออกก็ได้ ก็ใช้ไปตามประเพณีการปกครอง
ฝ่ายมั่นคงไม่ปลดล็อกการเมือง
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง กล่าวถึงกรณีพรรคการเมืองเรียกร้องให้ผ่อนปรนพรรคการเมืองทำกิจกรรมหลังรัฐธรรมนูญบังคับใช้ว่า ขณะนี้สถานการณ์ยังไม่เรียบร้อย ในฐานะที่ตนดูแลด้านความมั่นคงขอเวลาทำงานก่อน และอยากให้ทุกฝ่ายช่วยกัน จะมามาตีรวนแบบนี้คงไม่ไหว
เมื่อถามว่าหลังร่างกฎหมายลูกทั้ง 4 ฉบับดำเนินการเสร็จจะผ่อนปรนให้พรรคการเมืองหรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ไม่รู้อนาคต ส่วนความรู้สึกเมื่อมีรัฐธรรมนูญใหม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่าไม่รู้สึกอะไร แต่จะทำเพื่อให้บ้านเมืองสงบ และประชาชนมีความเป็นอยู่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ พร้อมทั้งช่วยลดปัญหาความขัดแย้งของคนในชาติ จนนำไปสู่ความปรองดอง
ส่วนจะยกเลิกคำสั่งหรือประกาศตามมาตรา44 หรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่าไม่มียกเลิก เพราะว่าคำสั่ง และประกาศ ที่ออกมาเป็นถือเป็นกฎหมาย ถ้าจะมีการยกเลิกในอนาคตจะออกเป็นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)
พร้อมจัดเลือกตั้งตามโรดแมพ
นายศุภชัย สมเจริญ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงความพร้อมในการจัดการเลือกตั้งหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ ว่า กกต.ได้เตรียมความพร้อมไว้ตั้งแต่ทราบว่าร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติในทุกด้าน และได้ดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้ง 350 เขตแล้ว จึงไม่ต้องเป็นห่วง ส่วนที่จะให้มีผู้ตรวจการเลือกตั้งแทน กกต.จังหวัดนั้นได้เสนอไปนานแล้ว หากมีการเปลี่ยนแปลงเราก็พร้อมปรับให้เข้ากับกฎหมายที่ออกมา ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ว่าจะพิจารณาอย่างไร
ส่วนการเลือกตั้งท้องถิ่น กฎหมายใหม่ กกต.จะมีหน้าที่เป็นผู้กำกับดูแล ไม่ได้เป็นผู้จัดการเลือกตั้ง หากมีกฎหมายใดออกมาก่อนก็พร้อมจะปฏิบัติตามโรดแมพ โดย กกต.มีหน้าที่ควบคุมดูแลให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความสุจริต และเที่ยงธรรม ส่วนการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นเมื่อใดขึ้นอยู่ว่า กฎหมายลูก 4 ฉบับเสร็จเมื่อใด กกต. จะต้องดำเนินการจัดการเลือกตั้งภายใน 150 วัน
ถกก.ม.ยุทธศาสตร์20-21เม.ย.
นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าในวันที่ 18 เม.ย.นี้ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ จะส่งร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง กับร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง มายังสนช. ซึ่งที่ผ่านมา สนช.ได้เตรียมการศึกษาล่วงหน้าไว้เป็นเวลา 2 เดือนแล้ว เพราะทราบดีว่า มีเวลาจำกัดเพียง 60 วัน เพราะกฎหมายทั้ง 2 ฉบับนี้ เป็นรากฐานสำคัญที่จะนำไปสู่การเลือกตั้งทั่วไป
ส่วนร่าง พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. …. และร่าง พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. …. ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเสนอมายัง สนช.นั้น ร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ จะเข้าสู่วิปสนช. ในวันที่ 18 เม.ย.นี้ เพื่อบรรจุระเบียบวาระ ซึ่งในเบื้องต้นคาดว่าจะพิจารณาในวันที่ 20-21 เม.ย.นี้ ซึ่งตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 กำหนดให้ต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 120 วันหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้