ปชช.มองผลงาน'ประยุทธ์'ในปีนี้ ประทับใจมาก23%-ไม่ประทับใจ19%
ผลสำรวจ "ประชาชน" มองผลงาน "นายกฯประยุทธ์" ในรอบปีนี้ เผยประทับใจมาก23% ส่วนไม่ประทับใจ19% ส่วนนโยบายที่ประทับใจ อันดับ 1 กว่า 75% ระบุว่า การให้เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “ผลงานที่ประทับใจและไม่ประทับใจในรอบปีที่ผ่านมาของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 13 – 14 ธันวาคม 2560 โดยสอบถามความคิดเห็นจากประชาชนที่มีอายุ 18 ปี ขึ้นไปทั่วประเทศ กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,250 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับผลงานที่ประทับใจและไม่ประทับใจในรอบปีที่ผ่านมาของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาการสำรวจใช้การสุ่มตัวอย่าง ด้วยความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” ด้วยวิธีแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified Random Sampling) โดยแบ่งชั้นภูมิตามภูมิภาค จากนั้นในแต่ละภูมิภาค สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบอย่างง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 95.0 และมีค่าความคลาดเคลื่อนมาตรฐาน (Standard Error: S.E.) ไม่เกิน ร้อยละ 1.4
จากการสำรวจเมื่อถามถึงความประทับใจในการทำงานของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรีในรอบปีที่ผ่านมา พบว่า ประชาชน ร้อยละ 23.68 ระบุว่า ประทับใจมาก ร้อยละ 34.56 ระบุว่า ค่อนข้างประทับใจ ร้อยละ 21.60 ระบุว่า ยังไม่ค่อยประทับใจ ร้อยละ 19.68 ระบุว่า ไม่ประทับใจเลย และร้อยละ 0.48 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
เมื่อถามถึงความประทับใจต่อผลงานในด้านต่าง ๆ ในรอบปีที่ผ่านมาของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มากที่สุด 3 อันดับแรก พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 75.68 ระบุว่า การให้เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด อันดับ 2 ร้อยละ 64.80 ระบุว่าเป็น การทวงคืนผืนป่าและการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน และอันดับ 3 ร้อยละ 62.56 ระบุว่าเป็น การจัดระเบียบสังคม เช่น การจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยบนพื้นที่ทางเท้า การจัดระเบียบรถตู้สาธารณะ วินจักรยานยนต์รับจ้าง การจัดระเบียบชายหาด ตรวจสอบการบุกรุกพื้นที่สาธารณะ
สำหรับผลงานที่ไม่ประทับใจ3 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1 ร้อยละ 58.16 ระบุว่า การแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ ปัญหาปากท้องของประชาชน อันดับ 2 ร้อยละ 47.76 ระบุว่าเป็น การปฏิรูปการเมืองและการเลือกตั้ง และอันดับ 3 ร้อยละ 47.28 ระบุว่าเป็น การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้
เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 8.24 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 25.84 มีภูมิลำเนาอยู่ปริมณฑลและภาคกลาง ร้อยละ 18.64 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 32.88 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 14.40 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ ตัวอย่างร้อยละ 53.44 เป็นเพศชาย ร้อยละ 46.56 เป็นเพศหญิง ตัวอย่าง ร้อยละ 6.24 มีอายุ 18 – 25 ปี ตัวอย่างร้อยละ 15.60 มีอายุ 26 – 35 ปี ร้อยละ 22.56 มีอายุ 36 – 45 ปี ร้อยละ 33.76 มีอายุ 46 –59 ปี ร้อยละ 19.76 มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และร้อยละ 2.08 ไม่ระบุอายุ
ตัวอย่างร้อยละ 90.96 นับถือศาสนาพุทธ ตัวอย่างร้อยละ 4.16 นับถือศาสนาอิสลาม ตัวอย่างร้อยละ 1.12 นับถือศาสนาคริสต์/ฮินดู/ซิกข์/ยิว/ไม่นับถือศาสนาใด ๆ และร้อยละ 3.76 ไม่ระบุศาสนา ตัวอย่างร้อยละ 21.60 ระบุว่าสถานภาพโสด ร้อยละ 67.60 สมรสแล้ว ร้อยละ 6.56 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ และร้อยละ 4.24 ไม่ระบุสถานภาพการสมรส
ตัวอย่างร้อยละ 30.40 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 26.16 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 6.88 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 26.72 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ร้อยละ 5.12 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 4.72 ไม่ระบุการศึกษา ตัวอย่างร้อยละ 10.72 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 12.56 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 20.48 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 18.08 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 15.04 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 16.00 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน ร้อยละ 1.84 เป็นนักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 0.16 เป็นพนักงานองค์กรอิสระที่ไม่แสวงหากำไร และร้อยละ 5.12 ไม่ระบุอาชีพ
ตัวอย่างร้อยละ 12.08 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 25.04 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน ไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 21.20 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001 – 20,000 บาท ร้อยละ 11.60 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001 – 30,000 บาท ร้อยละ 5.60 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001 – 40,000 บาท ร้อยละ 10.08 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนมากกว่า 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 14.40 ไม่ระบุรายได้