มติยกฟ้องสลายม็อบพันธมิตร 8 ต่อ 1
ทนาย ป.ป.ช. รอคัดคำพิพากษาเต็มยกฟ้องคดีสลายม็อบพธม.ปี 51 คำวินิจฉัยส่วนตนองค์คณะ 9 คน ให้ ป.ป.ช.ตัดสินใจอุทธรณ์หรือไม่มติศาลยกฟ้องไม่เอกฉันท์ 8 ต่อ 1
แหล่งข่าวทีมทนายความ รับมอบอำนาจจาก ป.ป.ช. ยื่นฟ้องคดีสลายม็อบพธม.เปิดเผยภายหลังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษายกฟ้องถึงการจะใช้สิทธิอุทธรณ์คดีตามรัฐธรรมนูญใหม่ ปี 2560 หรือไม่ว่า ในการพิจารณาจะยื่นอุทธรณ์หรือไม่ ต้องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโจทก์ เป็นผู้ตัดสินใจ โดยระหว่างนี้ขอคัดคำพิพากษากลางฉบับเต็มขององค์คณะฯ เพื่อดูรายละเอียดในประเด็นที่ศาลหยิบยกมา ประกอบกับคำวินิจฉัยส่วนตนของผู้พิพากษาองค์คณะทั้ง 9 คนว่าแต่ละท่านพิจารณาพยานหลักฐานอย่างไร เพื่อรวบรวมเสนอให้ ป.ป.ช.ตัดสินใจ
โดยคดีนี้ ป.ป.ช.ได้ยื่นฟ้อง 2 ประเด็นคือการปฏิบัติหน้าที่มิชอบที่สั่งสลายการชุมนุมกระทั่งมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตซึ่งมองว่ารัฐบาลก็ต้องควบคุมดูแลเมื่อมีเหตุบาดเจ็บ-เสียชีวิต และประเด็นละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบที่เมื่อช่วงเช้ารู้แล้วว่ามีผู้บาดเจ็บ-เสียชีวิต ก็ไม่ยับยั้งด้วยวิธีการอื่นใดนอกเหนือการสลายชุมนุมด้วยการยิงแก๊สน้ำตาโดยการไต่สวนก็นำเสนอภาพเหตุการณ์ประกอบการพิจารณา ซึ่งเรื่องเจตนาพิเศษนั้นแม้ไม่ได้จะทำให้เกิดการสูญเสียแต่เมื่อเกิดแล้วก็ต้องระงับยับยั้ง
ส่วนตามรัฐธรรมนูญใหม่ กำหนดให้ยื่นอุทธรณ์ภายใน 30 วันจะทันเวลาหรือไม่ ทนายความของฝ่าย ป.ป.ช. กล่าวว่า ถ้าจะอุทธรณ์ ก็ต้องพยายามดำเนินการในเวลารวดเร็ว แต่ก็จะตรวจสอบดูด้วยว่าจะสามารถขอขยายเวลาจากรัฐธรรมนูญฯ กำหนดได้หรือไม่โดยอิงจากหลักคดีอาญาตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญาที่สามารถยื่นขยายเวลาได้ เรื่องนี้ก็ต้องตีความกฎหมาย
ขณะที่ศาสตราจารย์พิเศษ ภัทรศักดิ์ วรรณแสง ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กล่าวว่า ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญฯ ใหม่ กำหนดเวลายื่นอุทธรณ์ไว้ 30 วัน แต่เรื่องจะขยายอุทธรณ์ได้หรือไม่เวลานี้เมื่อ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองยังไม่ได้ประกาศใช้ ก็ต้องดูจากกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น ประมวลวิธีพิจารณาคดีอาญาที่ใช้ในหลักคดีอาญาทั่วไปและข้อบังคับประธานศาลฎีกาในส่วนเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญฯ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคำพิพากษาขององค์คณะฯ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่พิพากษายกฟ้องในวันนี้ เป็นการลงมติขององค์คณะฯ เสียงข้างมาก 8 ต่อ 1 โดยนายธนสิทธิ์ นิลกำแหง เจ้าของสำนวนและองค์คณะผู้พิพากษาอีก 7 คน เป็นเสียงข้างมาก ส่วนองค์คณะเสียงข้างน้อย คือ นายปริญญา ดีผดุง อย่างไรดีสำหรับคำวินิจฉัยส่วนตัวของผู้พิพากษาแต่ละคน ศาลฎีกาฯจะทยอยลงเผยแพร่ในเว็บไซต์ศาลฎีกาฯ ต่อไป