ชำแหละแถลงการณ์ 'ธนาธร' โอนหุ้นส่อนิติกรรมอำพราง

ชำแหละแถลงการณ์ 'ธนาธร' โอนหุ้นส่อนิติกรรมอำพราง

หลังจากนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2562 ชี้แจงการขายหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ให้แก่นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ เมื่อวันที่ 8 ม.ค. 2562 ไม่ใช่วันที่ 21 มี.ค. 2562 ตามที่มีหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกต

แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ ตั้งข้อสังเกตว่า 1.การระบุว่านางสมพร จ่ายค่าหุ้นเป็นเช็คลงวันที่ 8 ม.ค. 2562 ซึ่งโดยปกติการออกเช็คสามารถออกเช็คลงวันที่ย้อนหลังได้ หากจะให้ลึกซึ้งกระจ่างแจ้ง ก็ควรนำต้นขั้วสมุดเช็คมาให้ตรวจสอบด้วยว่าไม่มีการลงวันที่ย้อนหลัง ซึ่งสามารถตรวจสอบจากต้นขั้วเช็คได้ เพราะมีหมายเลขเช็คเรียงตามลำดับ (Running number)

2.กรณีนางรวิพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ ภรรยาโอนหุ้นให้นางสมพร ในวันที่ 8 ม.ค. 2562 เช่นเดียวกันก็ควรนำตราสารการโอนหุ้นและหลักฐานการชำระเงินค่าหุ้นของนางสมพร มาแสดงด้วย หากมีการชำระเป็นเช็คก็ต้องนำต้นขั้วมาแสดงด้วยเช่นเดียวกัน

3.กรณีวันที่ 14 ม.ค. 2562 นางสมพร โอนหุ้น 675,000 หุ้น หมายเลข 1350001 ถึง 2025000 ให้หลานชาย ชื่อคุณเอ และโอนหุ้น 225000 หุ้น หมายเลข 3150001 ถึง 3375000 ให้หลานชายชื่อคุณบี โดยมีการทำตราสารการโอนถูกต้อง ก็น่าจะแสดงตราสารการโอนหุ้นให้แก่หลานทั้ง 2 มาแสดงด้วย หากหลานทั้ง 2 ยังเป็นผู้เยาว์ก็ต้องนำหนังสือยินยอมให้ทำนิติกรรมด้วย

ทั้งหลานเอ และ หลานบี ชำระค่าหุ้นอย่างไร หากเป็นเงินสดก็ควรต้องแสดงแหล่งเงินว่ามาจากไหน หากชำระด้วยเช็ค ก็ควรนำมาแสดงด้วย

4.การประชุมผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 19 มี.ค. 2562 บริษัทนำความไปจดทะเบียนเปลี่ยน แปลงกรรมการ (มีกรรมการลาออกสองคน) และระบุว่าในการประชุมผู้ถือหุ้นมีเข้าประชุม 4 คน และผู้รับมอบฉันทะ 4 คน เพื่อความแจ่มชัดก็ควรแสดงหนังสือมอบฉันทะด้วย

5.กรณีหลานเอ และ หลานบี วันที่14 มีนาคม 2562 ได้โอนหุ้นที่ได้รับโอนมาจากนางสมพร ให้นางสมพร โดยมีการทำตราสารการโอนหุ้นถูกต้องก็ควรต้องนำตราสารการโอนหุ้นมาแสดงและมีปัญหาว่านางสมพร ชำระค่าหุ้น อย่างไรเป็นเงินสดหรือเป็นเช็คหากเป็นเช็คก็จะต้องมีเลขที่แสดงและเงินที่คุณเอ คุณบีได้รับมาจากนางสมพร เป็นเงินได้พึงประเมินที่คุณเอและคุณบี ต้องมีภาระหน้าที่ในการเสียภาษีด้วย

6.กรณีผู้ถือหุ้นอีก 3 ราย นอกจากหลานก็ได้โอนหุ้นให้นางสมพรทั้งหมดในวันเดียวกันนั้น ก็ต้องนำตราสารการโอน หลักฐานการชำระเงินมาแสดงด้วย และเงินที่ผู้โอนได้รับมาก็เป็นเงินได้พึงประเมินเช่นกัน

7.บรรดาการโอนหุ้นทุกครั้งไม่ว่าลูกโอนให้แม่ แม่โอนให้หลาน หลานโอนกลับให้แม่จะต้องมีการบันทึกลงในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นทุกครั้ง ถ้านำสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นมาแสดงก็คลี่คลายได้

1_13

2_7

3_2

4_2

ขณะที่นักกฎหมายรายหนึ่งตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า การโอนหุ้นดังกล่าวอาจจะเป็นนิติกรรมอำพราง
ประการแรก เมื่อนายธนาธร และนางรวิพรรณ โอนหุ้นให้นางสมพร ตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค. 2562 ทำไมนางสมพร ในฐานะกรรมการ บริษัท จึงไม่ลงสมุดทะเบียนหุ้นบริษัทในวันนั้น หรือทำไมไม่ยื่นจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้น ในช่วงวันที่ 8 ม.ค.2562 ทันที เหตุใดจึงทิ้งระยะกว่า 2 เดือน

ประการที่ 2 นางรวิพรรณ แจ้งลาออกจากกกรรมการเมื่อวันที่ 18 มี.ค. 2562 โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 19 มี.ค. 2562 ทำไมไม่ลาออกจากกรรมการตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค. 2562 ในคราวเดียวกัน

ประการที่ 3 นางรวิพรรณ เป็นภรรยาที่ถูกต้องตามกฎหมาย ถือว่าเป็นบุคคลเดียวกัน แต่ก่อนวันที่ 18 มี.ค. ยังเป็นกรรมการในบริษัทสื่อถือว่า นายธนาธร ขาดคุณสมบัติผู้สมัครหรือไม่

ประการที่ 4 กรณีนางสมพร ทจ่ายเช็คค่าหุ้นให้นายธนาธร 6,750,000 บาท มีการเคลียริ่งหรือไม่ ถ้ามีการเคลียริ่ง เกิดขึ้นวันไหนถ้าตรงกับวันที่ 8 ม.ค.2562 ทุกอย่างก็เคลียร์ แต่ถ้าไม่มีการเคลียริ่ง ก็น่าสงสัยว่าจะเป็นนิติกรรมอำพรางหรือไม่

ส่วนกรณีที่นายธนาธรบอกว่า โอนหุ้นต่อหน้าพยานและทนายโนตารี่พับบลิค ซึ่งโนตารี่ พับบลิค คือการที่เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อ และประทับตรารับรองความถูกต้องของเอกสารว่ามีสาระชอบด้วยกฎหมาย แต่ปัจจุบันไทยยังไม่มีกฎหมายรองรับโนตารีพับลิค
มาถึงตรงนี้ประเด็นจึงไปอยู่ที่ฝ่ายสอบสวนของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ต้องแสวงหาหลักฐานดังที่ว่าจากนายธนาธร และต้องอาศัยอำนาจเรียกมาเป็นพยานระหว่างการไต่สวนและอายัดสมุดทะเบียนหุ้นไว้ด้วย