บทพิสูจน์ศรัทธา 'กกต.' วิกฤติสูตรคำนวณปาร์ตี้ลิสต์
สูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ยังคงเป็นปริศนาคาใจว่าตกลงแล้ว คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะยึดสูตรไหนมาคำนวณ เพื่อเฉลี่ย ส.ส.บัญชีรายชื่อ ให้กับพรรคการเมืองที่มีคะแนนถึงเกณฑ์ที่จะได้ ส.ส.พึงมี
แม้ กกต. เชิญ ประพันธ์ นัยโกวิท อดีตคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) มาชี้แจงข้อกฎหมายต่อ “7เสือกกต.” แต่ก็ยังเข้าใจไม่ตรงกันเสียทั้งหมด เพราะยังมีช่องว่างทางกฎหมายที่เปิดทางให้ย้อนศรกลับมาเล่นงาน กกต. ได้ หากยึดสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ โดยยึดเจตนารมณ์ที่ทุกคะแนนเสียงไม่ตกน้ำ
ด้วยการเฉลี่ย ส.ส.บัญชีรายชื่อ ให้กับ พรรคการเมืองเล็ก 12 พรรค ตามที่ “ประพันธ์” ยืนยันว่ามีแค่สูตรนี้สูตรเดียว ตามที่มีการเผยแพร่ลงในเว็บไซต์ของ กรธ. หลัง พ.ร.ป.เลือกตั้งส.ส. มีผลบังคับใช้ โดยให้ กกต. มั่นใจว่าสูตรคำนวณดังกล่าว ถูกนำมาเผยแพร่ในชั้นการพิจารณากฎหมายมาตั้งแต่ต้น
ขณะเดียวกัน พรรคการเมือง-ประชาชน ยังเคลือบแคลงสงสัยว่า สูตรการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่ไม่เอื้อต่อพรรคการเมืองที่ได้ คะแนนป็อปปูล่าโหวต จำนวนมาก อย่าง พรรคอนาคตใหม่ พรรคพลังประชารัฐ เป็นสูตรการคำนวณที่ถูกต้อง
ทำให้ กกต. ยังชั่งใจว่าจะเดินในแนวทางใด เพราะหากจะดำเนินการตามข้อแนะนำของ ประพันธ์-กรธ. ก็จะยากอยู่ เนื่องจากข้อกฎหมายมีความย้อนแย้งกันอยู่
ซึ่งหากตีความตัวบทกฎหมายจะทำให้เกิดความเข้าใจที่ไม่ตรงกับ สูตรคำนวณที่ ประพันธ์-กรธ. ได้มายืนยันกับ กกต. เนื่องจากจะเข้าใจได้ว่า พรรคการเมืองที่จะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ จะต้องมี คะแนนป็อปปูล่าโหวต มากกว่า คะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส. 1 คน หรือต้องได้คะแนน ส.ส.ที่พรรคพึงมี เท่ากับหรือมากกว่า 1.000 เท่านั้น
นอกจากนี้ยังมีกระแสข่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษากฎหมายกกต. ได้มีการโต้แย้งว่า พรรคการเมืองที่ไม่ได้ ส.ส.แบบแบ่งเขต อาจจะไม่ได้รับการจัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ด้วย
ซึ่งอาจจะทำให้มีเพียง 8 พรรคการเมือง จากทั้งหมด 74 พรรคที่ส่งผู้สมัครส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่จะได้รับจัดสรรเก้าอี้ ดังนี้ พรรคพลังประชารัฐ พรรคอนาคตใหม่ พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา พรรคประชาชาติ และพรรครวมพลังประชาชาติไทย
จากนี้ต้องจับตาดูว่า กกต. จะตัดสินใจใช้สูตรคำนวณแบบใด และหากยึดตามข้อกฎหมายทั้งหมด ยังหาข้อสรุปแทบไม่ได้