นโยบายสังคมสูงวัย 4 พรรค เพิ่มทักษะ-เพิ่มโอกาสทำงาน
สังคมไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุและในการเลือกตั้งครั้งนี้ผู้มีสิทธิลงคะแนนเป็นกลุ่มผู้สูงอายุและผู้ที่ใกล้สูงอายุรวมกันถึง 58% หรือ 29 ล้านคน จากผู้มีสิทธิทั้งสิ้นราว 50 ล้านคน เพราะฉะนั้นนโยบายพรรคการเมืองในเรื่องสังคมสูงวัยจึงสำคัญอย่างยิ่ง
ในเวทีนำเสนอนโยบายรัฐบาลใหม่กับการรับมือสังคมสูงวัย ภาระที่คนรุ่นใหม่ต้องเผชิญ ที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดโดยเครือข่ายสังคมสูงวัย มีผู้แทนจาก 4 พรรคการเมืองใหญ่มาร่วมเวทีเพื่อแสดงนโยบายของแต่ละพรรค ได้แก่ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พรรคเพื่อไทย (พท.) และพรรคอนาคตใหม่ (อนค.)
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ปชป. กล่าวว่า พรรคมีนโยบายที่สำคัญเกี่ยวกับสังคมสูงวัย อาทิ ขยายอายุเกษียณ จูงใจเอกชนในการงานจ้างงานผู้สูงอายุด้วยการลดหย่อนภาษี คูปองในการฝึกทักษะหากผู้สูงอายุต้องการเพิ่มพูนทักษะเข้ามาทำงาน ปีละ 1 ล้านใบ มูลค่าใบละ 3,500 บาท จะต้องให้ประชาชนมีการออมเพื่อรองรับการใช้ชีวิตสูงวัย ด้วยการยกระดับกองทุนการออมแห่งชาติ ส่งเสริมสัจจะออมทรัพย์ของชุมชน บังคับสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมากขึ้น เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเดือนละ 1,000 บาท ผลักดันอารยสถาปัตย์ บังคับทุกหน่วยงานรัฐที่มีอาคารเก่าไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกผู้เคลื่อนไหวลำบาก ต้องปรับปรุงอาคารเหล่านี้ก่อนเสนอของบประมาณ ภาคเอกชนลดหย่อนภาษีเพื่อเป็นแรงจูงใจให้มีการปรับปรุงอาคาร
การดูแลด้านสุขภาพ ต้องทำให้กลไกด้านสุขภาพต่างๆ เช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สมัชชาสุขภาพได้รับการใส่ใจในการขับเคลื่อนเรื่องต่างๆ มากขึ้น เช่น สารพิษ อาหารปลอดภัย เพราะโรคในผู้สูงอายุไม่น้อยเกิดจากพฤติกรรม ให้ท้องถิ่นรับอำนาจในการจัดสร้างบ้านพักคนชราให้เหมาะสม ส่งเสริมธนาคารเวลาที่ทุกคนมีแต้มสะสมในการดูแลผู้สูงอายุช่วงวัยหนุ่มสาวและใช้ได้เมื่อตนเองสูงวัย และเปลี่ยนกฎหมายท้องถิ่นใหม่ โดยเขียนว่าท้องถิ่นห้ามทำอะไรที่เป็นภารกิจโดยตรงของรัฐบาลกลาง เช่น ห้ามมีกองทัพ นอกจากนั้นทำได้หมดรวมทั้งกลไกการดูแลผู้สูงอายุต่างๆ ด้วย จะเป็นพลิกโฉมท้องถิ่น
กอบศักดิ์ ภูตระกูล โฆษกพรรค พปชร. นำเสนอว่า พปชร.ดำเนินการนโยบายผู้สูงวัยที่ตอบโจทย์ 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มทำงานได้ จะขยายอายุเกษียณจาก 60 เป็น 63 ปี ส่งเสริมอุตสาหกรรมใหม่ที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ ต้องมองตรงนี้เป็นโอกาสเมื่อประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยก่อนเพื่อนบ้าน จะทำให้สามารถพัฒนาอุตสาหกรรมด้านนี้ก่อนประเทศอื่น ส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม เพื่อผู้สูงอายุ สร้างงาน 1 ล้านตำแหน่ง เปิดโอกาสหารายได้ใหม่ๆ เช่น ธนาคารต้นไม้ ธนาคารชุมชน สวัสดิการชุมชนโดยขับเคลื่อน พ.ร.บ.สวัสดิการชุมชนเพื่อให้ทุกชุมชนมีสวัสดิการตนเอง กลุ่มผู้สูงอายุดูแลตนเองไม่ได้ ไม่มีงาน ซึ่งคิดเป็น 1 ใน 3 ของผู้สูงอายุ รัฐจะต้องดูแล ให้เบี้ยยังชีพคนละ 1,000 บาทต่อเดือน กรมธรรม์ประกันชีวิต ประกันสุขภาพ ตลาดทุนที่เอื้อให้ผู้สูงอายุนำบ้านมาเป็นสินทรัพย์ให้ผู้สูงอายุใช้จ่าย
นอกจากนี้ สร้างการเข้าถึงของผู้สูงอายุ ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานให้ผู้สูงอายุใช้ชีวิตได้ การได้รับเทคโนโลยีที่เหมาะสม เช่น อุปกรณ์ช่วยฟัง เข้าถึงข้อมูลต่างๆ ในระบบดิจิทัล ผลักดันบ้านสุขใจและคอนโดที่เอื้อผู้สูงอายุ 1 ล้านหลัง และโรงเรียนสูงวัยทำให้สิ่งแวดล้อมมีความสุข สูงวัยอย่างสุขสรรค์ ตั้ง รพ.สูงวัยที่เป็น รพ.เฉพาะทาง ส่งเสริมเทเลเมดิซีน ให้มีนักบริบาลชุมชนโดยให้ อสม.ที่ประสงค์ดูแลผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียงฝึกอบรมให้มีความรู้ที่ถูกต้องโดยได้รับค่าตอบแทน 6,000-9,000 บาท โดยให้ท้องถิ่นรับผิดชอบในส่วนนี้ มีคูปองอุปกรณ์ให้ผู้สูงอายุใช้เลือกซื้อตามความจำเป็นในการดูแลสุขภาพ และดำเนินโครงการเจ็บป่วยฉุกเฉินเข้าไปทุกที่หรือยูเซ็ปต่อไป อีกทั้งส่งเสริมให้เกิดสังคมกตัญญูให้คนวัยทำงานได้ดูแลพ่อแม่ โดยเพิ่มวันลาเพื่อดูแลพ่อแม่อีก 10 วันต่อปี และเพิ่มการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจาก 3 หมื่นบาทเป็น 6 หมื่นบาท หากดูแลทั้งพ่อและแม่ก็ลดหย่อนได้ 1.2 แสนบาท
ธิดารัตน์ ยิ่งเจริญ รองโฆษกพรรค พท. กล่าวว่า พท.จะจัดสรรงบประมาณเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 1,000 บาทต่อเดือน ลดหย่อนภาษีเพื่อจูงใจให้เกิดเถ้าแก่ใหม่ในเอสเอ็มอีหรือสตาร์ทอัพ ตั้งกองทุนคนเปลี่ยนงาน เพิ่มอายุเกษียณ บริหารจัดการกองทุนการออมที่มีอยู่มากมายไม่ให้ซ้ำซ้อน ส่งเสริมอารยสถาปัตย์ ให้ชุมชนมีส่วนร่วม สร้างสมาร์ทซิตี้ และสนับสนุนให้ภาคเอกชนจ้างผู้สูงอายุและให้สิทธิลดหย่อนภาษี สร้าง 30 บาทยุคใหม่ที่ให้ทุกคนมีสุขภาพดีก่อนแก่ ใช้เทคโนโลยีเข้ามาแก้ปัญหาต่างๆ ในระบบสาธารณสุข มีชุมชนจิตอาสาให้คนในชุมชนเข้ามาช่วยดูแลผู้สูงอายุ นอกจากนี้ต้องกระจายอำนาจให้ชุมชนเข้ามาร่วมแก้ปัญหา ผลักดันพื้นที่สาธารณะให้คนทุกวัยมาทำกิจกรรมร่วม
นพ.เอกภพ เพียรพิเศษ ผู้ดูแลนโยบายรัฐสวัสดิการ พรรค อนค. บอกว่า กลุ่มที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจคือคนที่อยู่ในวัยเรียนอายุ 18 ปีในปัจจุบัน จึงต้องเปิดโอกาสให้คนเหล่านี้เข้ามาดำเนินการเศรษฐกิจดิจิทัล โดยต้องเริ่มด้วยการแก้กฎหมายความมั่นคงไซเบอร์ก่อนเพื่อโอกาสให้เกิดธุรกิจใหม่ รวมถึงต้องส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจเอไอ ผู้สูงอายุทุกคนได้รับเบี้ยบำนาญไม่ใช่เบี้ยผู้สูงอายุเท่าเทียมทุกคน 1,800 บาทต่อเดือน พัฒนาระบบการศึกษาพัฒนาคนให้เป็นแรงงานที่มีคุณภาพ สามารถสร้างเศรษฐกิจใหม่ ปรับปรุงขนส่งสาธารณะและมีระบบขนส่งรองไปถึงทุกซอกถนน มีพื้นที่สาธารณะให้ร่วมทำกิจกรรม ด้านสุขภาพต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยลดปัญหารอคิวนาน แออัด และส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่กลับไปอยู่บ้าน ส่งเสริมเกษตรแนวใหม่ให้เกษตรกรสามารถแปรรูปผลผลิตได้เอง เพิ่มมูลค่าและทำให้มีการจ้างงานในชุมชนมากขึ้น