ครั้งแรกบุคคลภายนอก 9 คน เสนอตัวลงเลือก ก.ศป. ให้ตุลาการศาลปกครองสูงสุด-ชั้นต้น 227 เลือก 2 คน ร่วมทำงาน ก.ศป.คนในศาล 11 คน ตรวจสอบตุลาการผิดวินัย-ทุจริต-ดูบัญชีโยกย้าย สมัครถึงวันสุดท้ายพรุ่งนี้ 18 ม.ค.
ศาลปกครอง ประกาศรับสมัคร กรรมการตุลาการศาลปกครอง (ก.ศป.) ผู้ทรงคุณวุฒิ สัดส่วนบุคคลภายนอก 2 คน ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 35 วรรคหนึ่ง (3) โดยให้ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด 43 คน และตุลาการในศาลปกครองชั้นต้น (ศาลปกครองกลาง และศาลปกครองภูมิภาคทั่วประเทศ) 184 คน รวมทั้งสิ้น 227 คน เป็นผู้ลงคะแนนเลือกโดยตรงและลับ
ซึ่งกำหนดเปิดรับสมัครดังกล่าว ในวันพรุ่งนี้ ( 18 ม.ค.) จะเป็นวันสุดท้ายแล้ว โดยจะสิ้นสุดเวลารับสมัครในเวลาราชการ 16.30 น. ทั้งนี้นับจากการเปิดรับสมัครที่เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 4 ม.ค.ที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้มีบุคคล เสนอตัวลงสมัครคัดเลือกเป็น ก.ศป.แล้ว 9 คน
ขณะที่การคัดเลือกดังกล่าวจะมี “เลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง” จัดทำบัญชีรายชื่อบุคคลผู้มีสิทธิได้รับเลือก ที่ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติโดยคณะกรรมการดำเนินการเลือกแล้ว พร้อมบัตรลงคะแนน ส่งไปยังตุลาการในศาลปกครองสูงสุด และตุลาการในศาลปกครองชั้นต้น ทำการลงคะแนน ซึ่งกำหนดทยอยส่งหมายเลข-รายชื่อผู้สมัครและบัตรลงคะแนน ให้ตุลาการศาลปกครอง ตั้งแต่วันที่ 20 ก.พ.นี้ และให้ตุลาการลงคะแนนโดยส่งบัตรกลับมาให้นับคะแนนด้วย 3 วิธี คือ 1.การส่งบัตรลงคะแนนด้วยตนเองที่สำนักงานศาลปกครอง ถ.แจ้งวัฒนะ 2.การส่งบัตรลงคะแนนให้ผู้อำนวยการ สำนักงานศาลปกครองภูมิภาคต่างๆ รวบรวมใส่ซองปิดผนึกส่ง สำนักงานศาลปกครอง ถ.แจ้งวัฒนะ 3.ตุลาการศาลปกครอง ส่งบัตรลงคะแนนของตนเองผ่านไปรษณีย์ลงทะเบียน โดยทั้ง 3 วิธีนั้นจะต้องส่งบัตรลงคะแนนกลับมาไม่เกินวันที่ 18 มี.ค.นี้ ภายในเวลา 10.00 น.
โดย “นายประวิตร บุญเทียม” ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด ในฐานะโฆษกศาลปกครอง กล่าวว่า ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ (ฉบับที่ 10) พ.ศ.2561 มาตรา 35 วรรคหนึ่ง (3) บัญญัติให้มี ก.ศป.ผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งจะต้องไม่เป็น หรือเคยเป็นตุลาการในศาลปกครอง จํานวน 2 คน โดยให้รับเลือกจากตุลาการในศาลปกครองสูงสุด และตุลาการในศาลปกครองชั้นต้น ดังนั้น “นายปิยะ ปะตังทา” จึงอาศัยอํานาจ ตามมาตรา 37 พระราชบัญญัติฉบับเดียวกัน ออกประกาศรับสมัครบุคคลเข้ารับการเลือก เป็น ก.ศป ผู้ทรงคุณวุฒิ ดังกล่าว โดย “ก.ศป.” นั้น จะทําหน้าที่พิจารณาเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการตุลาการศาลปกครอง มีอํานาจออกระเบียบและประกาศต่างๆ เพื่อกําหนดหลักเกณฑ์และวิธีการดําเนินการที่เกี่ยวข้องในเรื่องการบริหารงานบุคคล ซึ่งผู้ที่สนใจให้มายื่นใบสมัครด้วยตนเอง ได้เวลาราชการ ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 สํานักงานศาลปกครอง ถ.แจ้งวัฒนะ โดยสามารถดาวน์โหลดใบสมัคร ได้ที่เว็บไซต์ของสํานักงานศาลปกครอง www.admincourt.go.th หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่สายด่วนศาลปกครอง 1355
“โฆษกศาลปกครอง” ยังกล่าวถึงคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครรับการเลือกเป็น ก.ศป.สัดส่วนบุคคลภายนอกว่า จะต้องมีคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้ามที่สําคัญ อาทิ 1.ไม่เป็นหรือเคยเป็นตุลาการในศาลปกครอง 2.มีสัญชาติไทย 3.มีอายุไม่ต่ำกว่า 45 ปี 4.สําเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า 5.ไม่เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ , กกต. , กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน , ผู้ตรวจการแผ่นดิน , ป.ป.ช. , กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือกรรมการในคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมหรือศาลอื่น 6.ไม่เป็นข้าราชการอัยการ , ข้าราชการตํารวจ , ข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรม , ตุลาการศาลทหาร หรือทนายความ 7.ไม่เป็นกรรมการที่ปรึกษา พนักงาน ลูกจ้าง หรือดํารงตําแหน่งใดในรัฐวิสาหกิจ 8.ไม่เป็น ส.ส.- ส.ว. , ข้าราชการการเมือง , สมาชิกสภาท้องถิ่น , ผู้บริหารท้องถิ่น , กรรมการพรรคการเมือง , สมาชิกพรรคการเมือง หรือเจ้าหน้าที่ในพรรคการเมือง 9.ไม่ประกอบอาชีพหรือวิชาชีพอื่นใดอันเป็นการ กระทบกระเทือนถึงการปฏิบัติหน้าที่ในตําแหน่ง ก.ศป.ผู้ทรงคุณวุฒิ 10.ไม่เป็นผู้มีความประพฤติเสื่อมเสียหรือบกพรองในศีลธรรมอันดี ทั้งนี้เป็นต้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ ก.ศป. ดังกล่าว จะมีจำนวนทั้งสิ้น 13 คน ประกอบด้วย 1.ประธานศาลปกครองสูงสุด ที่เป็นประธาน ก.ศป. โดยตำแหน่ง , ก.ศป. ผู้ทรงคุณวุฒิ ชั้นตุลาการศาลปกครองสูงสุด ที่คัดเลือกโดยตุลาการศาลปกครองสูงสุดเอง จำนวน 6 คน , ก.ศป.ผู้ทรงคุณวุฒิชั้นตุลาการศาลปกครองชั้นต้น ที่คัดเลือกโดยศาลปกครองชั้นต้นเอง จำนวน 4 คน , ก.ศป.สัดส่วนบุคคลภายนอก จำนวน 2 คน ซึ่งเดิมให้ ส.ว. เป็นผู้คัดเลือก แต่ภายหลังมีการแก้ไขให้เปิดรับสมัครบุคคลภายนอก โดยให้ตุลาการศาลปกครองสูงสุดและตุลาการศาลปกครองชั้นต้น ลงคะแนนเลือก
โดย ก.ศป. ดังกล่าว ให้อยู่ในตำแหน่งคราวละ 2 ปี โดยอาจได้รับเลือกใหม่ได้อีกแต่จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันได้ไม่เกิน 2 วาระ ซึ่ง ก.ศป.ทีอำนาจหน้าที่พิจารณาคัดเลือกตุลาการในศาลปกครองสูงสุดคนหนึ่ง เป็นประธานศาลปกครองสูงสุด แล้วเสนอชื่อต่อนายกรัฐมนตรี ขอความเห็นชอบต่อวุฒิสภา ภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับการเสนอชื่อ ,การแต่งตั้งและเลื่อนตุลาการในศาลปกครองสูงสุดและตุลาการศาลปกครองชั้นต้นด้วย รวมทั้งการมีมติลงโทษตุลาการศาลปกครองกรณีทุจริตต่อหน้าที่ และกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามที่กำหนดในวินัยแห่งการเป็นตุลาการศาลปกครอง และการมีมติให้ตุลาการศาลปกครองผู้ใดออกจากกราชการตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการหรือกฎหมายว่าด้วยกองทุนบบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ได้ใน กรณีที่ตุลาการนั้นปฏิบัติหน้าที่บกพร่องอย่างร้ายแรงหรือประพฤติตนไม่สมควรตามที่กำหนดใน วินัยแห่งการเป็นตุลาการศาลปกครอง หรือหย่อนความสามารถในอันที่จะปฏิบัติหน้าที่ราชการ หรือเจ็บป่วยไม่อาจปฏิบัติ หน้าที่ราชการได้โดยสม่ำเสมอแต่ไม่ถึงเหตุทุพพลภาพ หรือได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ