กรมคุ้มครองสิทธิฯ ประชุมถกร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตฯ หวังให้มีผลบังคับใช้ปลายปี 61
กรมคุ้มครองสิทธิฯประชุมถกร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตฯ หวังให้มีผลบังคับใช้ปลายปี 61 ขณะที่ผลวิจัยพบคนหัวเก่ายังไม่ยอมรับ มองเป็นกม.ที่ไม่เกิดประโยชน์กับคนส่วนใหญ่ ซึ่งแปรผกผันกับมุมมองของคนรุ่นใหม่
นายเกิดโชค เกษมวงศ์จิตร รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาร่างพ.ร.บ.การจดทะเบียนคู่ชีวิต พ.ศ. ... โดยระบุว่า กระทรวงยุติธรรมมีแนวคิดและยกร่างกฎหมายมาตั้งแต่ปี 2556 ต่อมาคณะกรรมการพัฒนากฎหมายของกรมคุ้มครองสิทธิฯ ได้เห็นชอบในหลักการ แต่มีข้อเสนอให้ศึกษาเปรียบเทียบกฎหมายของต่างประเทศ ระบบการจดทะเบียน ตลอดจนพูดคุยกับองค์กรทางศาสนา ซึ่งอาจจะมีความขัดแย้ง โดยการร่างกฎหมายดังกล่าวเพื่อให้สอดคล้องกับแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของกลุ่มหลากหลายทางเพศ อัตลักษณ์ทางเพศ ที่มีผลบังคับใช้ระหว่างปี 2557-2561 โดยในการประชุมวันนี้จะมีข้อยุติถึงรูปแบบของการกลุ่มบุคคลหลากหลายทางเพศ ซึ่งอาจใช้รูปแบบของประเทศฝรั่งเศส ที่เริ่มต้นจากการเป็นหุ้นส่วนชีวิต ก่อนพัฒนาเป็นการแต่งงาน เพื่อให้สังคมมีเวลาปรับเปลี่ยนเรียนรู้ และทำความเข้าใจก่อนพัฒนาไปสู่การแต่งงานของกลุ่มบุคคลหลากหลายทางเพศ
“แม้ว่าวันนี้สังคมจะยอมรับการมีอยู่ของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ และการใช้ชีวิตคู่ของคนกลุ่มนี้ แต่ในทางกฎหมายยังไม่รับรองสิทธิ์ของคนเหล่านี้ หลังจากนี้คณะกรรมการจะประชุมต่อเนื่อง โดยวางกรอบระยะเวลาให้กฎหมายฉบับนี้ควรจะแล้วเสร็จมีผลบังคับใช้ภายในสิ้นปี 2561 หรือต้นปี 2562” รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิฯกล่าว
ด้านนายวิทิต มันตาภรณ์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ขณะนี้กระแสระหว่างประเทศยังไม่มีความชัดเจนเรื่องการแต่งงานในเพศเดียวกัน ที่ผ่านมาเคยมีคดีขึ้นสู่การพิจารณาของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน สหประชาชาติ ซึ่งมีข้อตัดสินว่าไม่รับจดทะเบียนสมรสให้กับคนเพศเดียวกัน ขณะที่อีกกว่า 50 ประเทศทั่วโลกมีกฎหมายเปิดให้มีการจดทะเบียนคู่ชีวิตหรือการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน เช่น สหรัฐอเมริกา แคนนาดา ออสเตรเลีย และประเทศในโซนยุโรป สำหรับทวีปอเมริกาใต้ ศาลสิทธิมนุษยชนมีคำตัดสินให้รัฐต้องจดทะเบียนสมรสให้กับคนเพศเดียวกัน โดยคำตัดสินดังกล่าวมีผลครอบคลุมทุกประเทศในอเมริกาใต้ ส่วนในทวีปเอเชียยอมให้มีการแต่งงานของคนเพศเดียวกันที่ประเทศไต้หวัน และในบางเมืองของญี่ปุ่น ส่วนไทยและเวียดนามอยู่ระหว่างริเริ่มยกร่างกฎหมายให้มีการจดทะเบียนคู่ชีวิต
นายวิทิต กล่าวอีกว่า แนวโน้มของประเทศไทยมีทิศทางเริ่มต้นด้วยการจดทะเบียนคู่ชีวิตมากกว่าจะก้าวกระโดดไปแก้กฎหมายให้มีการแต่งงานระหว่างคนเพศเดียวกัน ซึ่งการริเริ่มจากการเป็นหุ้นส่วนชีวิตหรือคู่ชีวิต จะไม่มีประเด็นทางศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องมากนัก เพราะไม่ใช่การแต่งงานเพื่อมีบุตร อย่างไรก็ตาม ในการยกร่างกฎหมายควรจะวางแนวทางให้ชัดเจนเพื่อไม่ให้เป็นปัญหาให้หน่วยปฏิบัติต่างๆ ต้องมายื่นตีความ
ด้านนายวรพจน์ เจนสวัสดิชัย นักการทูตชำนาญการพิเศษ กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า กระทรวงต่างประเทศสนับสนุนพ.ร.บ.คู่ชีวิต เพราะในทางปฏิบัติกระทรวงต่างประเทศต้องออกบัตรประจำตัวบุคคลสำคัญ หรือไอดีการ์ดให้กับนักการทูตต่างประเทศที่ถูกส่งมาประจำการในประเทศไทย และที่ผ่านมาหลายคู่ได้จดทะเบียนในลักษณะเดียวกับพ.ร.บ.คู่ชีวิตฯ ที่ประเทศของตนเอง จึงขอให้ทางการไทยรับรองสิทธิ์ของคู่สมรสเพศเดียวกัน พร้อมขอให้ออกไอดีการ์ดให้ แต่ทางการไทยยังไม่มีกฎหมายรองรับชัดเจน กระทรวงต่างประเทศทำได้แค่ออกไอดีการ์ดแบบสมาชิกในครอบครัว ทำให้กรณีดังกล่าวเป็นข้อถกเถียงของชายหญิงที่จดทะเบียนแบบการรับรองความสัมพันธ์ทางกฎหมายที่คล้ายคลึงกับการสมรส (Civil Union Relationship) เมื่อถูกส่งตัวมาประจำประเทศไทยควรจะทำอย่างไร และมีแนวทางปฏิบัติเรื่องสิทธิ์อย่างไร
ขณะที่ผลวิจัยของนายอัครวัฒน์ เลาวัณย์ศิริ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ระบุว่า จากการศึกษาร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตฯ ยังยากต่อการหาข้อยุติเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพสังคมไทย โดยเฉพาะการร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตฯ ให้แยกออกจากกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แม้จะยังไม่ทำให้เกิดปัญหากับสังคมไทย แต่ก็ต้องพิจารณาถึงสังคมส่วนใหญ่ที่จะได้ประโยชน์จากกฎหมายดังกล่าวด้วยหรือไม่ นอกจากนี้ ยังมีปัญหาไม่เหมาะสมทางการเมือง และอาจมีผลกระทบกับสังคมที่ยังมองไม่เห็น อีกทั้งช่วงวัยของบุคคลที่มีอำนาจออกกฎหมายและบังคับใช้กฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชั้นกฤษฎีกาและสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีความคิดเห็นส่วนใหญ่ไปในทิศทางที่ยังไม่ยอมรับกับร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตฯ หรือการจดทะเบียนแต่งงานของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ส่วนข้อเสนอที่ให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ อาจเป็นแนวทางที่สุดโต่งเกินไปในมุมมองของกฤษฎีกา ซึ่งมองว่าการแก้กฎหมายไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่
ผลการวิจัยยังระบุด้วยว่า แม้ประชากรส่วนใหญ่ยังไม่ยอมรับเรื่องการรักกันของกลุ่มหลากหลายทางเพศ แต่ทัศนคติที่ไม่ยอมรับมีความแปรผันกับกลุ่มประชากรรุ่นใหม่ ซึ่งคนกลุ่มเจนวาย (GEN Y) และเจนแซด (GEN Z) จะยอมรับมากขึ้น ดังนั้น การสร้างระบบกฎหมายครอบครัวสำหรับกลุ่มหลากหลายทางเพศควรตั้งอยู่บนแผนยุทธศาสตร์ที่สำคัญ คือกฎหมายต้องก่อประโยชน์ให้กับคนส่วนใหญ่ ขณะที่กลุ่มคนหลากหลายทางเพศก็ได้ประโยชน์ด้วย เนื่องจากคน 2 กลุ่มนี้มีการพึ่งพาอาศัยกัน จึงควรให้กฎหมายคู่ชีวิตประสานประโยชน์ให้เกิดความลงรอยกันในสังคม